posttoday

สุนทรีย์ ชุ่มมงคล ภาษาไทยต้องใช้ให้ถูก

19 มีนาคม 2562

ในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกคนมุ่งหน้าเรียนภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่ามีอนาคตกับการทำงานมากกว่า การใช้ภาษาไทยของคนรุ่นใหม่

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกคนมุ่งหน้าเรียนภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่ามีอนาคตกับการทำงานมากกว่า การใช้ภาษาไทยของคนรุ่นใหม่จึงเริ่มตกต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ทั้งที่จริงแล้วภาษาไทยยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดแรงงานอีกหลายส่วน

“เราควรใช้ภาษาไทยให้ถูกหลัก ตั้งแต่การพูดไปจนถึงการเขียน เราอาจจะคิดว่าเราพูดเล่นๆ กับเพื่อนจะใช้คำอะไรก็ได้ พิมพ์คุยในไลน์ใช้คำใหม่ซึ่งกำลังนิยม ทำแบบนั้นก็ได้ไม่ว่ากัน แต่เมื่อถึงเวลาทำงานต้องใช้ให้ถูก บ่อยครั้งที่เราพบว่าพูดผิดก็เขียนผิดเสมอ ดังนั้นคนที่เก่งภาษาไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไม่แพ้คนที่เก่งภาษาอังกฤษเลย” สุนทรีย์ ชุ่มมงคล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวไว้เช่นนั้น

สุนทรีย์ เป็นอีกหนึ่งคนที่เชื่อว่าการเรียนภาษาไทยนั้นสำคัญไม่แพ้การเรียนวิชาอื่นๆ จึงเลือกเรียนเอกภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และนำความรู้ด้านภาษาไทยที่มีมาทำงานพิธีกร ผู้ประกาศข่าว อาจารย์สอนภาษาไทย และวิทยากรอบรมให้ความรู้ด้านการพูด การเขียนตามหลักภาษาไทยอีกหลายแห่ง

“เหตุผลที่เราเรียนภาษาไทยก็น่าจะมาจากคุณแม่ท่านส่งเสริมในเรื่องของการเรียน โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนภาษาไทย ท่านบอกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แม่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มงวด ลูกทุกคนต้องพูดชัดถ้ารอเรือพูดไม่ชัดจะถูกตี ท่านค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการใช้ภาษาไทยอย่างมาก

ย้อนกลับไปตอนสอบเอนทรานซ์สมัยก่อนมีให้เลือก 4 อันดับ อันดับที่ 1, 2 และ 4 เราเลือกนิติศาสตร์ ส่วนเอกภาษาไทยเลือกไว้เป็นอันดับ 3 ที่เลือกแบบนั้นเพราะมีคนบอกว่าคนเรียนนิติศาสตร์ ต้องลุ่มลึกทางภาษา ปรากฏว่าเราสอบติดอันดับ 3 แต่เราก็ทำได้ดีกับการเรียนภาษาไทยมาตลอด และมักจะเจอกับคำถามว่าเรียนภาษาไทยแล้วจะไปทำอะไร เราจะเรียนไปทำไมในเมื่อเราเองก็ใช้ภาษาไทยกันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เรียนไปไม่กลัวตกงานเหรอ

มาถึงวันนี้แล้วบอกได้เลยว่าเราเรียนภาษาไทยมาไม่กลัวตกงาน ทั้งชีวิตนี้ไม่เคยตกงานแล้วก็ยังได้ใช้วิชาความรู้ด้านภาษาไทยในการทำงานด้านอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เพราะว่าในประเทศไทยภาษาไทยคือภาษาแม่ เราต้องเก่งภาษาไทยก่อนที่จะเก่งภาษาอังกฤษ

ทุกวันนี้มีงานอีกหลายๆ อย่างที่ต้องการความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย คิดอย่างง่ายๆ ถ้าเกิดอยากเป็นครูเราก็แค่สอบวุฒิครูเพิ่มอีก 1 ใบ หรือผันตัวไปเป็นผู้ประกาศข่าว ทำงานในสายสื่อสารมวลชน คนทำเนื้อหาลงสื่อต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย ก็ต้องมีความจำเป็นของคนที่มีความรู้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเสมอ ถึงจะทำงานนี้ในลักษณะนี้ได้ดี

แต่ในปัจจุบันมีการใช้ภาษาไทยในทางที่ผิดหลายๆ อย่างจนน่าเป็นห่วง ตั้งแต่การสะกดผิด การเขียนผิด ทำให้สื่อความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และพบบ่อยมากกับคนรุ่นใหม่ จนกลายเป็นว่าคนที่ใช้ภาษาไทยได้ดีในยุคปัจจุบันกลายเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ เทียบเท่ากับการใช้ภาษาอังกฤษได้เลย

เราเป็นคนไทยเราอยู่เมืองไทยเราก็ต้องใช้ภาษาไทยถูกหลักภาษา ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราคุยงานกับผู้ใหญ่ ใช้คำว่า “จารย์” ซึ่งเราก็มองคำว่า “จารย์” มาจากคำว่า “อาจารย์” แต่ทำไมเราไม่ใช่คำว่า “อาจารย์” ให้สื่อความหมายที่เข้าใจชัดเจน บางทีเราอาจจะมีความรู้สึกว่าเราคุยกันนานแม้จะสนิทกันแต่บางทีพิมพ์คุยก็ต้องมีเรื่องของการใช้ระดับของภาษาบ้าง มีเรื่องมารยาทของภาษา เพราะภาษาไทยเรามีคำศัพท์ที่มีระดับชั้นของการใช้อย่างถูกต้อง

