posttoday

ผู้หญิง ไม่ใช่อาชญากร

19 มีนาคม 2562

ประเด็นเรื่องการ “ยุติการตั้งครรภ์” ในสังคมไทยยังเป็นเรื่องบอบบางและละเอียดอ่อน

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า

ประเด็นเรื่องการ “ยุติการตั้งครรภ์” ในสังคมไทยยังเป็นเรื่องบอบบางและละเอียดอ่อน

หากเมื่อ “การตั้งครรภ์” เกิดจากความไม่พร้อม ความผิดพลาด ความไม่รู้ การถูกกดขี่ข่มเหง และ “ผู้หญิง” ต้องการยุติการตั้งครรภ์ หรือทำแท้ง กลายเป็นผิดกฎหมาย กลายเป็นแม่ใจยักษ์

หลายหน่วยงานประสานเสียงขอสังคมเปลี่ยนมุมคิด ผู้หญิงท้องไม่พร้อมคือผู้ป่วย ขอแพทยโรงพยาบาลเปิดทางเลือก เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ขับเคลื่อนสังคมเข้าใจผู้หญิงท้องไม่พร้อม

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง ให้คำปรึกษาผู้หญิงระหว่างและหลังยุติการตั้งครรภ์ เปิดเผยว่า ผู้หญิงไม่ได้ต้องการแค่อยากยุติการตั้งครรภ์ จะต้องไปที่ไหน แต่ผ่านเวลานั้นมาแล้วเขาจะทำอย่างไร “เพราะสังคมกดดันมาก เราให้คำปรึกษา ให้กำลังใจผู้หญิง และเรามีหน้าที่สร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย”

ยิ่งใกล้ช่วงเลือกตั้ง สุพีชาอยากฝากถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาลว่า การท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้หญิง “ผู้หญิงได้เข้ารับบริการที่ไม่ปลอดภัย เกิดการเจ็บป่วย มีภาวะแทรกซ้อนทุกวัน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือป้องกันได้ ควรจะมีแนวทาง ดูแลเรื่องสุขภาพผู้หญิงเกี่ยวกับเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ เรื่องของการทำแท้งปลอดภัย”

จากประสบการณ์ทำงาน ความต้องการยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหมู่ของวัยรุ่น จริงๆ วัยรุ่นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งพวกเขาถูกตีตราไปแล้วว่า เด็กใจแตก

หากแต่ผู้หญิงที่อยากยุติการตั้งครรภ์ มีทั้งกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงที่แต่งงานมีสามี มีลูกแล้ว ทว่าเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด แล้วเธอไม่พร้อมที่จะมีลูก

“เราพูดถึงความไม่พร้อม ไม่ว่าผู้หญิงจะอายุเท่าไร หากไม่พร้อมปุ๊บ ปัญหาที่ตามมา คือคุณภาพชีวิตของเด็ก

เราทำงานให้คำปรึกษา เราได้รับฟังปัญหาของผู้หญิง พอคุยจนจบ ก็จะถามว่า เธอคุมกำเนิดยังไงซึ่งไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย คือ ผู้ชายไม่ยอมใช้ สุดท้ายปัญหามาตกหนักที่ผู้หญิง ป้องกันก็ป้องกันอยู่คนเดียว พอมีลูกแล้วไม่พร้อมผู้ชายก็สะบัดหน้าหนี

การท้องมีหลายสาเหตุ การถูกล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งถูกสามีทุบตี หอบลูกหนีมาอยู่กับน้องสาว โดนสามีน้องสาวข่มขืน เขาไม่แจ้งความ เพราะผู้ชายบอกว่า เขาติดคุกน้องสาวเขาจะอยู่ยังไง ใครจะหาเลี้ยง บางคนเกิดเหตุแบบนี้ก็อายไม่กล้าแจ้งความ มันเชื่อมโยงไปเรื่องกฎหมาย

ผู้หญิงทุกคนควรได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และถูกกฎหมาย เรามองว่าเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรม ถ้าเอาเรื่องกฎหมายมาจับ เราเลยบอกว่ากฎหมายนี้ไม่แฟร์ กฎหมายอาญา มาตรา 301 ผู้หญิงใดทำให้ตัวเองแท้ง หรือยอมให้คนอื่นแท้งมีความผิด อ้าวแล้วผู้ชายไปไหน แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ให้ความเท่าเทียมกันทุกเพศ แต่กฎหมายนี้เอาผิดผู้หญิงเท่านั้น

ทิศทางของเราไม่ได้ต้องการลากคอผู้ชาย เราไม่ได้บอกเรื่องนี้เป็นทางอาญา เป็นอาชญากรรม แต่เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพ ผู้หญิงควรได้รับการรักษาทางการแพทย์”

