posttoday

พร้อมรับมือแค่ไหนกับวัย 30+ ลองมาดูแนวคิดให้ผ่านช่วง 'วิกฤติวัยกลางคน'

09 เมษายน 2562

"หยุดดีไหม หรือไปต่อ" คำถามกวนใจคนวัย 30+ และวิกฤติวัยกลางคน เมื่อเพื่อนร่วมรุ่นข้ามเรื่องวุ่นๆ ไปมีชีวิตที่ดีกันหมด แล้วเราจะทำอย่างไร

ภาพ : freepik.com

30 กว่าแล้ว "จะหยุดดีไหม หรือไปต่อ" คำถามกวนใจคนวัย 30+ และวิกฤติวัยกลางคน 

กล่าวได้เต็มปากเลยว่าคนในโลกปี 2019 อยู่ในสังคมโซเชียลมีเดียที่หลายคนต่างอวดความสุขของชีวิตออกมาให้คนอื่นได้เห็น เพื่อนคนนั้นมีชีวิตที่ดี คนนี้เที่ยวต่างประเทศทุก 3 เดือน คนโน้นได้เลื่อนขั้น อีกคนเป็นเจ้าของกิจการ แล้วเกิดการเปรียบเทียบในใจแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว จนบางคนรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต เริ่มไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซ้ำร้ายหนักไปกลายเป็นโรคซึมเศร้าเข้าจริงๆ หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีความคิดแบบนี้ เรามีแนวคิดดีๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติวัยกลางคนไปได้ และกลับมามีความสุข มีพลังที่จะใช้ชีวิตต่อไป

30+ วัยกลางคนไม่ใช่วิกฤติ

แท้จริงแล้ววิกฤติวัยกลางคนไม่ใช่ “วิกฤติ” แต่เป็นช่วงอายุที่โดนความคาดหวังจากสังคมเร่งรัด ทำให้เรามีสติหันมาพิจารณาชีวิตตัวเองมากขึ้น เหมือนเป็นการถอยมาตั้งหลัก ทำให้เราได้ตระหนักทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมา ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรใหม่ไม่มีคำว่าสายเกินไป และอย่ากลัวในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากคิดจะเริ่มใหม่ในวัย 30+

ลองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

คนในอายุวัยสามสิบกว่าๆ ถือว่าได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมามากพอตัว เราก็งัดเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลย เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาน่าจะทำให้เรารู้แล้วละว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร งานไหนคือ Passion สำหรับเรา งานไหนไม่ใช่ แค่ทำไปเพื่อเงินเดือน จึงเป็นโอกาสให้เราได้ “โฟกัส” กับการเลือกทางเดินในชีวิตมากขึ้น พร้อมย้ำเตือนตนเองว่า ถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรในวัยนี้ อาจไม่มีโอกาสอีกเลยก็เป็นได้

อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

การที่เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เคยหวังก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตนี้จะมีความสุขไม่ได้ อย่าลืมหาเวลาว่างให้กับตัวเองในการทำสิ่งที่ชอบ งานอดิเรกที่รัก ดื่มด่ำความสุขไปกับสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่เว้นแม้แต่งานง่ายๆ อย่างเช่นลุกขึ้นมาทำอาหารให้คนในครอบครัวทาน จัดเก็บโต๊ะ หรือล้างจาน งานเล็กๆ ที่เรามักจะผัดวันประกันพรุ่งเหล่านี้ สามารถเพิ่มพูนความสุขและช่วยให้เราโฟกัสกับชีวิตได้ดี หรือพาตัวเองไปพบผู้คนใหม่ๆ สถานที่ใหม่ๆ ออกเดินทางท่องเที่ยวบ้าง ผ่อนคลายสมองและจิตใจก็อาจช่วยให้เราได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ กลับมา

เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

เพราะแต่ละคนเกิดมามีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ต้นทุนในชีวิตก็ต่างกัน พอถึงวัยทำงานจังหวะชีวิตของแต่ละคนยิ่งไม่เหมือนกัน และนิยามความสำเร็จของแต่ละคนก็แตกต่างกัน หากเรากำลัง “วิ่งอยู่บนลู่ของผู้อื่น” เราจะไม่มีทางมองเห็นเส้นชัยของตัวเอง เราต้องรู้ให้ได้ว่านิยามความสำเร็จของเราตั้งเป้าไว้ที่ตรงไหน ความสำเร็จในแบบของเราเป็นอย่างไร วัดที่ความรวยหรือความสุข เมื่อเจอแล้วก็วิ่งให้สุดแรงเกิดไปเลย

ลงทุนเพื่อสุขภาพดีคือเรื่องดีที่สุด

ร่างกายคือสิ่งที่เราใช้อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่มีอะไหล่ เสียแล้วซ่อมยาก จึงต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากเราไม่รักษาสุขภาพ คนในวัยนี้ควรหันมาใส่ใจ เริ่มมุ่งมั่นออกกำลังกาย แล้วมองดูความมหัศจรรย์ของมัน พร้อมท้าทายและก้าวข้ามขีดจำกัดไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่าร่างกายของคนเราถูกออกแบบมาให้ทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ สุดท้ายแล้วร่างกายจะกลายเป็น “ภาระ” หรือ “ตัวช่วย” ของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการรักษาสุขภาพของเราในวันนี้นั่นเอง