posttoday

เทคโนโลยีสุดล้ำกับการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น

28 กรกฎาคม 2555

แหงนมองรอบๆ ตัวเราแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าอย่างน้อยก็ต้องมีผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดชนิด

แหงนมองรอบๆ ตัวเราแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าอย่างน้อยก็ต้องมีผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดชนิด

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากรูปแบบ หรือแม้แต่ออกไปตามท้องถนนก็จะเห็นรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นวิ่งกันเกลื่อนเมือง ซึ่งไม่ใช่เป็นเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ในความเป็นจริงประเทศญี่ปุ่นเราก็รู้จักกันมาเนิ่นนานแล้ว แต่โดยส่วนตัวนั้นกลับไม่เคยทำความรู้จัก และหาที่มาที่ไปว่า เหตุไฉนประเทศนี้ถึงได้มีสินค้าต่างๆ ส่งออกไปทั่วโลก และทำไมจึงเป็นหนึ่งในผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก

ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นหมู่เกาะทอดตัวยาวเหนือจรดใต้ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบเล็กน้อย ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ก็ไม่ได้มีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ มิหนำซ้ำผลจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้สร้างความย่อยยับทั่วทุกระแหงในประเทศ แต่ ณ วันนี้ ญี่ปุ่นกลับกลายมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ญี่ปุ่นทำได้อย่างไร? คำตอบก็คือว่า ภายหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นใช้นโยบายเศรษฐกิจนำหน้าการทหาร เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหลังสงครามระบุไว้ว่า ญี่ปุ่นมีพันธสัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสงครามใดๆ ดังนั้นการจะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ ก็จะต้องสร้างให้ประเทศเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั่นเอง ซึ่งในช่วงระยะเวลาของการเริ่มต้นนโยบายนี้ ญี่ปุ่นมุ่งเน้นในทางด้านอุตสาหกรรมหนักเป็นพิเศษ จึงมีการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศจำนวนมาก และอย่างที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นชาตินักประดิษฐ์ที่เก่งกาจไม่แพ้ใครในโลก ดังจะเห็นได้จากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความล้ำสมัยในสงครามโลก ดังนั้นการนำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาปรับประยุกต์ด้วยการดัดแปลงแก้ไขและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับญี่ปุ่นแต่อย่างใด ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของญี่ปุ่นตามมาอีกมากมายภายหลัง

เทคโนโลยีสุดล้ำกับการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีการวิจัยและพัฒนาก้าวล้ำที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและมีเอกชนเป็นผู้ลงทุนเป็นหลัก จากข้อมูลของ OEDC หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการขอสิทธิบัตรและมีจำนวนสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งที่ขอจดสิทธิบัตร ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล วิศวกรรมการออกแบบ และเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงาน หากเราได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น แน่นอนว่าเราคงได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยีอันเกิดจากการวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่น เช่น อาคารทุกอาคารในญี่ปุ่นจะต้องสร้างบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันแผ่นดินไหว การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ชิงกันเซ็ง” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ญี่ปุ่นคิดค้นเป็นที่แรกในโลก การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการประกอบรถยนต์ที่มีความแม่นยำสูง และสามารถกำหนดปริมาณสายพานการผลิตที่แน่นอนได้ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีการนำเอาเทคโนโลยีกำจัดมลพิษจากการเผาไหม้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเข้มงวด และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากที่สุดในโลก เป็นต้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่อีกหนึ่งแรงสนับสนุนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี นั่นก็คืออัตลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีระเบียบวินัยสูง มีความละเอียดรอบคอบ และมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บังคับบัญชาและหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่ได้รับการสืบทอดมาจากสายเลือด “บูชิโด” หรือนักรบนั่นเอง ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เมื่อ

เทคโนโลยีสุดล้ำกับการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น

นำมาผสมผสานกับวิธีการทำงานเกิดเป็นอีกหนึ่งปรัชญาในการทำงานที่เรียกว่า “โมโนซูคูริ” (Monozukuri) นั่นก็คือการให้ความสำคัญและการใส่ใจในรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อย ตั้งแต่กระบวนการคิด การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นเกิดความพึงพอใจต่อลูกค้ามากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตและตัวสินค้าอยู่เสมอ เป็นผลทำให้ต้องมีการคิดค้นและพัฒนา

เทคโนโลยีใหม่ๆ จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและมีสินค้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแปลกใหม่และหลากหลายมากที่สุดในโลก แต่กว่าที่ญี่ปุ่นจะมีศักยภาพในการทำสิ่งเหล่านั้นได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ผ่าน 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ Imitation คือการลอกเลียนแบบ Improvement คือการทำให้ดีกว่าเดิม Initiative คือการริเริ่มพัฒนาให้แตกต่างไปจากเดิม Innovative คือการสรรค์สร้างให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่จากสิ่งที่มีอยู่เดิม และสุดท้าย Invention คือการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยสร้างมาก่อน ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นดูเหมือนว่าจะสะท้อนถึงวิวัฒนาการเหล่านี้ได้อย่างดี จึงขอยกตัวอย่างกรณีของโตโยต้า โดยแรกเริ่มเดิมที โตโยต้าเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเครื่องทอผ้า ต่อมาได้มีการสั่งนำเข้ารถยนต์จากยุโรปเพื่อนำมาถอดประกอบและศึกษา ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายบริษัทในญี่ปุ่นนิยมใช้ในช่วงเวลานั้น จากนั้นจึงทดลองสร้างรถยนต์ต้นแบบขึ้นมาด้วยตัวเอง จากนั้นค่อยๆ พัฒนาให้มีรูปแบบสอดคล้องกับความเป็นญี่ปุ่น และในที่สุดโตโยต้าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องยนต์ที่ทำงานผสมผสานระหว่างน้ำมันและไฟฟ้าเป็นรายแรกของโลก นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำเอานวัตกรรมการประกอบรถยนต์ด้วยแขนกลมาใช้เป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้โตโยต้าก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดของโลก

เทคโนโลยีสุดล้ำกับการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ณ เวลานี้ไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นและชาติตะวันตกอีกหลายชาติเท่านั้นที่กำลังแข่งขันกันในเรื่องของเทคโนโลยี แต่ตอนนี้คงต้องเหลียวมองดูละแวกใกล้เคียงอย่างประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ ที่ต่างก็กำลังมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามมาไม่ห่าง ณ เวลานี้ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าทั้งสองประเทศนี้ มีโมเดลในการพัฒนาเทคโนโลยีคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น ดังนั้นจึงน่าจับตามองต่อไปว่าญี่ปุ่นจะพัฒนาเทคโนโลยีของตนไปในทิศทางไหน