posttoday

วัยทำงาน 15 ล้านคน กำลังเสี่ยงอ้วนลงพุง โรครุมเร้า ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย

11 กรกฎาคม 2562

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนวัยทำงานไทย 15 ล้านคน ระวังอ้วนลงพุง โรคซึมเศร้า ความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หมดไฟในการทำงาน พบเสี่ยงฆ่าตัวตายมากที่สุด แนะบริษัท-องค์กรสร้างแรงจูงใจเปลี่ยนพฤติกรรม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนวัยทำงานไทย 15 ล้านคน ระวังอ้วนลงพุง โรคซึมเศร้า ความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หมดไฟในการทำงาน พบเสี่ยงฆ่าตัวตายมากที่สุด แนะบริษัท-องค์กรสร้างแรงจูงใจเปลี่ยนพฤติกรรม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรศูนย์อนามัย ที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ภาคีเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพส่วนภูมิภาค บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ หลักสูตรผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงาน

วัยทำงาน 15 ล้านคน กำลังเสี่ยงอ้วนลงพุง โรครุมเร้า ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีวัยทำงานราว 15 ล้านคนอยู่ในระบบประกันสังคม และส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้หลายคนเกิดภาวะความเครียดสะสม กระทบต่อสุขภาพร่างกาย และทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะขาดการออกกำลังกาย และการกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

โดยพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิง และโรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า โรคอ้วนลงพุงและโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง พบคนวัยทำงานมีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนโรคเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และวัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยทั้งหมดทำให้เกิดภาระและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก

ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงานเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นกลุ่มวัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้พบคนวัยทำงานทั่วโลกอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป นอกจากเสี่ยงป่วยเป็นโรคแล้ว ยังเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ทำให้จิตใจมีสภาพหดหู่ เกิดภาวะวิตกกังวล และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้

ดังนั้น บริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ควรส่งเสริมให้พนักงานหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และสร้างแรงจูงใจ ด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกาย การบริหารจัดการอารมณ์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคได้ หากสุขภาพกายดีจะส่งผลให้มีสุขภาพใจที่ดีเช่นกัน ส่วนโรคซึมเศร้ามีแนวโน้ม จะนำไปสู่ความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย

 

 

ภาพ freepik