posttoday

"วัณโรคหลังโพรงจมูก" โรคไม่พึงประสงค์ที่ไม่ส่งสัญญาณเตือน

26 มิถุนายน 2562

แพทย์วินิฉัย "วัณโรคหลังโพรงจมูก" คร่าชีวิต น้ำตาล เดอะสตาร์ จากการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคด้วยวิธี PCR

แพทย์วินิฉัย "วัณโรคหลังโพรงจมูก" คร่าชีวิต น้ำตาล เดอะสตาร์ จากการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคด้วยวิธี PCR

เชื่อเลยว่าคนไทยต่างไม่คุ้นกับ "วัณโรคหลังโพรงจมูก" อีกหนึ่งโรคหายากที่ทุกเพศทุกวัยมีความเสี่ยง ซ้ำร้ายอันตรายถึงตายโดยไม่มีอาการเตือนที่ชัดเจน เราจึงนำเรื่องราวของวัณโรคชนิดนี้มาตีแผ่ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

อะไรคือ "วัณโรคหลังโพรงจมูก"?

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า "วัณโรค" เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ซึ่งมีหลายชนิด เชื้อที่พบบ่อยที่สุดและเป็นปัญหาในประเทศไทยคือ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งติดต่อโดยการหายใจและสูดอากาศที่มีเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้คือมีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นานแต่ไม่ทนทานต่อแสงแดด หลังจากสูดอาการที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ส่วนที่มีขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ที่ปอด เชื้อจะถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากมีเชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะแบ่งตัวทำให้เกิดการติดเชื้อ ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคจะแพร่โดยเชื้อจนอยู่ในเสมหะที่มีขนาด 1-5 ไมครอน ซึ่งจะไปถึงถุงลมในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ เสมหะนี้จะเกิดจากการไอ จาม พูดหรือร้องเพลง เชื้อโรคอาจจะอยู่ที่กล่องเสียงหรือในปอด หากเสมหะมีขนาดใหญ่กว่านี้จะถูกติดที่เยื่อบุโพรงจมูกซึ่งตามปกติไม่ทำให้เกิดโรค

ร่างกายส่วนไหนไวต่อวัณโรค?

จากสถิติของประเทศไทยในปี 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด เช่น เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง มดลูก อัณฑะ หรืออาจจะบอกได้ว่าไปได้ทุกส่วนของอวัยวะในร่างกาย

สำหรับ "วัณโรคหลังโพรงจมูก" พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรค ซึ่งเป็นกรณี 1 ใน 100 ที่พบได้ค่อนข้างยากมาก นอกจากนี้ โรควัณโรคหลังโพรงจมูกยังมีการติดต่อกันได้น้อยกว่าวัณโรคชนิดอื่นๆ

อาการของวัณโรคหลังโพรงจมูก

จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก ไม่เหมือนกับโรควัณโรคปอดทั่วไปที่จะมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดออก เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ด้วย

การรักษาวัณโรคหลังโพรงจมูกเหมือนการรักษาวัณโรคปอดหรือไม่?

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบคำถามนี้ในการแถลงข่าวว่า "การรักษาวัณโรคหลังโพรงจมูกกับวัณโรคปอดไม่แตกต่างกันเลย คือพอเราได้ชิ้นเนื้อ เราก็ได้ไปทบทวนบทความทางวิชาการเกี่ยวกับภาวะของวัณโรคที่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูกของทั่วโลก ซึ่งจริงๆ เจอน้อยมาก และที่มีอาการเลือดออกอย่างกรณีน้ำตาล ยังไม่เคยมี ส่วนการรักษาเหมือนกัน คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ เกือบทั้งหมดไม่สามารถวินิจฉัยก่อนได้ล่วงหน้าว่าเป็นวัณโรค ส่วนใหญ่ต้องตรวจชิ้นเนื้อ คนส่วนใหญ่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เพราะว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ของคนไข้ จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโต"

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัณโรคหลังโพรงจมูก?

ในสังคมไทยเราตอนนี้ต้องบอกว่าหนึ่งในปัจจัยที่ไม่ทำให้วัณโรคหลุดไป เพราะเราอยู่ในห้องที่ปิดมากกว่าเดิม เราเข้าไปในอาคารต่างๆ ก็มีแต่ห้องแอร์ทั้งหมด และระบบเครื่องปรับอากาศปกติไม่ได้กรองเชื้อวัณโรค กรองเพียงอากาศทั่วๆ ไป ไส้กรองที่มันจะดักเชื้อวัณโรคได้ก็ต้องเป็นแบบพิเศษ ซึ่งมีราคาแพง จึงคาดการณ์ว่าวัณโรคไม่หมดไปก็เพราะเราอยู่ในสังคมปิด อยู่ในห้องที่อากาศไม่ได้หมุนเวียนถ่ายเท หากมีใครสักคนเข้ามาอยู่ก็มีโอกาสที่จะติด แต่ถ้าเรามีภูมิต้านทานปกติดีก็จะกำจัดมันได้ในระดับหนึ่ง

การป้องกันโรควัณโรค

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมากๆ พื้นที่พลุกพล่าน พื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรควัณโรค
  • ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่แออัด ควรใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันการสูดดมละอองฝอยน้ำลายจากการไอ จาม ของผู้ป่วย รวมถึงเชื้อโรคที่พบได้ในอากาศ
  • รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากภูมิต้านทานโรคในร่างกายทำงานได้ดี ก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคได้น้อยลงมาก
  • หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรควัณโรค
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารมี ไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

 

 

ภาพ freepik