posttoday

เมื่อเยาวชนรวมใจ ผืนป่าจึงยั่งยืน

25 มีนาคม 2562

ความสมบูรณ์ของป่าเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากวิธีการปลูกต้นไม้และสร้างเขตพื้นที่อนุรักษ์แล้ว การสร้าง “ฝาย” ก็เป็นหนึ่งในวิธีรักษาธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์

เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี

ความสมบูรณ์ของป่าเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากวิธีการปลูกต้นไม้และสร้างเขตพื้นที่อนุรักษ์แล้ว การสร้าง “ฝาย” ก็เป็นหนึ่งในวิธีรักษาธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ช่วยกักเก็บน้ำและชะลอการไหลเวียนของน้ำ ป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำลำธารได้ดี และยังช่วยรักษาแหล่งน้ำตามพื้นที่ต่างๆ
ในฤดูแล้ง

ทำให้นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาภาคเหนือ 10 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กว่า 100 คน พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าเชียงราย

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน ในโครงการ “สิงห์อาสากับภารกิจสร้างฝายชะลอน้ำ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าเชียงรายอย่างยั่งยืน” เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำโดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ลงพื้นที่พร้อมกันที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำ

วีระยุทธ บุญพยา ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เล่าถึงการร่วมโครงการนี้ว่า “ผมเป็นคนเชียงราย พบเห็นในหลายๆ พื้นที่มีน้ำแห้งบ้าง หรือน้ำท่วมบ้าง ฝายมีความจำเป็นสำหรับทุกพื้นที่ เพราะฝายเป็นตัวกักเก็บน้ำ หากที่ไหนน้ำแห้ง ฝายก็จะทำให้ที่แห่งนั้นมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันถ้าที่แห่งนั้นเกิดน้ำป่าไหลหลาก
ฝายก็สามารถกักกันเศษไม้ไม่ให้ไปสู่พื้นที่ของหมู่บ้านได้ด้วย ซึ่งครั้งนี้มีชาวบ้านมาร่วมด้วย นับว่าเป็นการชักจูงทำให้ชาวบ้านมองเห็นค่าของน้ำในพื้นที่ของเขาเอง และใช้น้ำอย่างมีคุณค่าที่สุด

เมื่อเยาวชนรวมใจ ผืนป่าจึงยั่งยืน

การรวมพลังสร้างฝายครั้งใหญ่นี้ เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 10 สถาบันในเขตภาคเหนือตอนบน ที่ได้นำนักศึกษาชั้นปีต่างๆ จำนวนกว่า 100 คน มาวางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อกระจายไปสร้างฝายชะลอน้ำตามแหล่งต้นน้ำ เมื่อมีน้ำอยู่ในพื้นที่ต่างๆความชุ่มชื้นของป่าและผืนดินจะกลับมา เพราะฝายชะลอน้ำนี้ก็จะช่วยรักษา ชะลอน้ำ และสร้างความชุ่มชื้นอย่างยั่งยืนให้กับป่าได้

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่พวกเราทำเป็นประจำทุกปี และมีพี่ๆ น้องๆ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันทำภารกิจนี้ และช่วยกันรักษาความสมบูรณ์ให้ผืนป่า จ.เชียงราย

เมื่อเยาวชนรวมใจ ผืนป่าจึงยั่งยืน

ในขั้นตอนการทำ นอกจากนักศึกษาแล้วยังมีชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายร้อยคนมาร่วมกันสร้าง ภาพที่เห็นแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุดคือการที่ได้เห็นทุกคนต่อแถวเพื่อเป็นเส้นทางในการลำเลียงวัสดุที่ใช้ในการสร้างฝายลงสู่ลำห้วยป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง โดยวัสดุที่ใช้หาได้จากธรรมชาติในพื้นถิ่น

เริ่มจากการตีไม้และปักเสาระบุตำแหน่ง ใช้หินวางเรียงตัวกันเป็นแนวฝาย แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อย เสื้อผ้าเปียกปอน และมีเหงื่อไหลท่วมกาย แต่เหล่านักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาและชาวบ้านก็ไม่ย่อท้อ เดินหน้าสร้างฝายกันอย่างแข็งขัน เป็นภาพของความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อมนุษย์และธรรมชาติ โดยมีเจ้าบ้านที่ได้รับประโยชน์อย่างชาวบ้านมาช่วยเหลือและเป็นกำลังใจอยู่ตลอดเวลา

เราสร้างฝายแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จำนวน 15 ฝาย ตลอดระยะทางประมาณ 100 เมตร ซึ่งในพื้นที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่มีประชากรอาศัยกว่า 70 ครัวเรือน จำนวนทั้งหมด 200 คน จะได้รับประโยชน์ของการชะลอน้ำและเก็บกักน้ำ คือ รักษาความชุ่มชื้นของผืนป่าต้นน้ำและเพื่อใช้บริโภคและอุปโภคยามขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง”

ในขณะที่ นิติรัฐ สิทธิชัยวงค์ หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมกันสร้างฝาย จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ เล่าว่า “น้ำคือชีวิต การสร้างฝายจึงมีความจำเป็นมาก ฝายช่วยในการกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ในฐานะคนในพื้นที่ภาคเหนือ จะเห็นตลอดว่า ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องน้ำไม่น้อย ทั้งน้ำท่วมจากฝนที่ตกมาก
เกินไป หรือปัญหาภัยแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการเกษตร กิจกรรมการสร้างฝายนี้ทำให้เรารู้ว่าน้ำมีประโยชน์แค่ไหน

เมื่อเยาวชนรวมใจ ผืนป่าจึงยั่งยืน

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างฝาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้มาทำแล้วทำให้เราเห็นประโยชน์ และเปิดโลกใหม่ให้กับเราเองด้วย โดยเฉพาะปัญหาของคนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความต้องการฝาย เราเองที่อยู่พื้นที่ด้านล่างที่มีการใช้น้ำจากท่อประปา แต่คนที่นี่ใช้น้ำจากฝาย หาก
น้ำแห้งจริงๆ ชาวบ้านก็จะไม่มีน้ำใช้ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ รู้ถึงผลกระทบอย่างแท้จริงหากเราไม่มีน้ำใช้”

อภิลักษณ์ บุญสูง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในตัวแทนเล่าเสริมเพื่อนๆ ว่า ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เกิดภัยแล้งมากยิ่งขึ้น บางพื้นที่ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ครอบครัวทำการเกษตรพบปัญหาภัยแล้ง น้ำที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีผลผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งการสร้างฝายจะช่วยกักเก็บน้ำ เกษตรกรมีน้ำใช้ในฤดูร้อนและฤดูแล้ง อยากให้มีการสร้างฝายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป รวมถึงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และรักษาธรรมชาติมากยิ่งขึ้นด้วย

เมื่อเยาวชนรวมใจ ผืนป่าจึงยั่งยืน

ผมได้มีโอกาสไปออกค่ายกับสิงห์อาสาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาสร้างฝาย รู้สึกดีใจที่ได้มาสร้างฝาย ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ต่อไป ได้ประสบการณ์ในการทำงานใหม่ๆ พบปะกับเพื่อนต่างสถาบัน รู้จักการเข้าสังคม ทำให้ผมเดินออกจากกรอบของตัวเองได้”

ปิดท้ายที่ สุวัฒน์ สิทธิบุญ ชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยง พูดถึงสิ่งที่น้องๆ ทำให้กับพวกเขาว่า “เมื่อก่อนป่าต้นน้ำที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยงมีน้ำไม่พอใช้ในการอุปโภคและบริโภคในหน้าแล้ง ปลายังไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกปี ผมและชาวบ้านรู้สึกดีใจที่มีน้องๆ เยาวชนเหล่านี้ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมการสร้างฝาย
รวมถึงคณะอาจารย์ หน่วยงาน และนักศึกษาทุกท่าน ที่มาร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งป่าต้นน้ำยังต้องการหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนอีกมาก

เมื่อมีฝายจะช่วยชะลอความชุ่มชื้นของน้ำให้กับต้นไม้และลำห้วยในหมู่บ้านได้ ในหลายๆ ชุมชนต้องการฝายเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรเกี่ยวกับกาแฟและชา ทำให้ต้องใช้น้ำจำนวนมาก หากมีการชะลอน้ำ ชาวบ้านก็จะมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งชุมชนเราเป็นคนต้นน้ำ เราดูแลป่าจากต้นน้ำด้วย เพื่อให้คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีน้ำใช้ได้ต่อไป