posttoday

กี่ชาติไหนหรือพูดภาษาใดเราก็อาเซียนเหมือนกัน

15 กันยายน 2555

ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ากระแสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

โดย...ทีมงานโลก360องศา

ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ากระแสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้คือ ในปี 2015 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อการร่วมกันสร้างฐานเศรษฐกิจเดียวกัน อันจะนำมาทั้งผลประโยชน์และผลกระทบไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามที เรามีความเชื่อว่าก้าวแรกสุดก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราก่อน เช่น เรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภาษา เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในมิติหลายๆ ด้านของประเทศนั้นๆ โดยกลุ่มประเทศแรกสุดที่เราจะพาไปรู้จัก คือ กลุ่มประเทศแหลมมลายู อันประกอบไปด้วยประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ประเทศมาเลเซีย ประเทศนี้มีคำทักทายว่า “เซอลามัต ดาตัง” แปลว่าสวัสดีในภาษาไทย ประเทศมาเลเซียคือประเทศพหุสังคม อันประกอบไปด้วยชาวมาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม ชาวจีนและชาวฮินดู ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลาม หากแต่ว่าก็เป็นสังคมอิสลามที่เปิดกว้าง เพราะยึดหลัก Civilization Islam ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ การผสมผสานความศรัทธาและการอยู่ร่วมกันกับต่างศาสนาอย่างลงตัวทุกมิติ ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาจึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในประเทศมาเลเซีย จากแนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีจุดเด่นในเรื่องของการเปิดรับแนวคิดและวิทยาการจากตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับวิถีแห่งอิสลาม ส่งผลให้การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษามีความก้าวหน้ามากที่สุดอีกประเทศหนึ่งในโลกอิสลาม

กี่ชาติไหนหรือพูดภาษาใดเราก็อาเซียนเหมือนกัน

 

ประเทศต่อมาคือ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม คือประเทศที่มีลักษณะสังคมคล้ายกับมาเลเซียที่สุด และสามารถใช้คำทักทายเดียวกันกับประเทศมาเลเซียได้ มีขนาดพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่ร่ำรวยจากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศมากกว่าร้อยละ 90 โดยแบ่งเป็นสัดส่วน คือ ผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งรายได้อันมหาศาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมนี้ ทำให้ประเทศบรูไนเป็นรัฐสวัสดิการเพียงแห่งเดียวของอาเซียนที่ประชากรกว่า 3.7 แสนคนไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่น้ำมันอาจหมดลงในอนาคตอันใกล้นี้ บรูไนจึงมีแผนที่จะลดการพึ่งพาน้ำมัน และหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและภาคการบริการ เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและธุรกิจการท่องเที่ยว แต่มีอุปสรรคใหญ่ คือ มีประชากรแรงงานน้อย ขาดวิทยาการ

ส่วนประเทศอินโดนีเซียมีคำทักทายคล้ายกับประเทศมาเลเซียและบรูไน คือ “เซอลามัต เซียง” ประเทศนี้เป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันกว่า 220 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ในอดีตดินแดนนี้เคยใช้ชื่อว่า “ชวา” อีกทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเคยรุ่งเรืองมาก่อน ซึ่งมีหลักฐานคือมหาวิหารบุโรพุทโธ และวัดพรัมบานันที่เมืองยอกยาการ์ตา ปัจจุบันอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน สินแร่ และป่าไม้ นอกจากนั้นแล้วพัฒนาการทางด้านการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของอินโดนีเซีย มีแนวโน้มพัฒนายิ่งขึ้น คือ มีความเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็ง และการคอร์รัปชันลดลง ส่งผลให้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของอาเซียนตั้งอยู่ใจกลางกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้การนำโดย มาตี นาตาเลกาวา ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย

และประเทศท้ายสุดในกลุ่มแหลมมลายู คือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่มีขนาดเล็กสุด มีประชากรน้อยสุด แต่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน เพราะเป็นที่ตั้งท่าเรือปลอดภาษีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งทำให้สิงคโปร์สามารถนำเข้าวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมได้ในราคาต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในสิงคโปร์มีค่าก่อสร้างและค่าแรงสูง ทำให้นักลงทุนเริ่มเบนเข็มไปลงทุนที่อื่น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงลดภาระภาคอุตสาหกรรมด้วยการหันมาสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวแทน จึงไม่แปลกที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์พยายามสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในประเทศมากมาย

กี่ชาติไหนหรือพูดภาษาใดเราก็อาเซียนเหมือนกัน

 

ประเทศต่อมา คือ ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ นอกจากนั้นแล้วยังมีความแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนหลากหลายมิติด้วยกัน แต่มิติที่เด่นชัดที่สุด ประกอบไปด้วย 3 มิติค่ะ มิติที่ 1 คือ ด้านศาสนา ประเทศฟิลิปปินส์นั้นเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวในอาเซียน ที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ถึงร้อยละ 92 มิติที่ 2 คือ ด้านภาษา ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวในอาเซียน ที่มีผู้คนพูดภาษาอังกฤษได้มากที่สุด เพราะเคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา และมิติที่ 3 คือ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากละตินอเมริกา เพราะเคยเป็นเมืองขึ้นสเปน

กลุ่มประเทศสุดท้าย คือ กลุ่มประเทศ CLMV อันประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีแรงงานหนุ่มสาวค่าแรงต่ำจำนวนมาก แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่สนใจมากที่สุดจากนักลงทุนชาวไทย คือ เวียดนาม สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าทางการค้า โดยกรมส่งเสริมการส่งออกที่ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีการค้าร่วมกันมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่ทำให้การค้าการลงทุนในเวียดนามน่าสนใจ คือ นอกเหนือจากทรัพยากรและแรงงานแล้ว ยังมีนโยบายทางด้านการค้าและการลงทุนที่ชัดเจน เพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีอำนาจสูงสุดเพียงพรรคเดียว ส่งผลให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้ว ภาษาไทยยังถือเป็นอีกหนึ่งภาษาที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในเวียดนามให้ความสนใจอย่างมาก และเปิดสอนเป็นวิชาเอกในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของเวียดนาม

ประเทศต่อมา คือ ประเทศกัมพูชา หนึ่งในประเทศที่มีการสู้รบภายในประเทศยาวนานที่สุดในอาเซียน จึงทำให้ประเทศนี้เป็นที่รู้จักเพียงแค่มิติของสงคราม แต่ในความเป็นจริงแล้วกัมพูชาเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในเรื่องของวิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย นอกจากนั้นแล้วภายหลังสิ้นสุดสงคราม กัมพูชาพยายามฟื้นฟูประเทศด้วยนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาได้กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายปลายทางของนักลงทุน โดยเฉพาะจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพราะมีทรัพยากรทั้งบนบกและในน้ำ มีแรงงานหนุ่มสาวค่าแรงต่ำ และมีทางออกสู่ทะเล ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง ด้วยเหตุนี้กัมพูชาจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เราไม่ควรมองข้าม

กี่ชาติไหนหรือพูดภาษาใดเราก็อาเซียนเหมือนกัน

 

ถัดมาไม่ไกลกันมาก คือ ประเทศลาว หนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าได้รับความนิยมจากประเทศจีนมากขึ้น เพราะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศจีนตอนล่าง ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวประเทศลาว พบว่าชาวจีนนิยมท่องเที่ยวระยะยาวในประเทศลาวมากขึ้น โดยจะนิยมเริ่มต้นเดินทางเข้ามาทางมณฑลยูนนาน เลาะเลียบแม่น้ำโขง ผ่านประเทศลาว พม่า ไทย กัมพูชา ไปสิ้นสุดที่เวียดนาม ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นหนึ่งในตลาดที่กำลังเฟื่องฟูขึ้นมากภายหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

และประเทศสุดท้าย คือ ประเทศพม่า ประเทศที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายมากขึ้น ภายหลังที่ อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านได้รับการปล่อยตัว พร้อมทั้งเดินสายพบปะผู้นำประเทศทั่วโลกเพื่อส่งสัญญาณว่าพม่าพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ เพื่อก้าวสู่การพัฒนาในมิติต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานพม่าที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายในประเทศไทย มีมากกว่า 1 ล้านคน ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่นานพม่าจะกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมในอาเซียน ส่งผลให้แรงงานพม่าพลัดถิ่นโยกย้ายเดินทางกลับสู่ประเทศบ้านเกิด ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีแผนรองรับดังกล่าวด้วย แต่อย่างไรก็ตามที ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้เห็นประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนอย่าง “พม่า” เติบโตและพัฒนาไปข้างหน้าด้วยตัวเอง

การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ดูเหมือนว่าทุกประเทศสมาชิกจะมุ่งสู่การพัฒนาประเทศให้มีความพร้อมและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่อาจจะหลงลืมเรื่องของการทำความรู้จักถึงนิสัยใจคอ วิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม รวมไปถึงมุมมองพื้นฐานของผู้คนในประเทศ ซึ่งโลก 360 องศา มีความเชื่อว่าหากทุกประเทศศึกษาและทำความรู้จักซึ่งกันและกันแล้ว ไม่ว่าจะร่วมมือทำอะไรก็ตามก็จะอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน n