posttoday

วิธีคิดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบฉบับญี่ปุ่น

04 สิงหาคม 2555

โลกของเราทุกวันนี้ขับเคลื่อนและพัฒนาไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก

โลกของเราทุกวันนี้ขับเคลื่อนและพัฒนาไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก

ซึ่งเทคโนโลยีนั้นเกิดจากกระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อทำให้ดีขึ้น หรือเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่มีมูลค่าในการซื้อขายและสามารถลอกเลียนแบบได้อย่างง่ายดาย ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ประเทศญี่ปุ่นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลกจะรักษาความเป็นผู้นำนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตามและน่าสนใจมากเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งถูกประเทศจีนแซงขึ้นมาเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐก็ตาม แต่ญี่ปุ่นก็ยังครองความเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก นี่คือสาเหตุที่ญี่ปุ่นยังคงยืนหยัดอยู่ได้ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจของโลก แม้จะมีอุปสรรคเข้ามาบั่นทอน เช่น สภาวะทางเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวและการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ในประเทศ ในอดีตนั้นคู่แข่งที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นคือ สหรัฐและเยอรมนี แต่ล่าสุดสองประเทศที่ต้องจับตามองเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว นั่นก็คือจีนและเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังคงมองว่า การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในญี่ปุ่นยังเหนือชั้นกว่าคู่แข่งหลายๆ ประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบุว่า ญี่ปุ่นต้องยุติบทบาททางทหาร แต่ให้คงไว้กองกำลังป้องกันตนเอง ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศแทนที่กำลังทางทหาร นั่นก็คือการสร้างประเทศให้กลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี นั่นจึงหมายความได้ว่า เทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง จึงไม่แปลกถ้าทุกวันนี้

วิธีคิดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบฉบับญี่ปุ่น

หากมองดูรอบๆ ตัวก็จะพบแต่สินค้าจากญี่ปุ่น เคยลองสังเกตกันหรือไม่ว่า แบรนด์สินค้าจากญี่ปุ่นมักจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไปจนถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เลยทีเดียว แบรนด์สินค้าจากญี่ปุ่นทำได้อย่างไร คำตอบคือคงต้องย้อนกลับไปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานสำคัญมาจากอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมการต่อเรือและอุตสาหกรรมทางการทหาร ล้วนแล้วเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งญี่ปุ่นวิจัยและพัฒนาจากเทคโนโลยีต่อยอดมาจากเทคโนโลยีของตะวันตก ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงมีองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีหลากหลายแขนง จึงมีศักยภาพในการผลิตและคิดค้นสินค้าได้อย่างหลากหลายนั่นเอง

แต่ใช่ว่าสินค้าของญี่ปุ่นจะไม่มีคู่แข่งเลย เพราะมีหลายประเทศที่พยายามนำโมเดลการพัฒนาของญี่ปุ่นไปใช้และผลิตสินค้าออกมาแข่ง อย่างไรก็ตาม สินค้าของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่มีความคงทน และมีประสิทธิภาพในการใช้งานยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าคู่แข่ง นี่คือสิ่งที่คู่แข่งหลายรายยังต้องยอมยกธงขาวให้กับสินค้าของญี่ปุ่น และยอมที่จะผลิตสินค้าในเกรดที่ต่ำกว่านั่นเอง ญี่ปุ่นมีวิธีในการทำให้สินค้ามีคุณภาพได้อย่างไร คำตอบคือการควบคุมคุณภาพผ่านระบบบริหารที่เรียกว่า “ไคเซน” (Kaizen) ซึ่งเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการทำงาน เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นของผู้ปฏิบัติงาน อันจะก่อให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงต้องร่วมกันเรียนรู้และจัดการกับอุปสรรคอย่างเป็นระบบ จากนั้นจึงสร้างให้กลายเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานต่อๆ ไป จึงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาแตกต่างจากระบบของตะวันตก ที่มักจะเอาเครื่องมือหรือระบบบริหารที่มีสูตรสำเร็จมาใช้ ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้เพียงระยะเวลาสั้นเท่านั้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมญี่ปุ่นจึงสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาดนั่นเอง

วิธีคิดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบฉบับญี่ปุ่น

อุปนิสัยของชาวญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่คือ จะให้ความสำคัญกับความผิดพลาดแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญเรื่องเวลานัดหมาย ความปลอดภัย และอุปกรณ์นิรภัยในการทำงาน หรือจะเป็นการสำรวจตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เพราะเหตุใดชาวญี่ปุ่นจึงมีวิธีคิดดังกล่าว คำตอบคือลักษณะเฉพาะตัวของประเทศญี่ปุ่น เช่น การมี 4 ฤดู ในหนึ่งปี ฤดูหนาวอาจหนาวจัด หรือในฤดูร้อนก็อาจร้อนจัด การเกิดแผ่นดินไหว หรือพายุโหมกระหน่ำเป็นประจำ การมีประชากรมาก แต่มีพื้นที่และทรัพยากรจำกัด จึงเป็นสังคมที่มีการแข่งขันกันสูง ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้หล่อหลอมให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนอดทนสูง มุมานะ ละเอียดรอบคอบ มีกระบวนการคิดและการวางแผนเป็นระบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพภูมิประเทศและสภาพสังคมดังกล่าว ซึ่งกระบวนการคิดดังกล่าวนี้ ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ทำให้กลายเป็นพื้นฐานของหลักการคิดไปข้างหน้าที่ทำให้หลายบริษัทจากญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ ดังเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นที่ขยายกิจการไปทั่วโลก

อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ก่อกำเนิดขึ้นภายหลังจากที่อุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มซบเซา หลายบริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด ดังเช่นบริษัท โตโยดะ (Toyoda) หรือที่รู้จักกันในชื่อโตโยต้า อดีตผู้ผลิตเครื่องทอผ้าอัตโนมัติรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ผันตัวเองสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากโรงงานเล็กๆ ในเมืองนาโงยา อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า “คุณภาพคือหนทางสู่ความสำเร็จ” ด้วยเหตุนี้การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นจึงถูกควบคุมด้วยระบบไคเซน แต่ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจนั้น การยึดถือคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่อาจทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ประสบความสำเร็จได้ แต่การทำให้สินค้ามีคุณภาพไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถใน

วิธีคิดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบฉบับญี่ปุ่น

การผลิต กลับกลายเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ทำให้โตโยต้าคิดค้นหนึ่งในวิธีบริหารจัดการที่เรียกว่า ไคโกกุ (Kaikoku) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในกระบวนการผลิต เช่น การยกเลิกระบบสายพานลำเลียงชิ้นส่วน แต่หันมาใช้หุ่นยนต์แทน ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน เวลา และเพิ่มพื้นที่โล่งในโรงงาน หรือจะเป็นการคิดค้นวิธีการพ่นสีรถ 3 ชั้น ในเวลาเดียวกัน แทนการรอให้สีใดสีหนึ่งแห้งแล้วค่อยพ่นทับ ซึ่งเป็นการตัดทอนกระบวนที่ไม่จำเป็นออกไปนั่นเอง และเมื่อนำมาผสมผสานกับระบบไคเซนแล้ว ก่อให้เกิดเป็นกระบวนการผลิตที่สามารถเน้นคุณภาพและปริมาณได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ววัฒนธรรมในองค์กรของญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาในส่วนของทรัพยากรบุคคล ซึ่งบุคลากรจะต้องพัฒนาร่วมกันและส่งต่อวัฒนธรรมนั้นจากรุ่นสู่รุ่นเสมือนดั่ง DNA ที่ถ่ายทอดต่อๆ กัน ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นกลายเป็นตัวอย่างสำคัญที่ได้พิสูจน์แล้วว่า วิธีการคิดในแบบญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียนรู้และหาข้อผิดพลาดร่วมกัน ทำให้ไม่ว่าจะตั้งอยู่มุมไหน หรือส่วนใดของโลก ก็สามารถคิดไปข้างหน้า เพื่อพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยังรักษาความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกัน