posttoday

ร่ายคาถาผู้สูงวัย ‘เสพสื่อไม่สุ่มเสี่ยง’

14 มีนาคม 2562

การก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาของสังคมสูงวัยและการอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารและสื่อใหม่ ส่งผลให้การใช้สื่อดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

การก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาของสังคมสูงวัยและการอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารและสื่อใหม่ ส่งผลให้การใช้สื่อดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชากรผู้สูงวัยซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 28 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการใช้สื่อและบริโภคข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน ด้วยการส่งต่อภาพและข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบหรือกลั่นกรองความถูกต้องในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มคนช่วงอายุอื่นๆ

กลุ่มวิจัยการสื่อสารเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงเรียนผู้สูงอายุ ร่วมกันค้นหาแนวทางการรับสื่อให้ผู้สูงอายุด้วยการจัดทำโครงการ “สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง : สร้างนักสื่อสารสุขภาวะที่รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ” โดยได้ดำเนินงานวิจัยกับโรงเรียนผู้สูงอายุ 5 แห่งจากแต่ละภูมิภาคของไทย ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ เทศบาลนครสกลนคร จ.สกลนคร เทศบาลตำบลเชิงดอย จ.เชียงใหม่ เทศบาลตำบลชะมาย จ.นครศรีธรรมราช และองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย จ.สุพรรณบุรี มีผู้เข้าร่วมโครงการรวม 300 คน ซึ่งนักเรียนผู้สูงอายุที่เรียนอยู่ในโรงเรียนผู้สูงอายุ มีแนวโน้มว่านักเรียนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นในการใช้สื่อและมีศักยภาพในการเป็นนักสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและสื่ออื่นๆ เพื่อเสริมพลังให้ผู้สูงอายุสามารถคิด วิเคราะห์ เลือกสรร ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และพิจารณากลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนยอมรับและปฏิบัติตาม หรือสื่อสารต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ในขณะเดียวกันยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันจะนำไปสู่การเกิดความเชื่อและการกระทำที่ส่งผลลบต่อสุขภาพ หรืออาจถูกล่อลวงเอารัดเอาเปรียบได้

ดร.สิรินทร พิบูลภานุวัธน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และประธานโครงการผู้สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสียงฯ กล่าวว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนที่ผ่านมา นักเรียนผู้สูงอายุทั้ง 5 โรงเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้และเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ผ่านคาถารู้ทันสื่อ 4 คำ คือ “หยุด คิด ถาม ทำ” จากการย่อยความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้ง่าย สั้น กระชับ และปรับใช้ให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมความเชื่อเดิมเรื่องการป้องกันสิ่งร้ายหรือเหตุเภทภัยจากการมีคาถาดี

“เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความทันสมัยของเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ประกอบกับผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีเวลามากขึ้นเพราะท่านไม่ได้ทำงาน ทำให้เสพสื่อมากขึ้นทั้งจากการดูทีวี เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก รวมถึงผู้สูงวัยในต่างจังหวัดที่มักมีคนเข้ามาขายของถึงหน้าบ้าน จึงทำให้เสี่ยงถูกหลอกง่ายขึ้น ทางสถาบันจึงคิดว่าเราต้องเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันอะไรบางอย่างให้ผู้สูงวัยเสพสื่ออย่างไม่สุ่มเสี่ยง” ดร.สิรินทร กล่าว

ร่ายคาถาผู้สูงวัย ‘เสพสื่อไม่สุ่มเสี่ยง’

จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยในพื้นที่ต่างจังหวัดนิยมเสพสื่อออฟไลน์อย่างโทรทัศน์ วิทยุ เสียงตามสาย และสื่อบุคคลที่เดินเข้าไปหาถึงบ้าน แต่สำหรับพื้นที่ในเมืองใหญ่จะนิยมเสพสื่อออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

“คนในเมืองจะรับสื่อเยอะมากโดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียอย่างไลน์ ความเสี่ยงของคนในเมืองจึงเป็นปริมาณของข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลา ทำให้ไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลไหนดี แต่สำหรับคนต่างจังหวัดจะรับสื่อไม่มากเท่าคนในเมือง ซึ่งความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้คือขาดภูมิคุ้มกันในการกรองข้อมูล มักไม่เช็กข้อมูล เมื่อถูกชักชวนจะเชื่อทันที” ประธานโครงการกล่าวต่อ

“คาถา หยุด คิด ถาม ทำ จึงจะเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้สูงวัยกระตุกถามตัวเองก่อนแชร์ต่อ แต่งานวิจัยนี้เราได้สำรวจผู้สูงวัยต่างจังหวัดเสียมาก ทำให้เจอกับปัญหาถูกสื่อบุคคลหลอกมากกว่า ซึ่งคาถานี้จะทำให้ผู้สูงวัยเตือนตัวเองว่า ถ้าอยากได้อะไรก็หยุดไว้ก่อน เห็นโฆษณาอะไรก็คิดก่อน เพราะบางทีคนที่เข้ามาขายของอาจไม่ได้มาหลอก แต่ผู้สูงวัยจะเชื่อง่ายและจ่ายง่าย ทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ”

พร้อมกันนี้โครงการยังมีเป้าหมายสร้างนักสื่อสารที่รู้เท่าทันสื่อ เรียกว่า “นักสื่อสารสุขภาวะ” หรือ นสส. โดยกำหนดไว้โรงเรียนละ 50 คน และจะมีการคัดเลือกแกนนำนักเรียนผู้สูงอายุอาสาเป็นคณะกรรมการเรียกว่า นสส. วัยเพชร โรงเรียนละ 10 คน

“เราได้เข้าไปให้ความรู้การเท่าทันสื่อแก่ผู้สูงวัยที่สมัครมาเป็น นสส.ในแต่ละโรงเรียน รวมถึงความรู้ว่าการสื่อสารคืออะไร การจะเป็นนักสื่อสารสุขภาวะต้องมีความรู้ด้านไหน ทำอะไรได้บ้าง และมีหน้าที่ในการสื่อสารความรู้ตรงนี้ไปสู่ผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าและพลังของตัวเองในการทำหน้าที่พลเมืองอย่างกระตือรือร้นของสังคมไทย”

โครงการวิจัยได้กำหนดนิยามศัพท์ของคาถาการรู้เท่าทันสื่อ ดังนี้ หยุด คือ ความสามารถในการทำความเข้าใจ หมายถึง ทักษะของผู้สูงอายุในการตระหนักถึงจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร และอิทธิพลของสารสนเทศ

คิด คือ การวิเคราะห์และประเมิน หมายถึง ทักษะของผู้สูงอายุในการตัดสินความน่าเชื่อถือของสารสนเทศ และแหล่งที่มาของสารสนเทศที่เปิดรับ และผลกระทบของสารสนเทศด้านดีและด้านเสี่ยงอันตราย

ถาม คือ ความสามารถในการเข้าถึง หมายถึง ทักษะของผู้สูงอายุในการเข้าถึงสารสนเทศที่มีอยู่ การระบุแหล่งที่มาของสารสนเทศ และการค้นหาสารสนเทศที่ต้องการในสื่อดิจิทัล และการเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ

ทำ คือ การใช้สื่อและสารสนเทศอย่างปลอดภัย หมายถึง ทักษะของผู้สูงอายุในการใช้สื่อดิจิทัลโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การที่ผู้สูงอายุไม่หลงเชื่อ หรือคิด หรือแสดงพฤติกรรมไปตามที่สื่อกำหนด และการแบ่งปันข้อมูลโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้รับ

ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้คือ นสส.สามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อผ่านคาถาหยุด คิด ถาม ทำ ให้กับผู้สูงอายุในชุมชนได้กว่า 500 คน และสามารถสร้าง นสส.รุ่นที่ 2 ขึ้นมาได้ ด้าน นสส.วัยเพชร รายงานว่า จากคาถาง่ายๆ 4 คำ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยช่วยยับยั้ง หยุดคิด ในการซื้อสินค้าได้บ่อยขึ้น มากขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ช่วยเตือนลูกหลานและเพื่อนบ้านให้รอดพ้นจากการถูกหลอก และช่วยกันระวังมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกในชุมชน เนื่องจากเริ่มมีทักษะในการหาข้อมูล และเปรียบเทียบข้อมูลจากสื่อหลายแหล่งมากขึ้น

ร่ายคาถาผู้สูงวัย ‘เสพสื่อไม่สุ่มเสี่ยง’

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ยังจะทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อให้กับโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป รวมถึงยังจะขยายไปยังโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้และคาถาไปในวงกว้าง โดยในปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุทั้งหมด 1,001 แห่ง กระจายในทุกภูมิภาคของประเทศ

“นอกจากผู้สูงวัยแล้ว จะดียิ่งขึ้นถ้าคนในครอบครัวเข้าใจคาถาและช่วยเตือนผู้สูงวัยในบ้าน เพราะท่านมีเวลาว่างเยอะก็จะยิ่งมีเวลาเสพสื่อมากขึ้น และทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย” ดร.สิรินทร กล่าวทิ้งท้าย

ทางโครงการยังทำให้คาถาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ด้วยการใช้สร้อยข้อมือลูกประคำเป็นสัญลักษณ์ พร้อมชวนให้คิดว่า ลูกประคำจะศักดิ์สิทธิ์และคาถาจะสัมฤทธิผลได้ต้องเริ่มจากการเข้าใจความหมายของทุกคำอย่างถ่องแท้ และเห็นความสัมพันธ์ของคาถาแต่ละตัว โดยผู้ปลุกเสกคาถาให้ขลังได้ คือ ผู้สวมใส่ที่สามารถ หยุด คิด ถาม ทำ ในทุกๆ ครั้งก่อนตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่การลงมือทำหรือไม่ทำในสิ่งใดในชีวิตประจำวัน

ร่ายคาถาผู้สูงวัย ‘เสพสื่อไม่สุ่มเสี่ยง’

ร่ายคาถาผู้สูงวัย ‘เสพสื่อไม่สุ่มเสี่ยง’