posttoday

หมด 'Passion' อย่าเพิ่งด่วนลาออก

21 มีนาคม 2562

เมื่อไฟมอดถึงคราวหมด "Passion" กับงานที่กำลังทำอยู่ หรือรู้สึกสับสนสมองสองซีกตีกันยุ่ง ก็เกิดคำถามว่าจะจัดการกับชีวิตตัวเองต่อไปอย่างไร

เมื่อไฟมอดถึงคราวหมด "Passion" กับงานที่กำลังทำอยู่ หรือรู้สึกสับสน สมองสองซีกตีกันยุ่ง ก็เกิดคำถามว่าจะจัดการกับชีวิตตัวเองต่อไปอย่างไร

สำหรับคนทำงานอาจมีบ้างที่จู่ๆ ก็รู้สึกหมด "Passion" กับงานที่กำลังทำอยู่ เพราะค้นพบว่าตัวเองมีสิ่งที่ต้องการทำมากกว่า หรือรู้สึกสนใจมากกว่า จนสับสนมึนงงกับชีวิตและเกิดคำถามในใจว่าจะจัดการชีวิตตัวเองต่อไปอย่างไรดี

หมด 'Passion' อย่าเพิ่งด่วนลาออก

จากงานวิจัยใหม่ของ GoBankingRates ที่ปรึกษาข้อมูลทางการเงินในลอสแองเจลิส ฉบับตีพิมพ์เดือน ม.ค. 2019 พบว่า 23% ของชาวอเมริกัน พวกเขาเสียใจที่เปลี่ยนงานหรือตัดสินใจเบนเข็มเปลี่ยนอาชีพ แม้ว่าเหล่าพนักงานจะมีเหตุผลในการลาออกที่แตกต่างกันหลากหลายประการ แต่กลับไม่มีปัจจัยใดๆ โดดเด่น งานวิจัยชี้ว่า ผู้ชายและผู้หญิงเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ผู้ชาย 16% มีแนวโน้มที่จะออกจากงานเพราะต้องการเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงราว 14% ลาออกเพราะต้องการหนีสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงใจในที่ทำงาน

ดังนั้น หากคุณกำลังคิดที่จะเปลี่ยนงาน และไม่อยากมานั่งเสียใจทีหลัง อย่าเพิ่งรีบร้อนลาออก ลองเช็กความต้องการของตัวเองด้วยการตอบคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ก่อน

หมด 'Passion' อย่าเพิ่งด่วนลาออก

1.จริงๆ แล้วเราอยากทำงานแบบไหน
เมื่อมีงานมากมายหลายประเภท ต้องถามตัวเองก่อนว่า งานแบบไหนที่เราอยากจะทำ บางคนอาจจะเลือกงานประจำเต็มเวลาเหมือนเดิม เนื่องจากมีความมั่นคงทั้งในแง่ของรายได้และโอกาสที่จะก้าวหน้า ซึ่งเป็นทางเลือกที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือการเปลี่ยนงานจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง แต่หากคุณกำลังมองหาเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น หรือ โอกาสที่จะได้งานทำทันที งานเต็มเวลาอาจไม่ใช่คำตอบ ในปี 2018 ชาวอเมริกันกว่า 56.7 ล้านคน หันไปเป็น “ฟรีแลนซ์” แต่งานประเภทนี้ย่อมมีความเสี่ยงกว่างานประจำ แต่มีความยืดหยุ่น ระยะสั้น และรายได้ดี

2.สถานะทางการเงินพร้อมไหม
เมื่อคิดจะเปลี่ยนงาน อีกหนึ่งสิ่งที่ควรคำนึงคือ สถานะทางการเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลาออกจากงานในระหว่างที่ยังไม่ได้งานใหม่ หากไม่มีทุนสำรองไว้ จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ก่อความเครียดให้กับคุณไม่น้อย Nerdwallet บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ในซานฟรานซิสโก แนะนำว่า ให้สำรองค่าครองชีพไว้อย่างน้อย 6 เดือน หากคุณวางแผนที่จะลาออกโดยไม่ได้หางานใหม่รองรับไว้ ส่วนผู้ที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ควรจะมีเงินทุนสำรองไว้เป็นอย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันความล้มเหลวทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น

3.แผนนี้มีศักยภาพในระยะยาวหรือไม่ 
สำหรับพนักงานประจำ ควรจะศึกษาโปรไฟล์บริษัทที่กำลังจะไปสมัคร ลองเข้าไปเช็กรีวิวในเว็บไซต์สมัครงาน เพื่อดูว่าพนักงานคนปัจจุบันและอดีตคิดเห็นอย่างไรกับองค์กร มีความเห็นเชิงลบมากน้อยแค่ไหน โดยหากมีพนักงานอ้างถึงโอกาสเติบโตที่จำกัด ก็ให้ตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ส่วนผู้ที่เลือกจะเป็นฟรีแลนซ์ หรือผู้ประกอบการ จะต้องตอบคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้นเกี่ยวกับแผนงานและธุรกิจต่างๆ อย่างการทำวิจัยคำถามที่สำคัญที่สุด 2 ข้อ คือ เราจะนำเสนออะไร และเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่า?


ไม่ว่าคุณจะออกจากงานเก่าด้วยเหตุผลอะไร เพิ่มเงินเดือน ความยืดหยุ่น หรือทั้งสองอย่าง อย่าโบยบินจนกว่าคุณจะพร้อม ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองเพื่อวางแผนอย่างรัดกุม สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ คุณก็สามารถส่งจดหมายลาออกได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องมานั่งกุมขมับเสียใจในภายหลัง

 

 

ภาพ เอเอฟพี