posttoday

วันที่ก้าว เดือนเก้า

29 กันยายน 2555

หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรเหม่อมองผู้คนเดินขวักไขว่บนถนนแล้วคิดว่า “พวกเขาไม่หนาวกันเหรอ” ซิดนีย์เดือน ก.ย. ไม่มีฝนเหมือนบ้านเรา

โดย...กาญจน์ อายุ

หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรเหม่อมองผู้คนเดินขวักไขว่บนถนนแล้วคิดว่า “พวกเขาไม่หนาวกันเหรอ” ซิดนีย์เดือน ก.ย. ไม่มีฝนเหมือนบ้านเรา ไม่ร้อนเหมือนบ้านเรา แต่กระโชกด้วยลมและความหนาว หญิงสาวผู้นั้นกระชับเสื้อหนาวตัวบางที่พกมาจากเมืองไทย แล้วเดินข้ามถนนตามสัญญาณไฟเขียวของทางเท้า เช่นเดียวกับคนอื่นๆทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย และฝรั่งผมทองที่ระบุชาติได้ยาก พวกเขาต่างสวมเสื้อผ้าสบายๆ ขาสั้น แขนสั้น และดูมีความสุขกับกระแสลมและอุณหภูมิระดับสิบ

วันจ่าย

ซิดนีย์เต็มไปด้วยคนหลายชาติ ที่เห็นจนชินตาต้องเป็น “จีน” คนจีนมาทำงานที่ซิดนีย์หลายอาชีพ ทั้งมัคคุเทศก์ คนขับแท็กซี่ ลูกจ้างตามร้าน และเจ้าของกิจการ มีมากจนรวมตัวกันเป็นไชนาทาวน์เหมือนบ้านเรา ความเป็นไชนาบ่งบอกตามประตูโค้งทรงจีนสีแดง จิตรกรรมฝาผนังลายเมฆเหมือนเรื่องไซอิ๋ว ภาษาจีนที่แว่วเข้าหูตลอดเวลา หรือสินค้า Made in China บนของที่ระลึกออสเตรเลีย

วันที่ก้าว เดือนเก้า

 

ของจีนราคาถูกมีขายใน Paddy’s Markets ที่อยู่ติดกับไชนาทาวน์ เปิดวันพุธถึงวันอาทิตย์ แพดดี้เป็นแหล่งช็อปปิ้งของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวออสเตรเลีย ขายของหลากหลายตั้งแต่ของที่ระลึกจนถึงอาหารสด ต่อราคาได้บ้างแต่อย่าต่อมาก เพราะพ่อค้าแม่ค้าจีนไม่ง้อลูกค้า และเขาดูออกว่าคนไทยชอบต่อราคาแล้วไม่ซื้อ แต่ถึงแม้ว่าราคาขายที่นี่จะถูกกว่าที่อื่น คุณภาพสินค้าก็ด้อยกว่าที่อื่นเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องทำใจถ้าพวงกุญแจโคอาลาที่เพิ่งซื้อมาจะหลุดจากพวงก่อนถึงโรงแรม และสำหรับคนไทยที่จะคูณค่าเงินให้เป็นเงินบาทแล้ว มักคิดว่าสินค้ายังราคาแพงอยู่ ขอแจ้งให้ทราบว่าราคาที่แพดดี้ถูกที่สุดในย่านซิดนีย์แล้ว ดังนั้น คนไทยจึงต้องทำใจกับค่าครองชีพที่สูงและค่าเงินที่ต่างกันอย่างรุนแรงที่ 33 บาทไทยแลกได้เพียง 1 เหรียญออสเตรเลียเท่านั้น

ซิดนีย์คึกคักทั้งวันไม่ว่าจะที่ไชนาทาวน์ หรือที่ไหนๆ เพราะคนส่วนมากใช้วิธีการเดิน ปั่นจักรยาน และเล่นสเกตบอร์ด ซึ่งบ้านเมืองเขาก็สนับสนุนให้คนทำแบบนั้นด้วย เห็นได้จากไฟแดงทุกที่จะมีปุ่มให้กดเพื่อรอสัญญาณไฟข้ามถนน เสาเกือบทุกต้นมีเหล็กทรงกลมให้ล็อกรถจักรยาน และถนนบางสายมี Bike Lane ให้สิงห์นักปั่นโดยเฉพาะ อีกทั้งบรรยากาศก็น่าเดิน หนึ่ง เพราะอากาศหนาว เวลาเดินกับคนข้างๆ ก็หาเรื่องจับมือกันได้ สอง เพราะบ้านเมืองสวย สถาปัตยกรรมตะวันตกโบราณยังมีให้เห็นตลอดทาง สาม เพราะร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่คอยให้ร่มเงาเมื่อแสงอาทิตย์สาดพื้น และสี่ เพราะสะอาด ไม่ต้องเดินมองพื้นเพื่อหลบอุจจาระสุนัข หรือคอยหลบหลุมบาดาลที่อาจมีน้ำโสโครกพุ่งขึ้นมาไม่รู้ตัว

