posttoday

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับหน้าฝนเพื่อคนรักสัตว์

10 กรกฎาคม 2562

หมอแนะเคล็ดลับดีๆ เพื่อคนรักสัตว์ พร้อมเผยวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราไม่ให้เป็นโรคผิวหนัง หมดปัญหาหนักอกกังวลใจในหน้าฝน

หมอแนะเคล็ดลับดีๆ เพื่อคนรักสัตว์ พร้อมเผยวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราไม่ให้เป็นโรคผิวหนัง หมดปัญหาหนักอกกังวลใจในหน้าฝน

เมื่อหน้าฝนมาเยือน นอกจากนำเอาความเย็นชุ่มฉ่ำมาฝากกันแล้ว ยังนำพาเอาสารพัดโรคมาฝากสัตว์เลี้ยงของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะการติดเชื้อต่างๆ เช่น ท้องเสีย โรคลำไส้อักเสบ โรคฉี่หนู เห็บหมัด โรคพยาธิเม็ดเลือด นอกจากนี้ ยังต้องระวังเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ตกใจเสียงฝนตกฟ้าร้อง แมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับหน้าฝนเพื่อคนรักสัตว์

ที่พบมากที่สุดในช่วงหน้าฝนก็คือ "โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง" ซึ่งเรื่องนี้ สพ.ญ.จิตรลดา ตีระลาภสุวรรณ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จะมาบอกเคล็ดลับ (ที่ไม่ลับ) เกี่ยวกับวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราเพื่อไม่ให้เป็นโรคผิวหนังที่อาจก่อปัญหาหนักอกกังวลใจได้

สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องวิธีการดูแล อยากให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังกันก่อน แน่นอนว่าถ้าเป็นช่วงฤดูฝน สาเหตุหลักมาจาก "ความชื้น" ซึ่งน้องหมาและน้องแมวของเราอาจติดเชื้อ เช่น ยีสต์ เชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงปรสิตภายนอกต่างๆ เช่น เห็บ หมัด ภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะมีอาการคัน เนื่องจากในอากาศมีความอับชื้น มีละอองฝุ่นที่น้องสัมผัสหรือสูดดมแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งหากที่อยู่อาศัยมีฝนสาดถึง หรือน้องๆ มีพฤติกรรมชอบออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน โรคผิวหนังก็สามารถมาเยี่ยมมาเยือนได้ง่าย

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับหน้าฝนเพื่อคนรักสัตว์

สายพันธุ์ไหนเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังมากที่สุด

สายพันธุ์ที่มีโอกาสจะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าใครเพื่อน ได้แก่ น้องหมา น้องแมวที่ขนยาว ขนหนา ใบหูปรก หรือน้องๆ ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ภาวะภูมิแพ้ เป็นต้น โดยจะสังเกตเห็นพฤติกรรมการเกา เลีย ถูไถ สะบัด มากเป็นพิเศษ สังเกตที่ผิวหนังจะแดง มีสะเก็ด มีตุ่มแดง ตุ่มหนอง ก้อนเนื้อ ขนร่วง มีกลิ่นตัว รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เจ้าของจะสังเกตได้ชัดในช่วงที่กำลังอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง

วิธีการรักษา

สำหรับวิธีการรักษา สัตวแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย โดยมีทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจเฉพาะด้านผิวหนัง เช่น การเก็บตัวอย่างเซลล์ผิวหนัง การเพาะเชื้อ การทดสอบภาวะภูมิแพ้ เมื่อทราบสาเหตุของอาการหรือโรคแล้ว สามารถทำการรักษาทั้งการให้ยาทาน ยาภายนอก การใช้แชมพูยา และการปรับอาหาร

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับหน้าฝนเพื่อคนรักสัตว์

เคล็ดลับจากคุณหมอ

ปิดท้ายด้วยเคล็ดลับดีๆ สำหรับเจ้าของน้องหมาและน้องแมว ซึ่งคุณหมอแนะนำไว้ว่า

  • ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพผิวหนังและขนของน้องๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • คอยสำรวจตามตัว โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเท้า ใต้ท้อง ขาหนีบ หู รอบก้น ที่มักเกิดความอับชื้นได้ง่าย
  • หากน้องมีพฤติกรรมชอบออกไปวิ่งเล่น ก็ต้องหมั่นทำความสะอาด การอาบน้ำอย่างถูกวิธี และเช็ดเป่าขนให้แห้ง
  • ดูแลที่นอนของน้องหมาและน้องแมวให้สะอาดถูกสุขลักษณะ

นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทำเป็นประจำ นั่นคือการป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ การอาบน้ำ ตัดเล็บ เช็ดหู บีบต่อมก้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

 

 

 

ภาพ freepik