posttoday

ลอยเคราะห์

06 ตุลาคม 2555

แม้ว่าผมจะแนบแน่นกับเมืองสังขละบุรี เพราะประวัติศาสตร์ชีวิตส่วนหนึ่งของผมผูกติดกับดินแดนแห่งนี้มาก่อน

โดย...จำลอง บุญสอง

แม้ว่าผมจะแนบแน่นกับเมืองสังขละบุรี เพราะประวัติศาสตร์ชีวิตส่วนหนึ่งของผมผูกติดกับดินแดนแห่งนี้มาก่อน แต่ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยไปเที่ยวงานประเพณี “ลอยเคราะห์” ของชาวมอญ (ปัจจุบันเป็นคนไทยเชื้อสายมอญไปแล้ว) เลยสักครั้ง

ที่ไม่ได้ไปก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้ว่าเขามีประเพณีนี้ แม้ระยะหลังจะได้ยินข่าวว่ามี แต่โอกาสที่ไปร่วมงานก็ไม่มี พอไปเห็นก็ไม่คิดว่างานจะยิ่งใหญ่จนสามารถบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินการท่องเที่ยว

งานนี้มีขึ้นใกล้ช่วงวันเพ็ญเดือน 10 หรือก่อนออกพรรษา 1 เดือน เริ่มด้วยชาวมอญในชุมชนวังก๊ะร่วมกันเอาไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่นมาสร้างเรือที่ทำด้วยไม้ไผ่ขึ้น (ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา) หลังจากทำเรือแล้วก็ประดับประดาตัวเรือไม้ไผ่ด้วยกระดาษสีสวย เรือนี้จะตั้งอยู่บนล้อเลื่อนเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนจากหน้าเจดีย์พุทธคยาจำลอง อันเป็นที่ตั้งของเรือไปริมทะเลสาบเหนือเขื่อนเขาแหลมเพื่อลอยเรือในวันสุดท้าย (คือวันจันทร์) ได้

ระหว่างที่ช่างทำเรือประดิษฐ์เรือกันอยู่นั้น บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่มอญทั้งในหมู่บ้านและพม่าผู้มาร่วมงานก็ใส่ผ้าถุงสีน้ำตาลเสื้อขาว พาดสไบสีน้ำตาลไปถือศีลและฟังพระเทศนาโดยไม่กินข้าวเย็น พวกเขานอนอยู่บนศาลาฉันเก่าแก่ที่ทำด้วยไม้ แต่วันนั้นมีคนไปถือศีลมากจนล้น บางคนจึงต้องไปนอนไปอยู่ใต้อาคารฐานเจดีย์พุทธคยาแทน

ลอยเคราะห์

 

ประมาณตี 5 ของวันเสาร์ ชาวมอญที่ไม่ได้ถือศีล 8 ที่ศาลาก็จะไปฟังเทศนาที่หน้าพระเจดีย์พร้อมกับถือศีล 5 หลังจากนั้นก็เอาข้าวสารอาหารแห้งใส่จานไปวางไว้ที่เรือ แต่เรือก็แคบเกินไปกรรมการจึงเอาไปวางไว้ที่ชั้นวางใกล้ๆ ที่ต้องใส่จานก็เพื่อจะได้ใช้ใส่ข้าวกินนั่นเอง ข้าวสารอาหารแห้งที่ใส่เรือเป็นเครื่องสะเดาะเคราะห์ เรือเป็นเสมือนพาหะในการนำข้าวของส่งไปยังเรือลำที่ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากศรีลังกามายังเมืองหงสาวดี (เมืองหลวงของมอญในสมัยนั้น) ที่เจอพายุอยู่กลางทะเลนั่นเอง