วันวิ่ง

หญิงสาวหยุดก้มผูกเชือกรองเท้าผ้าใบให้เข้าที่ แล้วเริ่มก้าวต่อไปอย่างไม่เสียจังหวะ เธอกำลังวอร์มกล้ามเนื้อขาหลังจากที่ไม่ใช้งานมานาน เพื่อให้มันต่อสู้กับกล้ามเนื้อขาอีกหลายมัดในวันพรุ่งนี้

ศึกกล้ามเนื้อขา “Blackmores Sydney Running Festival 2012” เกิดขึ้นทุกเดือน ก.ย.ของทุกปี ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 12 แล้ว มันเป็นวันที่หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรและคนออสเตรเลียรอคอย วันที่สะพานซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์ จะเต็มไปด้วยคนใส่รองเท้าผ้าใบ

วันที่ก้าว เดือนเก้า

 

เธอลงทะเบียนแข่งในประเภทแฟมิลีฟันรัน ระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยที่ไม่มีครอบครัววิ่งด้วย ซึ่งเป็นประเภทเหนื่อยน้อยสุด ต่างจากคนอื่นอีกประมาณหมื่นคนที่ลงแข่งในประเภทมาราธอน 42.2 กิโลเมตร ฮาร์ฟ มาราธอน 21.1 กิโลเมตร และบริดจ์รัน 9 กิโลเมตร

เช้าตรู่ของวันแข่งขันอากาศยามเช้าเล่นเอาหญิงสาวตัวสั่น “นี่มันลมบนภูชี้ฟ้าเดือน ม.ค.ชัดๆ” เธอบอกตัวเองเบาๆ ขณะรูดซิบแจ็กเกตจนถึงคอหอย แล้วเอามือทั้งสองข้างยัดลงกระเป๋ากางเกงเดินไปยังจุดสตาร์ตที่สะพานซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์

“นี่มันมดชัดๆ” เธอสบถออกมาเมื่อเห็นคนจำนวนคนที่มาวิ่ง ถึงแม้หญิงสาวจะเคยดูการแข่งขันวิ่งมาราธอนในทีวีมาบ้าง แต่เธอก็ไม่คิดว่าของจริงจะมากมายขนาดนี้ ทั้งลูกเล็กเด็กแดง ผมขาวพกไม้เท้า หรือวัยรุ่นวัยคะนอง ต่างขยับแข้งขยับขาเตรียมพร้อมวิ่งเมื่อปล่อยตัว

ในประเภทแฟมิลีฟันรันที่เธอเลือกมีความพิเศษมากกว่าประเภทอื่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยเห็นในทีวี สะพานซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์ กลายเป็นทางเท้าย่านชุมชนที่เต็มไปด้วย หนึ่ง รถเข็นเด็ก สอง เด็ก สาม พ่อ แม่ สี่ ผู้สูงอายุ ทำให้หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรดูเหมือนเป็นแม่ใครสักคนที่ลูกวิ่งนำไปแล้ว มันคือการวิ่ง “Family” “Fun” “Run” ขนานแท้

“อีกไกลไหม แดดดี๊” เด็กน้อยผมทองเงยหน้าถาม “ไม่ไกล ลูกรัก” เขาตอบ “แต่หนูเหนื่อยแล้ว” ลูกยังคงไม่ยอม คนเป็นพ่อจึงย่อเข่าและใช้ไม้ตาย “ลูกเห็นคนที่อยู่ข้างหน้าเราไหม พวกเขาจะไปถึงเส้นชัยก่อนเรา”

วันที่ก้าว เดือนเก้า

 

หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรไม่แปลกใจแม้แต่นิดว่าทำไมคนที่นี่ชอบเดิน แตกต่างจากเธอที่ยอมเสียเงิน 35 บาท เพื่อเข้าซอย

ตลอดเส้นทาง 4 กิโลเมตร เธอเห็นเหล่านางฟ้าโบยบินบนบ่าปะปนกับเหล่าจิงโจ้น้อยกระโดดไปมา มันทำให้เส้นชัยไม่ใช่เป้าหมาย แต่ระหว่างทางต่างหากที่ทำให้การวิ่งครั้งนี้สัมฤทธิผล และนอกจากคนแล้ว วิวสองข้างทางก็ทำให้การวิ่งครั้งนี้มีความหมายมากขึ้น เพราะมันสามารถอธิบายประเทศออสเตรเลียได้พอสมควร

โอเปราเฮาส์ โรงละครที่โดดเด่นด้วยหลังคารูปเรือแล่นซ้อนกัน ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเดนมาร์ก ยอร์น อูซอง ใช้เวลาสร้างนานถึง 14 ปี ทุ่มงบกว่าร้อยล้านเหรียญ

ฮาร์เบอร์ บริดจ์ สะพานระนาบเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำช่วงทศวรรษ 1930 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง

สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่รวบรวมทุกกิจกรรม ทั้งกินข้าว นอนอาบแดด เล่นกับลูก เล่นกับหมา อ่านหนังสือ นอนกลางวัน ทุกคนใช้ประโยชน์จากส่วนสาธารณะได้ไม่รู้จบเหมือนอยู่สวนหลังบ้านของตัวเอง

วันเที่ยว

วันที่ก้าว เดือนเก้า

อันที่จริงการชมออสเตรเลียให้เต็มตาและไม่เสียเวลาต้องล่องเรือ ที่ท่าเรือเซอร์คูลาคีย์ เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ มีเรือนำเที่ยวหลายเจ้าให้บริการ ทั้งแบบล่องชมทัศนียภาพซิดนีย์อย่างเดียว และแบบรับประทานอาหารกลางวันบนเรือ จากบนเรือจะเห็นโอเปราเฮาส์และฮาร์เบอร์ บริดจ์ คู่กัน ตามสองฝั่งเป็นบ้านเรือนทั้งแบบเก่าและใหม่ ถ้าแบบเก่าจะทำด้วยอิฐ แต่ถ้าแบบใหม่จะทำด้วยปูน ใช้เวลาล่องเรือประมาณ 2 ชั่วโมง เรือจะไปจอดอีกท่าแถวดาร์ลิงฮาร์เบอร์ ย่านนี้เป็นย่านการค้า มีโรงแรมห้าดาว ร้านค้า ร้านอาหาร และเป็นท่าจอดเรือที่สำคัญอีกแห่ง

หลายคนคิดว่าซิดนีย์เป็นเมืองหลวง แต่ที่จริงซิดนีย์เป็นเมืองท่า ไม่ใช่เพราะมีท่าเรือมาก แต่เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของออสเตรเลีย (เมืองหลวงคือ แคนเบอร์รา (Canberra))

หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรยืนรับลมอยู่แถวแมนลีย์ เธอพยายามปรับตัวให้เข้ากับอากาศหนาว ที่จริงสายตาเธอควรจับจ้องอยู่ที่หนุ่มเล่นเซิร์ฟในทะเล แต่ทว่าสายตากลับกำลังต่อสู้อยู่กับนกนางนวล มันส่งสายตาขออาหาร ส่วนเธอกำลังปฏิเสธ น้ำตาเธอใกล้ไหลเพราะลมที่เข้าหน้าตลอดเวลา ซึ่งเกมนี้จะไม่มีใครชนะจนกว่าฝ่ายหนึ่งจะล่าถอย

เธอจำเป็นต้องยอมแพ้เพราะถึงเวลาต้องก้าวต่อไป เธอก้มลงผูกเชือกรองเท้าให้แน่นก่อนไปให้พ้นจากสายตานกนางนวล และพุ่งตัวสู่ดินแดนของหมีโคอาลาและจิงโจ้วอลลาบี

“Featherdale Wildlife Park” สวนสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลีย จิงโจ้วอลลาบีกระโดดต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ทางเข้า มันไม่ถูกจำกัดอาณาเขตเพราะมันเชื่องและไม่มีนิสัยชอบชกต่อยเหมือนในการ์ตูน ส่วนหมีโคอาลาก็เอาแต่นอน บิดขี้เกียจ กินใบไม้ และก็นอน แต่ถึงแม้มันจะขยับตัวน้อยและดูไม่สนใจมนุษย์สักนิดเดียว คนก็ชอบดูมันนอนและหาโอกาสจับขนแสนนุ่มของมัน

หญิงสาวเส้นศูนย์สูตรรู้สึกอบอุ่นขึ้นเล็กน้อยที่ได้เห็นเด็กนักเรียนส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวในสวนสัตว์ มันทำให้หวนคิดถึงความสุขวัยอนุบาลที่ได้ไปสวนสัตว์ดุสิตครั้งแรก เด็กเหล่านี้น่าจะตื่นเต้นมากถ้าได้เห็นช้าง กอริลลา และฮิปโป เหมือนกับที่เธอตื่นเต้นในตอนนี้

แต่น่าเสียดายที่ Featherdale Wildlife Park ไม่มีสัตว์น้ำ เพราะเธอกำลังคิดถึงสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เคยสร้างความประทับใจเมื่อครั้งดูสารคดีช่องดิสคัฟเวอรี มันไม่มีขา ไม่มีหู แต่มีรอยยิ้มกว้างและขี้เล่นนัก หญิงสาวตัดสินใจเดินทางออกจากซิดนีย์เพื่อตามหามัน เป้าหมายอยู่ที่อ่าวเนลสัน ห่างจากซิดนีย์ราว 3 ชั่วโมง

แต่คุณทราบหรือไม่ว่า 3 ชั่วโมงของเธอมันเท่ากับ 1 อาทิตย์บนหน้ากระดาษ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาแยกย้ายกันไปตามเป้าหมายของตัวเองก่อนแล้วกลับมาติดตามก้าวต่อไปของเธอได้ในวันเสาร์หน้า (6 ต.ค. 2555) กับตอน “วันลา” ในคอลัมน์ Travel ETC