posttoday

ฝุ่น PM 2.5 กับโรคสมองทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

12 เมษายน 2562

ความน่ากลัวของ PM 2.5 ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด ผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และเข้าไปยังสมองโดยตรง

ความน่ากลัวของ PM 2.5 ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด ผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และเข้าไปยังสมองโดยตรง


ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักฝุ่นขนาดจิ๋ว ที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20-30 เท่า ฝุ่น PM2.5 นี้ไม่ใช่เป็นมลพิษทางอากาศชนิดเดียวที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังมีก๊าซพิษอีกหลายอย่าง อาทิเช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), โอโซน (O3), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) รวมทั้งยังพบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่เราหายใจอีกด้วย

มากกว่า 90% ของประชากรทั่วโลกได้รับมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งปัญหาของมลพิษทางอากาศนี้ไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังพบตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกระจายเป็นวงกว้าง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่า ในทุกปีมีประชากรถึง 7 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการได้รับมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และโรคสมอง (World Health Organization)

ฝุ่น PM 2.5 กับโรคสมองทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

อันตรายจาก PM 2.5

ข้อมูลโดย เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า มลพิษที่เราหายใจเข้าไปไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด รวมทั้งผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และผ่านเข้าไปยังสมองโดยตรง หลังจากที่ฝุ่นจิ๋วเข้าไปยังสมองจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในสมอง มีการหลั่งสารอักเสบชนิดต่างๆ ทำให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ รวมทั้งยังพบว่าทำให้เกิดการก่อตัวของก้อนโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง (β-amyloid, α-synuclein, tau protein) ที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสัน (Calderón-Garcidueñas, 2015) (Calderón-Garcidueñas L., 2016) รวมทั้งยังทำให้สมองส่วนเนื้อขาว (White Matter) มีการฝ่อเหี่ยวมากกว่าคนปกติอีกด้วย (Chen J.-C., 2015)

การศึกษาในประเทศแถบยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ติดตามประชากรจำนวนมากกว่า 3 แสนคนเป็นระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 14 ปี (ESCAPE Project) พบว่า ในกลุ่มคนที่ได้รับ PM 2.5 มากกว่า 15 μg/m³ จะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ประมาณ 7% ต่อ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 5 μg/m³ (Beelen, 2013)


PM 2.5 กับสมอง

ในเด็กมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของระดับ PM 2.5 ต่อความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางสติปัญญา อาทิ มีสติปัญญาด้อยลง (Global Intelligence Quotient; IQ), การพัฒนาการช้าลง (ทั้ง Cognitive และ Psychomotor Development), มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit) และภาวะออทิซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68% (Suades-González, 2015) (Fu, 2019)

ในผู้ใหญ่พบว่า การได้รับฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า และทำให้เกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มได้ถึง 34% (Fu, 2019) รวมทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยทุก ๆ 10 μg/m3 ของระดับ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองประมาณ 13% ถ้าได้รับฝุ่นจิ๋วในระดับความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองอยู่แล้ว การได้รับ PM 2.5 ยังเป็นการเพิ่มอัตราการตายในคนกลุ่มนี้อีกด้วย (Lin, 2017)

คนที่ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพสมอง และเพิ่มอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดสมอง การรับประทานผักและผลไม้ (มากกว่า 3.5 serving ต่อวัน) จะช่วยลดผลกระทบของฝุ่นจิ๋วต่อร่างกายได้ เนื่องจากผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีในผักและผลไม้ (Lin, 2017) (Runhua, 2018)

ในกลุ่มคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งสมองจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งมลพิษในอากาศชนิดอื่น ๆ สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ โดยพบว่าในช่วงเวลาที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วอยู่ในระดับสูง เช่น ฤดูหนาว จะพบคนที่เป็นไมเกรนเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง จนต้องไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาที่ห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติประมาณ 4-13% (Chen C.-C., 2015)

จากข้อมูลทางการแพทย์ข้างต้นจะพบว่าฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งมลภาวะในอากาศชนิดอื่นๆ มีผลกระทบต่อร่างกายในหลายระบบ การหลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วในปริมาณสูง การใช้เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม การรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในจำนวนที่เพียงพอ รวมถึงความตระหนักในการช่วยลดมลภาวะในอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก

 

ข้อมูล : เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ

ภาพ : shutterstock, โรงพยาบาลกรุงเทพ