posttoday

วิกรม กรมดิษฐ์ ลมหายใจของวิกรม

11 สิงหาคม 2555

ไปได้เกินครึ่งทางแล้วกับการเดินทางหาชีวิตใหม่ของ “คุณวิกรม กรมดิษฐ์”

โดย...กาญจน์ อายุ

ไปได้เกินครึ่งทางแล้วกับการเดินทางหาชีวิตใหม่ของ “คุณวิกรม กรมดิษฐ์” บนเส้นทางไทยมองโกเลีย รวมระยะทางกว่า 4 หมื่นกิโลเมตร เขาและทีมงานเคลื่อนพลเป็นคาราวานรถบ้านผจญบนถนนรอนแรมนานครึ่งปี เพื่อ “เรียนรู้” ชีวิตผู้อื่นและนำมา “สอน” ตัวเอง

ถนนชีวิต

คุณวิกรม ปฏิเสธการนั่งเครื่องบิน เรือ รถไฟ และเลือกวิธีจับพวงมาลัยเป็นคาราวาน “ไปรถมันดีกว่าทุกอย่าง” เขาเริ่มพูดด้วยการสรุป “ถ้าไปด้วยทางอื่นมันไม่สามารถหยุดได้หรือหยุดได้ไม่นาน ทำให้ความละเอียด ความลึก และความจริง ข้างทางมันหายไป”

วิกรม กรมดิษฐ์ ลมหายใจของวิกรม

 

เขาอธิบายต่อ “เส้นทางที่การคมนาคมหลักเข้าถึงส่วนใหญ่มันเป็นเมือง แต่การขับรถมันสามารถขับไปหมู่บ้าน อำเภอ ป่า และทุกเส้นทางที่อยากไป ถ้าทางไหนเล็กเกินกว่ารถจะเข้าได้ เราก็จะจอดแล้วขี่จักรยาน”

คาราวานประกอบด้วยรถบ้านจำนวน 5 คัน ทีมงานรวมคุณวิกรมด้วย 13 คน แล่นไปทางไหนก็มีคนมอง เพราะขบวนใหญ่และแถมเป็นรถบ้าน “ไปด้วยรถก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระเบียบขั้นตอนผ่านด่านต่างๆ และเรื่องหาที่จอดรถ” เรื่องที่จอดรถไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะในเมืองแล้ว เขาอธิบายต่อ “เพราะเราต้องจอดรถเป็นรูปตัวยู ทำให้เราต้องหาพื้นที่ที่กว้างพอและไม่ลาดเอียง ไม่ว่าจะเป็นข้างถนน ป่าช้า หรือในปั๊ม เรานอนได้หมด ขอให้จอดรถได้และไม่เป็นอันตราย”

วิกรม กรมดิษฐ์ ลมหายใจของวิกรม

 

แต่อย่างไรเรื่องอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ คุณวิกรม เล่าถึงเหตุการณ์รถติดหล่มที่มองโกเลีย 3 วัน รถคว่ำ 360 องศา เพราะถนนลื่น และเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับรถแต่เกี่ยวกับม้า “ผมอยากรู้มากว่า เจงกิสข่าน ขี่ม้าจากเอเชียไปยุโรปได้ยังไง” เขาจึงขึ้นควบม้าอย่างเร็วจำลองตัวเองเป็นเจงกิสข่าน แต่ขี่ไปได้ชั่วโมงกว่า ก็เข้าใจความเจ็บปวดของข่าน เพราะคุณวิกรม “ก้นแตก”

ถึงแม้ร่างกายจะเจ็บตัวไปบ้าง แต่ใจคุณวิกรมกลับแข็งแกร่ง เพราะเขาได้เห็นความแตกต่างระหว่างทางที่ตกผลึกกลายเป็นความรู้และความเข้าใจ “การเดินทางมันทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อเรามองชีวิตคนอื่นแล้วมันสะท้อนตัวเอง เช่น ผมเห็นคนจีนทำงานหนัก ทำให้ผมบอกตัวเองว่าเราจะทำงานน้อยไม่ได้แล้วนะ สิ่งที่เราทำมันยังไม่เรียกว่าหนักนะ” เขายกตัวอย่าง

“ทำไมฝรั่งถึงล่องเรือค้นหาในสิ่งที่ไม่เคยเห็นล่ะ นั่นเพราะการเดินทางคือการเรียนรู้” เขาเริ่มสรุปเพื่อให้เห็นสิ่งที่ได้และจะได้จากการเดินทาง “และเมื่อได้เรียนรู้แล้ว คนก็จะเห็นทางทำธุรกิจ เช่น ซื้อของที่เขามีหรือขายของที่เขาไม่มี” คุณวิกรม เริ่มมองอย่างนักลงทุน “เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตรา คนก็จะเริ่มลงทุน และหลังจากนั้นสังคมมันก็จะกว้างขึ้น มีเพื่อนเยอะขึ้น”

นอกจากเป็นนักเดินทางแล้ว อีกด้านหนึ่งเขายังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งในประเทศไทย รถบ้านที่เขาใช้ก็ผลิตที่นิคมฯ ของเขาเอง

ล่าสุดหลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากันดีกับภาพในทีวีสามสีและประโยคเด็ด “เพราะอาเซียนคือเรื่องของพวกเราทุกคนนะครับ” คุณวิกรม หัวเราะเงียบและเริ่มเข้าเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

วิกรม กรมดิษฐ์ ลมหายใจของวิกรม

 

AEC มุมวิกรม

ในปี 2558 ประชาคมอาเซียนจะเปิดอย่างเป็นทางการ ทำให้รัฐบาล นักธุรกิจ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่ผลดีหรือผลร้ายจะมากระทบกับเรา คุณวิกรม มีทัศนะบอกกล่าว

“อีก 2 ปีเราจะเป็นครอบครัวใหญ่ เราจะเป็นเพียงห้องหนึ่งในบ้านหลังใหญ่ และเราจะมีเพื่อน 7,000 ล้านคน” คุณวิกรม กล่าวภาพรวมก่อนเข้าประเด็นข้อดีข้อเสีย

“ในโลกไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเปิด AEC เราจะได้ผลดีสี่ด้าน หนึ่ง ต้นทุนจะน้อยลง” คุณวิกรม ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น เวลาเดินทางเราไม่ต้องเสียค่าวีซ่าเมื่อไปในอีก 9 ประเทศอาเซียน

“สอง การขนส่งสินค้าหรือการซื้อสินค้ามา เราไม่ต้องผ่านเบี้ยบ้ายรายทาง สาม เราจะมีโอกาสในการประกอบธุรกิจและมีตลาดที่กว้างขึ้น และสี่ เมื่ออาเซียนพูดอะไร โลกจะฟังมากขึ้น เพราะเราจะเสียงดังมากขึ้น มีพลังและน้ำหนักมากกว่าพูดแค่ประเทศเดียว”

วิกรม กรมดิษฐ์ ลมหายใจของวิกรม

 

 

ส่วนข้อเสียในทัศนะของคุณวิกรม “หนึ่ง โรคระบาดจะติดต่อได้ง่ายขึ้น เพราะคนเข้าออกได้ง่ายขึ้น สอง จะเกิดการขัดแย้งกันในช่วงแรก เพราะความแตกต่างของแต่ละประเทศ” เขาอธิบายให้เห็นภาพว่า ถ้านำคนจาก 10 ประเทศ 10 ความคิดมานั่งคุยกัน จะต้องเกิดความไม่เข้าใจในช่วงแรกๆ ของการสนทนา แต่เมื่อคุยกันบ่อยขึ้น ทั้ง 10 คนจะปรับตัวและปรับความคิดเข้าหากัน ดังนั้นมันจึงต้องใช้เวลา

“สาม คือ เรื่องกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่แต่ละประเทศต่างกัน จะเกิดความไม่คุ้นเคย ความเสี่ยง อุบัติเหตุ และช่องว่างระหว่างกฎหมายของแต่ละประเทศ”

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาเซียนเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นเรื่องที่คนไทยต้องเรียนรู้อย่างที่คุณวิกรมกล่าว แต่ทั้งนี้ “ประเทศไทย” ก็มีความได้เปรียบในหลายๆ ด้าน คุณวิกรม ได้ชี้แจงเป็นข้อๆ อีกครั้ง

“ไทยอยู่ตรงกลาง อยู่ในทำเลที่ดีที่สามารถเชื่อมต่อไปพนมเปญ ไปโฮจิมินห์ได้ สอง ไทยมีแหล่งช็อปปิ้ง เช่น ห้างใหญ่ๆ ดังๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็ดึงคนมาจับจ่ายได้มหาศาลแล้ว สาม ไทยมีแหล่งบันเทิง เช่น โรงหนัง โรงละคร และสี่ กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยว 20 กล่าล้านคน ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคัก”

ถามคุณวิกรมทันทีว่า “ธรรมชาติ” ของไทย ไม่เป็นข้อได้เปรียบหรือ เขาตอบ “เรามีธรรมชาติสวยงามจริง แต่เพื่อนบ้านเรามีมากกว่า เช่น ที่เวียดนาม ลาว พม่า ป่าไม้ ถ้ำ น้ำตก ของเขาสวยกว่าเราเยอะ”

ฟังแล้วก็เจียมตน เพราะนึกว่าประเทศไทยสวยเลิศที่สุดในอาเซียนแล้ว แต่ไม่เป็นไร...ในเมื่อบ้านเราไม่มี เราก็ไปเที่ยวบ้านเขาได้ เพื่อออกไปหาความต่างเรียนรู้ชีวิตคนอื่นแล้วกลับมาสอนตัวเอง

คุณวิกรม พูดมาประโยคหนึ่งว่า “หมดแรง หมดฝัน เมื่อหมดลม” ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง และถ้าก่อนหมดลม ได้ทิ้งแรงบันดาลฝันให้คนอื่นได้ จะเป็นการอำลาที่ยิ่งใหญ่สูงสุด