posttoday

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

10 มีนาคม 2562

เรื่อง: มัลลิกา นามสง่า

เรื่อง: มัลลิกา นามสง่า

 

เธอผ่านการฆ่าตัวตายมา 3 ครั้ง

เธอรอด จากคนรักเพื่อนฝูงและทีมแพทย์ที่ช่วยล้างท้องยื้อชีวิตจากมัจจุราชได้ทันกาล

เธอมีชีวิตที่ดีในวันที่อยากหมดลมหายใจ

เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในโลกที่กำลังสดใสทั้งชีวิตหน้าที่การงาน ความรัก การศึกษา

เธอมีชีวิตใหม่ แต่สักวันเธอก็ต้องตาย เป็นไปตามวัฏจักรสังขาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครเล่าจะหนีมันพ้น

ก่อนตาย เธอจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร เลือกใช้ชีวิตอย่างไร

ความดี ประโยชน์ที่จะมีแก่คนที่อยู่...คือสิ่งที่เธอครุ่นคิด และกำลังลงมือทำไปพร้อมๆ กับเวลาที่เคลื่อนไป

“ภญ.จิตราวดี เหมมณฑารพ” หรือ “ดาว” ผู้หญิงที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า หากชีวิตของเธอไม่ได้ถูกกักขังอยู่ในแค่ม่านหมอกสีดำ โลกของเธอยังงดงาม

วันฟ้าใสกับการกล้าเริ่มต้น

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

การเกิดขึ้นของร้าน “ต้นกล้า ฟ้าใส” แม้จุดแรกมาจากสามีที่ต้องการทำธุรกิจดีๆ เพื่อสังคม และสร้างบิซิเนสโมเดลที่ดีให้ลูกๆ สานต่อ หากแต่คนที่เข้ามาบริหารดูแลใส่ใจในทุกรายละเอียดคือเธอ

ร้านต้นกล้า ฟ้าใส เป็นร้านอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้มี 2 สาขา คือ พุทธมณฑล สาย 3 และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายในร้านมีเภสัชกร แพทย์แผนไทย และนักโภชนาการ ผลัดเปลี่ยนมาประจำการและจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เรื่องอาหาร สมุนไพร และสุขภาพ แก่ลูกค้าที่ร้าน

การป่วยไข้ของผู้คน สุขภาพร่างกาย ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แม้จะเชี่ยวชาญด้านยา เพราะเรียนเภสัชศาสตร์ และเป็นตัวแทนขายยาระดับท็อปมาหลายปี หากสุดท้ายการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารอย่างธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดาวสนใจมากๆ ยิ่งเคยผ่านพ้นความตายมาแล้ว และกำลังป่วยไข้ด้วยโรคซึมเศร้า อาหารช่วยบำบัดได้

“เป็นเภสัชกร รู้เรื่องยา เรื่องโรค และมีงานการที่ดีทำ พอป่วยแล้วต้องออกจากงานมารักษาจนหาย แล้วเมื่อปีที่แล้วก็กลับมาเป็นใหม่อย่างมีความคุ้นเคยกับโรคนี้ดี

จริงๆ โรคนี้มันอันตรายนะ ตรงที่ไม่ได้มีภาวะทางกายให้เห็น แต่ก็ตายได้ง่ายๆ จากการลงมือฆ่าตัวตายของตัวผู้ป่วยเอง เพราะว่าเคยป่วยเอง ผ่านการฆ่าตัวตาย

เราก็เป็นคนหนึ่งที่หายแล้วไม่อยากป่วยอีก หรือป่วยอีกก็ไม่อยากอยู่กับมันแบบเดิมแล้ว เลยตั้งใจใช้ชีวิตให้เป็นตัวอย่างว่า มันไม่ต้องเศร้า (มาก) ก็ได้นะ ก็เริ่มดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น ดูแลเรื่องการกิน แล้วไปเรียนต่อเพิ่มพูนความรู้อีก เอาความรู้มาส่งต่อ เอามาใช้ทำงานก็ได้ มันรู้สึกมีอะไรอยากทำอีกเยอะเลย บอกตัวเองเดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งเศร้ามากตอนนี้ ทำตรงนี้ก่อน

ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เวลาอาการกำเริบจะมีภาวะรู้สึกตัวเองไร้ค่า ทำอะไรไม่ได้ หดหู่ ไร้พลัง แต่ถ้าได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นด้วย มันทำให้รู้สึกดีขึ้น เลยอยากทำร้านต้นกล้า ฟ้าใส ให้ดี เป็นธุรกิจตัวอย่างที่เราได้ด้วย ลูกค้าได้ด้วย สังคมได้ไปด้วย เป็นการตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไปในตัว มันก็จะมีแรงฮึดหน่อย

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

พอดูแลตัวเอง เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็อยากทำเพิ่มขึ้นอีก อยากอยู่แบบมีประโยชน์ เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เป็นลูกที่ดี เป็นผู้ประกอบการที่ดี เป็นคนดีของสังคม เป็นจิตอาสา ถ้าป่วยก็จะป่วยแบบเป็นภาระน้อยๆ ป่วยแบบให้กำลังใจคนอื่นได้”

ต้นกล้า ฟ้าใส จัดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลกำไรไม่ได้กลับสู่เจ้าของธุรกิจเท่านั้น ยังคืนสู่สังคม โดยส่วนแบ่งกำไร 30% มอบให้ศิริราชมูลนิธิ เพื่อสนับสนุนการแพทย์แผนไทยประยกุต์

1 จาน แฮปปี้ทั้งวงจร คือคอนเซ็ปต์ในการเลือกทำเมนู และการซื้อผักตั้งแต่ต้นทาง ในคอนเซ็ปต์ From Farm to Fork อุดหนุนสินค้าจากเกษตรกรผู้ปลูกโดยตรง ให้เขาปลูกผักได้ตามฤดูกาล แล้วหลักการแพทย์ต้องกินผัก
ผลไม้ตามฤดูกาลถึงจะมีประโยชน์สูงสุด

ไม่ใช้เนื้อสัตว์ ซึ่งอุตสาหกรรมและปศุสัตว์มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะใช้พื้นที่เยอะในการเลี้ยงสัตว์ แล้วแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์มาเป็นอาหารให้มนุษย์อีกที

กรรมวิธีการปรุงก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงเอาสารที่มีประโยชน์เหล่านั้นออกมาอย่างถูกต้อง ผักไหนต้องกินดิบ ผักไหนต้องกินสุก วิตามินอยู่ส่วนไหนดึงออกมาอย่างไร เช่น ถ้าละลายในไขมันก็จะเอามาผัด เอามาแกง วิตามินละลายในน้ำก็เอามาลวก มาต้ม หรือมาทำเครื่องดื่ม เรียกว่า Functional Food เป็นอาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน แล้วยังอุดมไปด้วยส่วนประกอบอื่นที่มีประโยชน์ เช่น วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมี ต่างๆ ที่มีผลเสริมระบบการป้องกันตนเองของร่างกาย ชะลอความแก่ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังในอนาคต

 

โลกสดใสในวันที่เผชิญโรคซึมเศร้า

ถ้าไม่บอกใครว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็คงไม่มีใครดูออก เพราะไม่ได้มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก แสดงอาการของคนป่วยชัดเจน แต่เธอกล้าที่จะบอกคนอื่น เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่เผชิญโรคเดียวกัน และคนที่มีคนอยู่รอบตัวคนที่ป่วยเข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย

“เปรียบโรคซึมเศร้ากับโรคภูมิแพ้ เวลาเจอตัวกระตุ้นที่ทำให้แพ้ เช่น ขนหมา อาหารทะเล ไรฝุ่น แป้งสาลี ถั่ว ไข่ นมวัว ก็จะทำให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ออกมาในรูปแบบต่างๆ บางคนแพ้มาก ถึงขั้นทางเดินหายใจตีบ ช็อกตายก็มี หรือบางคนก็มีผื่น หรือน้ำมูกน้ำตาไหล การรักษาแรกเลยคือรักษาตามอาการก่อน จากนั้นก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง สารความสุขมันหายไป อธิบายง่ายๆ ในแบบเราก็เหมือนเราแพ้ แพ้อะไรสักอย่าง เช่น แพ้ความเครียด แพ้การนอนดึก หรือบางทีเราไม่รู้ว่าแพ้อะไร บางทีแพ้สะสม เจอสิ่งกระตุ้นให้เกิดการแพ้เรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน ก็เกิดอาการแพ้ออกมา

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

เจ้าสิ่งกระตุ้นนั้นเองที่ไปทำลายสารความสุข Well Being Hormone ในสมอง จนในเคสที่อาการหนักถึงกับฆ่าตัวตายเองก็มี อย่างแรกต้องส่งโรงพยาบาล หรือมีคนประกบตลอด 24 ชั่วโมง”

จะเข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างไร จากความในใจคนเป็นโรคซึมเศร้า “เราคือคนปกติคนหนึ่งที่บางทีอากาศเปลี่ยนแปลง เจอสิ่งกระตุ้น เราก็แสดงอาการออกมา เราอาจไม่มีน้ำมูกไหล ไม่จามฟิ้วๆ หรือผื่นขึ้นให้เห็น แต่เราอาจมีน้ำตาไหลออกมา ซึ่งบางทีเราไม่อยากให้ใครเห็น เพราะคนอาจไม่เข้าใจว่าเราอ่อนแอ เรียกร้องความสนใจ

มันก็ป้องกันได้นะ ต้องบริหารต่อมความสุขบ่อยๆ มันจะได้แข็งแรง อะไรที่ทำบ่อยๆ มันจะง่ายขึ้นใช่มั้ย ถ้าหาความสุขใส่ตัวบ่อยๆ ต่อมมันก็ได้ใช้เรื่อยๆ มันก็ยิ่งสร้างเก่งไง ในทางกลับกันถ้าไปใส่ความเครียดลงไปเยอะๆ มันก็สร้างความสุขมาสู้ไม่ทัน ไม่สมดุลนะ เขาถึงเรียกว่าสารเคมีในสมองไม่สมดุล ความสุขไม่พอไปยันความเครียด

ระหว่างบำบัด ช่วงที่กินยามันพาต่อมสร้างความสุขไปออกกำลัง มันก็ค่อยๆ แข็งแรงและสร้างออกมาพอใช้แบบพอดีๆ ในชีวิตปกติ ทีนี้วันไหนมีเหตุการณ์อะไรมากระทบเข้า มันก็ไม่พอใช้ไง มันก็จะเหมือนขาแข้งอ่อนแรง เดินล้มง่ายไรงี้ บาดเจ็บต้องรักษาแผลอีก นั่นแหละถึงต้องหาหมอปรับยาสม่ำเสมอ การหาหมอเป็นการระบายความเครียดออกไปรูปแบบหนึ่ง เหมือนไปเดรนหนองออก หมอจะทำแผลกลับมาให้ การรักษามันจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

จะช่วยได้ยังไง ช่วยโดยไม่ต้องช่วยอะไร ทำเหมือนเราเป็นคนปกติ แต่ให้รู้ว่าเราป่วย เราอาจจะเผลอนั่งเหม่อ อยู่นิ่งไม่ขยับ คุยด้วยแล้วน้ำตาไหล ขี้กลัว คิดมาก ช่วยอย่าคิดว่าทำอะไรให้เราร้องไห้ จิตตก คิดมาก เราจะยิ่งเสียใจว่า ความป่วยของเรามันไปทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ แย่ลง ช่วยไม่ต้องชวนไปวัด ถือศีล ภาวนา มันเหมือนด่าเราว่าห่างไกลศาสนา ช่วยเตือนเรากินยา พาเราไปหาหมอจะดีกว่า”

 

ความตายไม่ใช่จุดจบ

เมื่อ 17 ปีที่แล้ว หลังจากเรียนจบเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เข้าสู่วงการผู้แทนขายยา และทำงานพาร์ตไทม์ที่โรงพยาบาลด้วย เรียกว่า ทุ่มเทกับการทำงาน

ตอนนั้นกลุ่มยาที่เธอขาย หนึ่งในนั้นมียาโรคซึมเศร้า ซึ่งยุคนั้นโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก เพิ่งมารู้จักกันกว้างขวางจากข่าวการฆ่าคนตายอันมีสาเหตุมาจากโรค

ชีวิตการทำงานตอนนั้นเรียกว่าเรืองรองมาก มียอดขายอันดับหนึ่ง คว้ารางวัลนักขายดีเด่นหลายสมัย เป็นเมเนเจอร์สายงาน มีเงินทอง ซื้อบ้านซื้อรถ ท่องเที่ยวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แต่หลังจากสนุกกับชีวิตทำงานในวัย 29 ปี เธอก็เริ่มรู้ตัวว่ามีอาการเป็นโรคซึมเศร้า

“เราก็พอรู้ตัวแล้วละว่าเราเป็น แต่เราไม่กินยา ตอนนั้นสารความสุขมันเล็กสารความทุกข์มันใหญ่ คนปกติจะสามารถบาลานซ์กันได้ บางคนทุกข์ใช้เวลาแป๊บเดียวก็กลับมาสมดุลชีวิต แต่เรานี่สุดเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่งมาก

ก็คิดว่า เกี่ยวกับการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม มีหลายปัจจัย ทุกสิ่งระหว่างทางที่เราเติบโต อย่างการกิน คนกินแบบเดียวกันก็ยังไม่เป็นเบาหวาน มันก็มีเรื่องของกรรมพันธุ์มาเกี่ยว เหมือนกันความแข็งแรงของจิตใจ การเลี้ยงดูในวัยเด็กของพ่อแม่ ความสัมพันธ์ของพี่น้องที่ดี เกิดอะไรขึ้นมามีคนช่วยซัพพอร์ต

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

ส่วนดาวอาจจะเพราะใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงเรียนหนัก อยากเรียนเก่ง อยากได้เกียรตินิยม ทำงานเก่ง อยากได้เงินเยอะ อยากสำเร็จ ตอนเรียนแบบเอาเทปไปอัดด้วย ในห้องก็ตั้งใจเรียนมาก นั่งรถกลับบ้านก็ฟังเทปที่อัด ถึงวัยทำงานวันเสาร์อาทิตย์ไม่หยุด ยิ่งทำเยอะขายได้เยอะก็แฮปปี้ ได้รางวัลนักขาย ทำรายได้มีชื่อติดโผ ทุกคนในบริษัทรู้จัก หมอรู้จัก

เป็นคนชอบทำงานอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีเป้าหมายและชอบทำให้ได้ เป้าหมายต้องได้รางวัล ต้องเป็นที่หนึ่ง ไม่ชอบการแข่งขันเพราะกลัวแพ้ แต่ถ้าแข่งต้องเป็นที่หนึ่ง เป็นเหมือนกลไกป้องกันตัวเอง เพราะไม่อยากผิดหวังแล้ว ครอบครัวมีปัญหาเราก็เลยหาความสุขฟูลฟีลตัวเองจากที่อื่น แต่โชคดีที่หาจากสิ่งดีๆ บ้านยากจนแต่เรียนเก่ง ทำงานเก่งมีเงินซื้อสิ่งที่อยากได้เอง”

ใช้ชีวิตอยู่กับโรคซึมเศร้า โดยที่เธออยู่ในโลกสดใส มีเพื่อนดี งานดี เรียนดี เลิกงานสังสรรค์กับเพื่อน ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่เธอก็ร้องเพลงเต้นได้มีความสุขในบรรยากาศปาร์ตี้ เรียกว่าฮาร์ดเวิร์ก ฮาร์ดเพลย์

หากหลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาโท MIM จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เริ่มวางแผนการตายให้กับตัวเอง “พอทำงานได้สัก 3 ปี อยากไปเรียนต่อเมืองนอก ไม่มีเงินพอ ก็เลือกเรียน MIM ธรรมศาสตร์ ตั้งใจเลยหลักสูตรอินเตอร์ ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่เด็กเรียนอินเตอร์มาก่อน

เช้าทำงานเย็นไปเรียน ตอนนั้นเป็นผู้แทนยิ่งรับผิดชอบงานหนักขึ้นอีก พอเรียนจบ หาเงินหาได้เยอะ มีรถ มีบ้าน เสียภาษีอัตราเพดานสูงสุดเลย ตอนนั้นเริ่มเขียนบันทึกลาตายซ่อนเอาไว้ตามที่ต่างๆ

เริ่มคิดแล้วว่า งานเรามาถึงจุดสูงสุดแล้ว กลัวพาลูกทีมไปได้ไม่ไกลกว่านี้ เรียนก็จบแล้วและคิดว่าที่เรียนมาคือที่หนึ่งของมาร์เก็ตติ้งในเมืองไทยแล้วเราทำได้แล้ว โตสุดในอาชีพแล้ว เป็นโปรดักต์เมเจอร์ รับรางวัลเยอะแล้ว มันเหมือนถ้าเราอยู่ต่อ ชีวิตซุป’ตาร์ที่ขึ้นสูงสุดแล้ว ถ้ามันเป็นกราฟลงเราคงเฟล ก็เลยรู้สึกตอนนี้ทุกอย่างสำหรับเราดีที่สุดแล้ว เราไปต่อไม่ได้ ตกก็ไม่ได้ กลัวชีวิตขาลงเลยรู้สึกอยากตาย

เราวางแผนไว้หมดเลย ศพต้องสวย มีเวลาบอกลาคนอื่น ไม่ทรมาน วางแผนคิดไปเรื่อยๆ คิดแบบนี้ประมาณ 2-3 เดือน ชีวิตเราแฮปปี้อยากจบชีวิตสวยๆ นี่เพราะเราป่วย ถึงคิดแบบนี้ ถ้าเป็นคนอื่นเขามีทางอื่นอีกเยอะแยะ ก็ย้ายสายอาชีพสิ ทำงานอื่นสิ แต่เราตอนนั้นคิดไม่ได้”

เธอผ่านการล้างท้องช่วยชีวิตมา 2 ครั้ง และอีกครั้งเพื่อนๆ รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ SOS ไว้ได้ทัน “ตอนที่เราป่วย เราคิดไม่ได้แบบตอนนี้หรอก เราตอบแบบตอนนี้ก็ไม่ได้ด้วย ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าเราทำให้คนที่เรารักเสียใจ ใจคิดแต่เราทำไม่สำเร็จอยากทำให้สำเร็จต่อไป

จนรักษาจริงจัง กินยา แฟน เพื่อนๆ คอยดูแล ยิ่งช่วงไหนที่ดูมีอาการ เพื่อนๆ จับสัญญาณได้แล้วจะผลัดกันมาเฝ้าเวรเลย รักษาอยู่ประมาณ 3 ปีก็เลิกกินยา แต่งงานมีลูก พอมีลูกเราไม่ได้หมกหมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง เรานึกถึงลูกมากขึ้น มีสิ่งยึดเหนี่ยวในการมีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่

จิตราวดี เหมมณฑารพ มีชีวิต(ใหม่)กับโรคซึมเศร้าที่ไม่ต้องเศร้า

จนเมื่อปีที่แล้วกลับมามีอาการอีก ก็ไปหาหมอกินยา เหมือนเป็นเบาหวานคุมยาคุมอาหารดีระดับน้ำตาลปกติ ใช้ชีวิตปกติ แต่ถ้าช่วงหนึ่งเรากินหวานมากก็กลับมาเป็นใหม่”

เมื่อเคยเฉียดใกล้ความตายมาแล้ว จึงตระหนักได้ถึงเวลาของชีวิตที่มีอยู่ เมื่อความสุขคือทำให้คนอื่นมีความสุข เธอจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในการสร้างความสุข

“ตอนที่ป่วยครั้งแรกเราก็มีความสุขนะ เราทำงานสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท ทำอะไรหลายอย่างให้กับวงการยา พอเราอยู่กับความเป็นความตายรู้สึกว่า เรามีความสุขโดยไปผูกกับคนอื่นเลยอยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับคนอื่น และทำให้เรามีความสุข

เมื่อก่อนโรคซึมเศร้าที่อยู่กับเราเหมือนปีศาจ แต่เขากลับมาใหม่เหมือนแม่ชีเทเรซ่า พอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ เราอยู่กับมัน เรารู้ว่าที่จริงเราไม่ต้องเศร้าตลอด เราไม่ได้ร้องไห้ตลอดเวลา

เราป่วยใจไม่อยากป่วยกายอีก อาหารดีๆ ทำให้เราหายป่วยใจได้ด้วยนะ ตอนนี้ก็เลยทุ่มเทกับการทำร้านต้นกล้า ฟ้าใส เรามาทำด้วยความจิตใจดี คิดว่าแนวคิดของร้านมันดี อะไรไม่รู้ก็ไปศึกษาเพิ่ม แล้วยิ่งรู้ว่ากินอาหารดียังไง เราอยากแชร์อยากบอกเพื่อที่คนจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วย”

ห้วงเวลาที่เลวร้าย เราไม่สามารถรู้ว่ามันจะถูกกระแสลมพายุพัดผ่านเข้ามาในชีวิตตอนไหน ปัจจุบันเราสามารถรู้ว่า เรากำลังนึกคิด จะทำอะไร ประคองตัวประคองใจให้ดำเนินไปด้วยสติ และสร้างความสุขให้กับตัวเอง หากห้วงเวลาเลวร้ายมากระทบชีวิต เราก็ยังพอมีวันดีๆ เรื่องดีๆ เอาไว้มาถ่วงดุลกับมัน