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้และการเสริมความเชื่อมโยงกันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกเครือข่ายให้กับทีมงานอาสา (Referral system for Safe Abortion : RSA) ซึ่งเป็นเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีจิตอาสาดูแลวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อให้วัยรุ่นและผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้มีทางเลือกที่ปลอดภัย

“การยุติการตั้งครรภ์ เราต้องมองในมุมคนที่ทำงานตรงนี้ มีพ่อแม่พาลูกมากราบเท้าคุณหมอเลยนะ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันคือเขาไม่พร้อมตั้งครรภ์ เขาพลาดไป ไม่ว่าจะสาเหตุอะไรก็ตาม

แล้วการยุติการตั้งครรภ์ต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนให้บริการ ถ้าคนท้องไม่มีทางออก ก็ไปทำแท้งเถื่อน เสียชีวิตหลายคน

ต้องเปลี่ยนทัศนคติทางสังคม ไม่มองผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ เป็นแม่ใจยักษ์ วัยรุ่นใจแตก ให้โอกาสเขามีที่ยืนในสังคม

ในเรื่องของสังคมเราต้องช่วยกันสื่อสาร แม้แต่หลวงพ่อประยุทธ์ ธัมยุทโต ยังบอกว่า การทำร้ายชีวิตมันเป็นบาป แต่เจตนาของการทำเพื่อช่วยให้คนพ้นทุกข์ก็เป็นบุญ”

เพื่อเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สสส. ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ให้คนทุกเพศทุกวัยพกและใช้ถุงยางอนามัย

สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สามารถติดต่อสายด่วน 1663 เพื่อขอรับคำปรึกษา และช่องทางการติดต่อเครือข่าย RSA ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชม.

ผู้หญิง ไม่ใช่อาชญากร

ผู้หญิงควรมีโอกาสเลือก

เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีแล้ว หากยังไม่เป็นที่รับรู้และยอมรับกันในวงกว้าง

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภาและกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมี 54 ประเทศที่อนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ ครอบคลุมประชากร 61 เปอร์เซ็นต์ของโลก

แต่ละปีทั่วโลกมีการยุติการตั้งครรภ์ราว 56 ล้านคน 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นการยุติที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงมาก แต่หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามมาตรฐานทางการแพทย์ มีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก

ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงคลอดธรรมดามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยถึง 13 เท่า”

การยุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่ได้สนับสนุนให้ผู้หญิงทำแท้ง หากแต่เป็นการลดปัญหาการทำแท้งเถื่อน และป้องกันการเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน

ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

หากมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้น จะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอย่างครอบคลุมและรอบด้าน เนื่องจาก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญา และข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง

ได้แก่ 1.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายของมารดา 2.ส่งผลต่อสุขภาพจิตของมารดา 3.ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรงหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง

4.การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการข่มขืน เกิดจากการล่อลวงบังคับ ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเด็กจะสมยอมก็ตาม และอนุญาตให้ทำโดยแพทย์ในคลินิกได้กรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่านี้ต้องทำโดยแพทย์และภายในโรงพยาบาล

“วิธีการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทำได้โดยการใช้เครื่องดูดมดลูกสุญญากาศ หรือการกินยา ซึ่งเป็นการใช้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในระยะแรกที่อายุครรภ์น้อย

ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยานี้ตั้งแต่ปี 2557 และมีระบบควบคุมเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยสถานพยาบาลที่จะมีและใช้ยาได้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย และต้องผ่านการอบรมการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ มีการทำบัญชีการเบิกจ่ายยาอย่างรัดกุม

ปัญหาจากการที่แพทย์ปฏิเสธการรักษานั้น ทำให้กลุ่มหญิงท้องไม่พร้อมต้องหันไปพึ่งการทำแท้งเถื่อนที่เป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ตกเลือด มดลูกทะลุ ไตวาย

ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปี 2551 และ 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งถึงปีละกว่า 3 หมื่นราย และคาดว่าจะมีอัตราตายสูงถึง 300 คนต่อแสนประชากร ซึ่งแพทย์มีส่วนสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาแท้งไม่ปลอดภัยนี้ได้

การผลักดันดังกล่าวไม่มีเจตนาส่งเสริมให้มีการทำแท้งอย่างกว้างขวาง แต่บางคนมีความจำเป็นบางอย่างในชีวิตที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ก็ต้องให้เขาได้รักษาอย่างปลอดภัย

จึงอยากให้สูตินรีแพทย์รวมทั้งแพทย์ทั่วไปเข้าใจในเรื่องนี้และเปลี่ยนมุมมองว่า หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์และเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายอนุญาตนั้นเป็นผู้ป่วย จำเป็นที่แพทย์ต้องให้การช่วยเหลือและรักษาให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย”

ผู้หญิงควรมีโอกาสได้เลือกทางออกของชีวิต ได้รับการเยียวยารักษาที่ปลอดภัย และอย่างเข้าใจ