posttoday

โรงไฟฟ้ากับชุมชน

01 กันยายน 2555

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าและชุมชนเป็นเหมือนลิ้นกับฟันที่มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าและชุมชนเป็นเหมือนลิ้นกับฟันที่มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย เพราะการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้ง การก่อสร้างและกระบวนการในการผลิตไฟฟ้า มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และที่สำคัญคือภาคประชาชน ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีรูปแบบการดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กรและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป เลยทำให้ปัญหาระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชนในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันไปตามวาระ คำถามจึงเกิดขึ้นตามมาว่า แล้วจะมีประเทศไหนบ้างที่โรงไฟฟ้าและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข คำตอบที่น่าจะชัดเจนมากที่สุด นั่นก็คือโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น

พื้นฐานของชาวญี่ปุ่นเป็นคนมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องวางแผนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากเกิดความผิดพลาดชาวญี่ปุ่นจะรีบแก้ไขในทันที แต่หากข้อผิดพลาดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายและมีผลกระทบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง ชาวญี่ปุ่นมักจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับบทลงโทษที่วางไว้หรือลาออกในทันที ซึ่งเราจะเห็นการแสดงความรับผิดชอบในลักษณะนี้ ทั้งทางด้านการเมืองและการประกอบธุรกิจ

การบริหารงานโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นก็เช่นกัน ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่วางแผนทางนโยบาย กฎหมาย ไปจนถึงการก่อสร้างและดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น เสียงของประชาชนชาวญี่ปุ่นมีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนญี่ปุ่น เราจึงขอโอกาสบอกเล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ประกอบไปด้วย ชุมชนคาริวะ ชุมชนทาเคฮารา และชุมชนโคคัตซึ

โรงไฟฟ้ากับชุมชน

เริ่มต้นที่ชุมชนคาริวะในจังหวัดนิอิกาตะ อันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก ที่นั่นได้มีโอกาสพูดคุยกับครอบครัวของคุณลุงโอนิยามะ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ลุงโอนิยามะเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เมื่อโรงไฟฟ้าจะเข้ามาตั้งที่นี่ จึงมีการประชุมร่วมกับบริษัท องค์กรปกครองท้องถิ่น และชาวบ้าน ซึ่งแรกเริ่มก็มีความกังวล แต่ทุกคนก็เชื่อมั่นถึงความปลอดภัย จนกระทั่งโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จและเปิดดำเนินงาน เศรษฐกิจของเมืองคาริวะเติบโตขึ้นมาก เพราะมีผู้คนเดินทางเข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้า รวมไปถึงชาวคาริวะ

ต่อมาเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณชินาดะ ฮิโรโอะ นายกเทศบาลเมืองคาริวะ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า เงินภาษีจากการขายไฟฟ้ากว่า 1,500 ล้านบาท ถูกแบ่งปันมาพัฒนาถนนหนทางในเมือง ระบบไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงศูนย์การเรียนรู้แห่งเมืองคาริวะ (Kariwa Village Life Learning Center) และอุทยานการเรียนรู้สำหรับเด็ก (Kashiwazaki Yumenomori Park)

แม้ว่าเหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมาจะเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปไม่นานเราได้มีโอกาสกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อไปพิสูจน์ข้อกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารทะเล พืชผักและผลไม้ ซึ่งเราก็พบว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบและซื้อหาอาหารเหล่านั้นตามปกติ ทำให้เชื่อได้ว่าชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบ และสะท้อนการวางระบบของโรงไฟฟ้าที่ถึงแม้ว่าจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่ปัญหาที่ตามมากลับไม่บานปลายและควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาปกติได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากกัมมันตรังสี

โรงไฟฟ้ากับชุมชน

ปีถัดมาเราได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนทาเคฮารา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ระบบขนส่งถ่านหินเป็นระบบปิด และมีเทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษที่ทันสมัย ที่นั่นเราได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าวิถีชีวิตการทำประมงก็ยังเป็นปกติ เพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้ปล่อยน้ำร้อนหรือมีฝุ่นละอองจากถ่านหินฟุ้งกระจายจนทำให้น้ำเป็นมลพิษ ชาวบ้านที่นี่สามารถเปิดหน้าต่างหรือตากผ้าได้โดยไม่ต้องกังวลว่าฝุ่นจากถ่านหินจะปลิวมาสร้างความสกปรก และชาวบ้านที่นี่ก็สามารถทำการเกษตรได้เป็นปกติ เพราะไม่มีมลพิษมาสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตและดิน ซึ่งพวกเขาบอกว่าโรงไฟฟ้าได้ทำตามที่สัญญาไว้มาตลอดว่าจะไม่สร้างมลพิษให้กับชุมชน แต่หากผิดสัญญาพวกเขาก็พร้อมที่จะแสดงพลังเพื่อทวงสัญญาในทันที

และพื้นที่ล่าสุดที่ได้มีโอกาสไปมาก็คือชุมชนโคคัตซึ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นคือระบบขนส่งถ่านหินเป็นระบบปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงไม่มีทางได้เห็นถ่านหินรอบโรงไฟฟ้า ส่วนระบบเผาไหม้และดักจับมลพิษ เน้นทำให้เกิดการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ที่สุด และใช้เทคโนโลยีที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ดักจับไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ ไปจนถึงเครื่องดักจับฝุ่นละอองและขี้เถ้าโดยใช้ไฟฟ้าสถิตแรงดันสูง ซึ่งทำให้เกิดสนามแม่เหล็กดึงดูดฝุ่นละอองได้ทุกขนาด จึงทำให้ชุมชนโคคัตซึไม่เคยได้รับผลกระทบจากมลพิษเลยตั้งแต่โรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการมา

โรงไฟฟ้ากับชุมชน

แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะยังมีกำลังไฟฟ้าสำรองในระบบเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยคุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. มองว่า หากมองในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 ออกโดยกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กฟผ.มีหน้าที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัญหาสำคัญคือการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนคือผู้ตัดสิน นั่นจึงเป็นที่มาที่คุณสุทัศน์เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการทำ CSR in process คือการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดได้ว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีแบบไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อให้ท้ายที่สุดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ประชาชนรอบๆ โรงไฟฟ้าและผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า ต่อมาคือการทำ CSR after process คือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่ง กฟผ. จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเจริญทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ อันจะทำให้เกิดการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน เฉกเช่นเดียวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชนในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง