posttoday

ญี่ปุ่นกับความก้าวหน้าทางด้านพลังงาน

18 สิงหาคม 2555

ความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่น ผสานเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยชาวญี่ปุ่น

ความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่น ผสานเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยชาวญี่ปุ่น ก่อเกิดเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สร้างมูลค่าและทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่การเติบโตนั้นจะดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ได้หากไม่มีพลังงานไฟฟ้ามาสนับสนุน และการผลิตไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้ก้าวทันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายเศรษฐกิจนำหน้าการทหาร ญี่ปุ่นก็เริ่มเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า จึงมีการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชนสามารถแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าอย่างเสรีร่วมกับรัฐบาล ด้วยเหตุนี้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทเก่าแก่ เพราะเริ่มก่อตั้งเมื่อประเทศสิ้นสุดสงคราม จึงมากด้วยประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีในการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นส่งออกไปทั่วโลก

ญี่ปุ่นกับความก้าวหน้าทางด้านพลังงาน

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดอันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องจักรในโรงงานมีจำนวนมหาศาล แต่ญี่ปุ่นก็ไม่เคยประสบกับปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนในประเทศเลย อันเนื่องมาจากมีการวางแผนไว้ว่า การผลิตไฟฟ้าจะต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 30 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา นั่นหมายความว่าจะต้องผลิตไฟฟ้าให้มีปริมาณเกินความต้องการตามสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งอาจดูว่าเป็นการผลิตเกินความจำเป็น แต่เมื่อไม่นานมานี้ผลกระทบจากการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้ไฟฟ้าหายไปในระบบประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็ไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในประเทศ นั่นเป็นเพราะมีการวางแผนเรื่องการสำรองไฟฟ้าดังกล่าว ถึงกระนั้นก็ตามถือว่าสถานการณ์ทางด้านพลังงานในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะมีปริมาณไฟฟ้าในระบบพอดีหรือมากกว่าความต้องการพื้นฐานเพียงเล็กน้อย ทำให้ในฤดูร้อนที่กำลังเผชิญอยู่นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปี อันเนื่องมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศสูง ชาวญี่ปุ่นจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ “Black Out” ขึ้นในประเทศ

ญี่ปุ่นกับความก้าวหน้าทางด้านพลังงาน

 

หากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติครบทุกโรง สถานการณ์ในญี่ปุ่นคงจะดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นก็เคารพการตัดสินใจของประชาชนบางส่วนที่คัดค้านการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่กระนั้นก็ตามรัฐบาลก็ต้องฝ่ากระแสคัดค้านตัดสินใจเดินหน้าเปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หนึ่งถึงสองโรง เพื่อไม่ให้สถานการณ์พลังงานในหน้าร้อนเลวร้ายไปกว่านี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่าในเมื่อพลังงานหมุนเวียนอย่างลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งยังไม่มีใครการันตีและพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณสูงจนสามารถแทนที่การผลิตจากเชื้อเพลิงหลัก และมีเสถียรภาพในการผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หรือถ้าจะมีก็คงมีเพียงประเทศเยอรมันนีที่ประกาศแผนยุตินิวเคลียร์และทดแทนด้วยพลังงานหมุนเวียน หากแต่ว่านั่นคือแผนที่วางไว้ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า อะไรจะเข้ามากู้วิกฤตการณ์พลังงานครั้งนี้ในญี่ปุ่น คำตอบคือการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

ประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งรัฐบาลและเอกชนเป็นเจ้าของ ผลิตไฟฟ้าภายใต้กฎหมายควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีนี่เอง ที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าต่างแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตและการกำจัดมลพิษ เพราะถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว นกตัวที่หนึ่งคือเทคโนโลยียิ่งดียิ่งสะอาดเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากเท่านั้น และนกตัวที่สองคือเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถขายให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย

ญี่ปุ่นกับความก้าวหน้าทางด้านพลังงาน

 

หากจะยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นที่โดดเด่นในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและการกำจัดมลพิษ หนึ่งในนั้นคงจะเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจากโรงไฟฟ้าทาชิบาน่าวัง ( Tachibanawan Thermal ) ตั้งอยู่ในจังหวัดโทคุชิมะ เขตชิโคคุ ผลิตไฟฟ้าส่งไปยังเขตคันไซ ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ความโดดเด่นที่นี่คือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบปิด ดังนั้นจะไม่มีโอกาสได้เห็นถ่านหินทั้งในและรอบๆ โรงไฟฟ้า เพราะตั้งแต่กระบวนการขนถ่ายถ่านหินผ่านท่าเรือน้ำลึกติดกับโรงไฟฟ้า จะต้องผ่านเครื่องตักถ่านหินระบบปิด ส่งผ่านสายพานลำเลียงที่ปิดมิดชิดสู่ไซโลเก็บถ่านหิน ดังนั้นแทบจะไม่มีถ่านหินร่วงหล่นหรือฟุ้งกระจายแม้แต่น้อย จากนั้นถ่านหินคุณภาพดีจะถูกบดให้เป็นผงเข้าสู่กระบวนการเผาไหม้ในอุณหภูมิที่ควบคุมให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งความร้อนที่ได้จะถูกนำไปต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำแรงดันสูงหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดมหึมาที่มีกำลังการผลิตหน่วยละ 1,050 เมกะวัตต์จำนวนสองเครื่องรวมเป็น 2,100 เมกะวัตต์ หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อมีการเผาก็ต้องมีควันพิษ แน่นอนว่าการปล่อยควันพิษสู่ชุมชนในประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะนอกจากจะถูกลงโทษทางกฎหมายแล้วยังจะถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องปิดกิจการก็เป็นได้ ดังนั้นโรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงมีการติดตั้งเครื่องดักจับมลพิษและขี้เถ้าถึง 3 เครื่อง มีประสิทธิภาพสูงในการดักจับตั้งแต่ออกไซด์ของไนโตรเจนและซัลเฟอร์รวมไปถึงขี้เถ้า จนเกือบจะมีค่ามลพิษเป็นศูนย์เลยทีเดียว ส่วนน้ำร้อนที่ต้มจะถูกหมุนเวียนกลับไปต้มซ้ำอีกครั้ง หรือหากจะต้องปล่อยออกมาก็จะต้องนำไปปรับอุณหภูมิที่หอหล่อเย็น เกิดเป็นไอน้ำพวยพุ่งออกจากปล่อง ซึ่งนี่เองที่ทำให้หลายคนตีความผิดไปว่า นั่นคือควันเสียที่โรงไฟฟ้าปล่อยออกมา แท้จริงแล้วคือไอน้ำเท่านั้นเอง เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท J–Power หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเก่าแก่ในญี่ปุ่นที่ได้รับความไว้วางใจเรื่องเทคโนโลยีจากโรงไฟฟ้าทั่วโลก รวมไปถึงมีการคาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้จะถูกนำมาติดตั้งในโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศไทย

ญี่ปุ่นกับความก้าวหน้าทางด้านพลังงาน

 

ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่าที่ไหนมีการพัฒนา ที่นั่นก็ย่อมมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย ประเทศไทยของเราก็เช่นเดียวกันทุกวันนี้อุตสาหกรรมภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะเติบโตช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับผู้บริหารในยุคนั้น และภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วถึงในประเทศ เพราะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับแรงงานในระบบมากกว่าหลายล้านคน ดังนั้นจะต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมและปากท้องของแรงงานในระบบจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีไฟฟ้ามาสนับสนุน และหากไฟฟ้าในระบบเกิดปัญหาภาคอุตสาหกรรมคือหนึ่งกลุ่มที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบรองจากประชาชน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องมาร่วมกันกำหนดทิศทางพลังงานในประเทศไทยว่าจะเดินหน้าไปทางไหน และอยากให้ดูกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เพราะมีความใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด แม้ว่าวันนี้เราจะยังไม่เผชิญกับปัญหาดังกล่าว แต่ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานเช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศอินเดียก็เป็นได้