หลังจากพิธีตอนเช้าแล้ว พระทั้งวัดก็ออกบิณฑบาตตามสายทางในหมู่บ้าน โดยมีเด็กวัดถือถุงคอยช่วยพระเณรเอาของออกจากบาตรมาด้วย คนใส่บาตรนอกจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่แต่งชุดถือศีลแล้ว สาวมอญก็จะใส่ชุดมอญสีสวยมาใส่บาตรด้วย สมัยก่อนคนมอญที่นี่เป็นเพียงผู้อาศัย ไม่สามารถทำงานทำการอะไรเลี้ยงชีพได้ แต่ตอนหลังพวกเขากลายเป็นคนไทย ทำมาหากินได้ทั้งที่นั่นและที่กรุงเทพฯ หลายคนกลายเป็นแม่ค้าขายของฝากจากพม่า หลายคนขายของใส่บาตร หลายคนมีร้านค้าของตัวเอง ลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ บางคนได้ไปอยู่อเมริกา อยู่สวิตเซอร์แลนด์ อยู่ออสเตรเลีย ในฐานะผู้ลี้ภัยและผู้ทำงานสิทธิมนุษยชนที่อเมริกาและตะวันตกเตรียมการเอาไว้ พวกเขาส่งเงินมาให้คนที่อยู่ข้างหลังเรื่อยๆ ในขณะที่การเตรียมการเปิดเออีซีก็ทำให้คนมอญในพม่าสามารถเข้าออกเมืองไทยได้มากขึ้นโดยไม่ถูกรีดไถ

ลอยเคราะห์

 

ผมไปถ่ายภาพคนถือศีลในศาลาวัดมาให้ดูด้วย ช่วงเวลาเขาก้มกราบราบลงไปกับพื้น ทำให้ผมนึกถึงการละหมาดของคนที่นับถืออิสลามตามมัสยิดต่างๆ ทั่วโลก จากการเดินทางไปเยือนหินยานมาหลายประเทศ ผมเห็นว่าเมียนมาร์นี่แหละคือเมืองหลวงของหินยานจริงๆ

ตอนบ่ายจ่ายเงินค่าเข้าไปเมืองพญาตองซูให้ ตม.ไทยที่ตั้งป้อมเก็บเงินอยู่หน้าเจดีย์สามองค์โดยไม่ได้รับใบเสร็จ เข้าพม่าก็จ่ายเงินให้ด่านพม่าคนละ 30 บาท แล้วก็ไปเยือนวัดเสาร้อยต้น ซึ่งสร้างขึ้นโดยการอำนวยการของหลวงพ่ออุตตมะแห่งวัดวังก์วิเวการาม (แปลว่า วัดวังกะ หรือวัดปลา) ในสมัยสีหะตุระซิทหม่องผู้เข้ามายึดพญาตองซูไปจากมอญ วัดเสาร้อยต้นก็มีพิธีดังกล่าวเช่นเดียวกับที่วัดหลวงพ่ออุตตมะและวัดเสด็จปากทางเข้าสังขละบุรี วัดมอญทั่วไปในเมียนมาร์ก็มีพิธีนี้ทุกวัด เจอเด็กน้อยสองสามคนแต่งชุดถือศีลมาอยู่กับย่าสยายในวัดด้วย ทั้งคู่พูดภาษาไทยปร๋อเพราะเกิดเมืองไทย โตเมืองไทย และรักเมืองไทย ภาษามอญของบรรพบุรุษฟังได้ แต่พูดได้ไม่คล่องแบบเดียวกับลูกจีนในไทย ในอเมริกา

ลึกเข้าไปเกือบถึงวัดลาวด้านทิศตะวันออกติดกับ 7,000 ไร่ ที่นั่นก็มีงานบุญเหมือนกัน แต่เป็นงานบุญของลาวพม่า พญาตองซูสมัยก่อนเล็กนิดเดียว แต่พญาตองซูสมัยนี้กว้างใหญ่จริงๆ

ไปตลาดขายของฝากที่กลางเมืองพญาตองซู วันนั้นตลาดปิดจึงดูเงียบเหงา จะเปิดก็มีเพียงบางร้านเท่านั้น ที่ปิดเพราะคนไปทำบุญที่วัดกันหมด ไม่ว่า ลาว พม่า มอญหรือพม่า ขากลับมาซื้อรองเท้าที่คนไทยไปผลิตอยู่ที่ชายแดนคนละคู่สองคู่ ผมซื้อเสื้อเชิ้ตที่คนญี่ปุ่นมาทำการผลิตที่เจดีย์สามองค์ฝั่งไทย ตัวหนึ่งราคา 600 บาท แพงกว่าที่ซื้อจากเขมรที่ราคาตัวละ 100 กว่าบาท

ลอยเคราะห์

 

เจดีย์สามองค์ฝั่งไทยตอนเช้าๆ มีคนพม่าข้ามมาทำงานในโรงงานกันเป็นร้อยเป็นพันคน ทุกคนถือปิ่นโตกันมาด้วยเพื่อกินกลางวัน ภาพอย่างนี้อีกหน่อยหลังจากเปิดเออีซีแล้วก็คงกลายเป็นประวัติศาสตร์ไป เหมือนที่ผมเคยอยู่ตรงนี้ตอนที่พม่ายกทัพเข้ามายึดกองบัญชาการมอญที่บ่อญี่ปุ่น มันเป็นประวัติศาสตร์เฉพาะตัวที่ผมรับรู้มันอยู่คนเดียว เพราะทุกคนหนีพม่ากันไปหมดทั้งหมู่บ้าน

กลับมารอถ่ายภาพเรือและเจดีย์ตอนโพล้เพล้ แม้ว่าวันนั้นท้องฟ้าจะมืดเพราะมีเมฆมาก แต่ก็ได้ภาพสวยแปลกไปอีกอย่าง ถ่ายภาพแล้วก็กลับมานอนที่ป้อมปี่ ซึ่งเป็นที่พักรับรองของอุทยาน

ตอนเช้ารีบตื่นแต่เช้าเพราะเมื่อวานมัวแต่โอ้เอ้ จึงไม่ได้ภาพทำพิธีสะเดาะเคราะห์ วันนี้งานเขามีตอนสามโมงเช้า แต่ผมก็ตาลีตาเหลือกมาก่อนตั้งแต่ไก่โห่ เด็กๆ ในโรงเรียนแต่งชุดมอญกันมาร่วมงานทั้งโรงเรียน ครูสาวโรงเรียนอนุบาลจูงมือเด็กมาเป็นพวง เด็กๆ เหล่านั้นไม่รู้หรอกว่างานนั้นสำคัญอย่างไร เขาคงรู้ก็แต่เพียงว่าเช้านี้ไม่ต้องเรียน

บอลลูนยักษ์ถูกจุดขึ้นเพื่อลอยเคราะห์ไปสู่อากาศ ผู้คนต่างแย่งกันถือหางที่มีของผูกติดไปด้วย ทำนองขอมีส่วนร่วมในการสงเคราะห์นี้ บอลลูนยักษ์ทำด้วยกระดาษ บางลูกมีรอยรั่วต้องเอากระดาษมาปะชุน เวลาจุดเขาเอาน้ำมันมาชุบ หลังจากน้ำมันก็เอาแท่งเทียนที่ไม่ใช้แล้วผูกติดไปเพื่อเพิ่มอากาศร้อนให้ยาวขึ้น บอลลูนจะได้ไปไกลขึ้น

ลอยเคราะห์

 

หลังจากจุดบอลลูนแล้วก็ทำพิธีแห่เรือลงไปในน้ำ คนเดินถือเชือกร่วมงานด้วยเป็นพันๆ คน กำลังที่สำคัญคือเด็กนักเรียนและคนวัยกลางคน คนแก่ก็ร่วมด้วยเพราะใช้เวลาไม่มาก ขบวนนำด้วยนางรำ ตามด้วยขบวนกลอง งานนี้ถ้าขาดวงดนตรีเสียแล้วงานก็คงเงียบและไม่มีชีวิตชีวา

 

ผมกระโดดขึ้นเรือลากเพื่อถ่ายเรือขณะถูกชักลากลงน้ำ ผู้คนมารอส่งกันมากมาย เจ้าหน้าที่ต้องลากเรือลงมาจากล้อลากโดยใช้เวลานานพอสมควร เรือใหญ่ที่ลากแม้จะมีกำลังมาก แต่เมื่อผิดมุมเรือลอยเคราะห์ก็ไม่เขยื้อน ระหว่างนั้นก็มีคนนำเรือเข้ามารอ นำแพยางมารอ รอกินอ้อยในลำเรือลอยเคราะห์ที่มีผู้คนใส่เอาไว้นั่นเอง

เรือถูกลากมากลางลำน้ำ ผู้คนที่ลอยเรือเข้ามาเทียบก็แย่งกันขึ้นไปเอาอ้อยมาแทะกินเหมือนประเพณีชิงเปรตของปักษ์ใต้ ผมสนุกกับการบรรเลงเพลงของกลองที่เด็กๆ บรรเลงระหว่างพิธี ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เสียดายที่ผมไม่ได้ร่วมงานในสมัยที่บ้านนี้เมืองนี้ยังดิบๆ จึงไม่รู้อารมณ์เปรียบเทียบ

เออ.ถ้าเคราะห์ลอยกันได้จริงผมก็อยากจะลอยเคราะห์ของกรรมกร คนไทยผู้ด้อยโอกาสที่ถูกการเมืองแบบเผด็จการไทยเล่นงานจนย่ำแย่ไปกับ “สายน้ำ” กับเขาด้วย แต่ถ้าผมทำอย่างว่าก็จะไปสวนทางกับพุทธวัจนะที่ให้ “แก้ทุกข์” ด้วยการ “แก้เหตุแห่งทุกข์” ผมเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ ผมจึงไม่ทำพิธี “ลอยเคราะห์” แต่จะลอย “เหตุแห่งทุกข์” แทน

ลอยเคราะห์

ประเพณีการลอยเคราะห์นี้เกิดขึ้นในสมัยหลานของพระเจ้าราชาธิราชแห่งเมืองหงสาวดี ลูกสาวของราชาธิราชถูกยกให้กษัตริย์แห่งเมืองตองอูของพม่าด้วยความจำใจ มีพระ 2 รูปที่นางบวชให้ช่วยให้นางกลับมายังเมืองมอญได้ และนางยกลูกสาวให้คนหนึ่งเป็นภรรยา และให้ครองสมบัติเป็นกษัตริย์มอญชื่อธรรมะเจดีย์ ต่อมากษัตริย์ธรรมะเจดีย์ต้องการให้มีการฟื้นฟูศาสนา (แบบเดียวกับที่ไทยไปเอาลัทธิลังกาวีมา) มีการส่งพระธรรมทูตไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากลังกามายังหงสาวดี แต่เรือนั้นต้องพายุอยู่กลางทะเล คนที่อยู่ข้างหลังจึงทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ด้วยเอาข้าวสารอาหารแห้งไปลอย ลอยให้ไปเป็นอาหารของคนที่อยู่ในทะเล หรือเป็นการให้ทานแก่สิ่งที่มองไม่เห็น ให้สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นเป็นสะพานในการนำอาหารไปให้คนที่ต้องพายุอยู่กลางทะเล แต่ท้ายที่สุดเรือนั้นก็กลับมาได้อย่างปลอดภัย (โดยไม่รู้ว่าโดนพายุหรือไม่ เพราะตำนานไม่ได้บอก)

การลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของมอญคล้ายๆ กับการลอยเรือของชาวเลที่หมู่บ้านสังกาอู้ของชาวเลเมืองกระบี่ ที่นั่นเขาจัดลอยเรือ 2 ครั้ง ใน 1 ปี ระหว่าง 1415 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 หรือเดือน พ.ค. และ ต.ค. วัตถุประสงค์ของการจัดงานก็คือการลอยความเจ็บไข้ได้ป่วยออกไปจากหมู่บ้าน และส่งวิญญาณบรรพบุรุษไปดินแดนดั้งเดิม และส่งวิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าคืนเจ้าของ ในเรือที่ทำด้วยไม้ระกำของชาวเลจะมีไม้แกะสลักตัวแทนสมาชิกของครอบครัว เครื่องใช้และเตา ลอยแล้วต้องวิ่งกลับโดยไม่หันมามอง เพราะเดี๋ยวเคราะห์ร้ายจะคืนกลับมาหา

พิธีไม่ว่ามอญหรือชาวเล ข้อดีอันหนึ่งคือการกระชับความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัว เช่นเดียวกับประเพณีบุญเดือนสิบและสารทเขมร