posttoday

ฉี่บ่อย-ตื่นบ่อย ส่อปัญหาสุขภาพหรือไม่

21 กรกฎาคม 2562

กลางคืนดึกดื่นต้องคอยตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ นอกจากจะขัดขวางการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกายอีกด้วย

กลางคืนดึกดื่นต้องคอยตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ นอกจากจะขัดขวางการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกายอีกด้วย

โดยปกติแล้วร่างกายของคนวัยทำงาน หรือตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยกลางคน จะสามารถกลั้นปัสสาวะได้ขณะหลับโดยไม่รู้สึกปวดและไม่ปัสสาวะราด ส่วนผู้สูงอายุอาจมีลุกเข้าห้องน้ำช่วงกลางคืนบ้าง 1-2 ครั้งนับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่คนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีชอบปวดปัสสาวะหลายครั้งในเวลากลางคืน หรือปวดจนรู้สึกตัวตื่นมาเข้าห้องน้ำขณะที่นอนหลับไปแล้ว อาจส่อแววสัญญาณของโรคบางอย่าง

ฉี่บ่อย-ตื่นบ่อย ส่อปัญหาสุขภาพหรือไม่

ฉี่บ่อยแค่ไหนถึงเข้าขั้นว่าผิดปกติ?

อาการฉี่บ่อยสังเกตได้ง่ายๆ จากจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติภายใน 24 ชั่วโมง คนเราจะปัสสาวะอย่างน้อย 6-8 ครั้ง แต่ถ้าหากมากกว่านี้อาจต้องกลับไปดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากการดื่มน้ำมาก หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีนมากเกินไปก็ทำให้ฉี่บ่อยได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำ อาจเป็นความผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

สาเหตุที่ทำให้ฉี่บ่อย

  • การใช้ยาและสารบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ การดื่มแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ รวมทั้งภาวะแคลเซียมสูงในร่างกายสูงผิดปกติ (Hypercalcemia) เนื่องจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เนื้องอกที่อุ้งเชิงกราน การรักษาด้วยรังสีบำบัดที่บริเวณเชิงกราน ช่องคลอดอักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในเพศชาย
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (UTI) กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ (Overactive Bladder Syndrome) และโรคไต
  • โรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด โรคหลอดเลือดสมอง ตับวาย
  • การตั้งครรภ์
  • ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ภาวะกระหายน้ำผิดปกติเนื่องจากอาการทางจิต (Psychogenic Polydipsia)

ฉี่บ่อย-ตื่นบ่อย ส่อปัญหาสุขภาพหรือไม่

ฉี่บ่อยตอนกลางคืนร่างกายกำลังฟ้องอะไร?

  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาจทำให้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น และรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยได้ ซึ่งมักเกิดร่วมกัน หากมีการติดเชื้อถึงส่วนบน หรือกรวยไตอักเสบ คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณช่วงหลังลงมาได้
  • โรคเบาหวาน เนื่องจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงจำเป็นต้องมีการขับน้ำตาลพร้อมกับน้ำออกทางปัสสาวะมาก ผู้ป่วยหลายคนจึงมีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน จนบางครั้งอาจมีปัสสาวะรดที่นอน และมักมีมดมาขึ้นบนที่นอนที่เปื้อน เนื่องจากปัสสาวะนั้นมีน้ำตาลปนออกมา ดังนั้น หากพบอาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดน้ำตาลในเลือดโดยเร็ว
  • มีเนื้องอกที่มดลูกหรือรังไข่ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ จนรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยๆ
  • ต่อมลูกหมากโต และไปเบียดทับทางเดินปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะต้องบีบตัวแรงขึ้น จนกล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้น ส่งผลให้เก็บปัสสาวะได้ปริมาณน้อยลง
  • มีความผิดปกติของไต ทำให้บางครั้งไตไม่สามารถดูดน้ำกลับสู่ร่างกายได้ ปริมาณปัสสาวะที่ขับออกจึงมากขึ้นตาม
  • โรคเบาจืด ซึ่งเป็นความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำมากและปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วน ยาขับปัสสาวะ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน ซึ่งสารเหล่านี้มีผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำมากเกินไป หากช่วงเวลาก่อนนอนเราดื่มน้ำมาก อาจทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะกลางดึกได้เป็นเรื่องปกติ

 

 

ภาพ freepik