ที่จริงแล้วเราไม่ใช่คนหัวโบราณ ภาษาไทยเราเป็นภาษาที่ยังไม่ตายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรารับได้ แต่ช่วยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหน่อยได้ไหม ไม่ใช่ใช้คำว่า “ชิมิ” “ชะมะ” มีการเกิดคำใหม่ๆ ขึ้นมา พอเด็กใช้ภาษาพูดแบบนี้ก็ติดนำมาใช้ในภาษาเขียนก็กลายเป็นว่าเป็นการเขียนผิด ขนาดพูดยังงง พอจะใช้ภาษาให้ถูกก็เลยกลายเป็นวิบัติไปหมด

ลองนึกภาพถ้าคนในรุ่นเราที่ผ่านการฝึกการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องหมดไป ก็จะเหลือแต่เด็กรุ่นหลังที่ใช้ภาษาวิบัติกันไปหมด เราจะงงๆ กับการตีความ ยิ่งในโลกยุคใหม่ใช้การคุยไลน์กันเป็นหลัก แล้วใช้ภาษากันแบบไม่รู้จักลำดับชั้นของภาษาหรือการใช้คำให้ถูกต้อง ไม่มีมารยาททางภาษา แล้วจะสื่อความกันให้รู้เรื่องได้อย่างไร

โดยเฉพาะเรื่องของการใช้วรรณยุกต์มีความผิดเพี้ยน ที่เราพบเห็นได้บ่อยมาก ใส่วรรณยุกต์ผิดความหมายก็ผิด การใช้คำที่ต้องใช้ “ร” กับ “ล” นี่ก็เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเหมือนกัน หรือคำว่า คะ ค่ะ ถ้าเห็นแบบนี้เวลาเราสอนเด็กว่าไม่ถูกต้อง มักจะได้ยินคำตอบกลับมาว่า “ก็ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญ อ่านก็เข้าใจ นี่ก็น่าจะจบนะ” แบบนี้เราจะเหลือความถูกต้องของภาษาไว้ตรงไหน ต่อไปก็คงไม่ต้องมีหลักภาษา

ซึ่งหลักภาษาไทย ก็เหมือนแกรมม่าในภาษาอังกฤษซึ่งเจ้าของภาษายังเข้มงวดเรื่องการสะกดอยู่เลย แต่ภาษาไทยของเราเองกลับไม่ให้ความสำคัญกับการใช้หลักภาษาให้ถูกต้อง เหมือนกับคนไทยพยายามพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งก็พอฟังเข้าใจ แต่ถ้าจะเอาให้เกียรติภาษาเขาจริงๆ ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง พูดได้กับพูดเป็น ศักดิ์ศรีต่างกัน ภาษาไทยก็เหมือนกัน

หากคิดอยากจะใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เราต้องใช้ให้อยู่ในระดับมาตรฐานเป็นกิจวัตรประจำวัน เริ่มต้นคือการฝึกพูดให้ถูก ถ้าพูดได้ถูกหลัก การเขียนก็ไม่ใช่เรื่องยาก มารยาทของภาษาภาษาไทยก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เรามีลำดับชั้นที่บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถและมารยาทในการใช้ภาษาของบุคคลนั้น

อย่าคิดว่าเราจะพิมพ์จะพูดกับผู้ใหญ่อย่างไรก็ได้ไม่เห็นจะมีใครว่า แต่เราอย่าลืมว่าการใช้ภาษาสะท้อนการอบรมของบุคคลนั้นจากครอบครัว ยิ่งทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทยหรือต้องใช้ภาษาไทยในการทำมาหากินด้วยแล้วก็ควรจะรักษามาตรฐานการใช้ภาษาที่ถูกต้องเอาไว้ด้วย

อีกอย่างหนึ่งก็คือคนที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาไทยไม่ได้มีอยู่ดาษดื่น ไม่ได้หากันง่ายๆ อย่าคิดว่าภาษาไทยเป็นเรื่องง่ายเราพูดเราเขียนกันอยู่ทุกวัน แต่หากเข้ามาศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้ว่าภาษาไทยนั้นมีความยากอยู่ในตัว และคนที่เก่งภาษาไทยหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยยิ่งหาได้ยากกว่า

เวลาเพื่อนชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยถามว่า ชื่อนี้แปลว่าอะไร ถ้าเราตอบไม่ได้ เขาจะมองว่าทำไมคนไทยที่เป็นเจ้าของภาษาถึงไม่รู้ ถ้าเกิดเราไม่มีความรู้ทางด้านภาษาไทย เราจะไม่สามารถแยกคำประสมแล้วสื่อความหมายของคำนั้นออกมาได้

ส่วนตัวคิดว่าภาษาไทยที่มีการใช้อย่างวิบัติในทุกวันนี้เกิดจากความละเลยการให้ความสำคัญ คิดว่าพูดไปคุณก็เข้าใจ ก็ไม่เห็นว่าจะต้องใช้ถูกหลักอะไรมากมาย แต่เขาลืมคำนึงถึงข้อหนึ่งว่าถ้าเกิดเขาละเลยการใช้อย่างถูกต้อง แล้วพอถึงเวลาใช้จริงเขาไม่รู้ว่าที่ถูกต้องนั้นต้องใช้อย่างไร และในขณะเดียวกันเขาจะไม่สามารถสอนลูกหลานคนรุ่นหลังว่าการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นการใช้ภาษาไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะฝึกฝน ด้วยการพูดให้ชัด เขียนให้ถูกต้อง สื่อสารให้ครบรูปประโยคแล้วเราจะเป็นอีกคนหนึ่งที่พบว่าการใช้ภาษาไทยที่ดี จะทำให้เราก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ไม่แพ้คนที่เรียนภาษาอังกฤษเลย”

สุนทรีย์ ชุ่มมงคล ภาษาไทยต้องใช้ให้ถูก