posttoday

แปลงกาย ‘เจ้าชายน้อย’ ปริวรรตอักษรล้านนาและปะเกอกะเญอ

09 มีนาคม 2562

เรื่อง : พรเทพ เฮง ภาพ : มาเรียม บุญมาลีรัตน์

เรื่อง : พรเทพ เฮง ภาพ : มาเรียม บุญมาลีรัตน์

 

บินมาถึงเชียงใหม่ฝ่าหมอกควันที่หนาทึบที่สนามบินนานาชาติ เดินลงจากเครื่องบินสายบางกอกแอร์เวย์ส อากาศแม้ร้อนอ้าว ทว่าให้ความรู้สึกเย็นใจอย่างประหลาด เพราะเป็นการมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือเจ้าชายน้อย ภาษาถิ่นล้านนา-ปะเกอกะเญอ ณ ลานกลางแจ้ง หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) เป็น 1 ในวรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต ของสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แถวอันยาวเหยียดที่ผู้คนต่อคิวซื้อหนังสือเจ้าชายน้อยทั้งสองภาษา ซึ่งมีขายในงานนี้เป็นพิเศษและจำกัดสิทธิผู้ร่วมงานสามารถซื้อได้คนละ 2 เล่ม คืออย่างละเล่ม โดยรายได้จากการจัดงานทั้งหมด สมทบทุนเพื่อจัดกิจกรรมเจ้าชายน้อย ทำให้เห็นว่าวรรณกรรมเล่มนี้ยิ่งใหญ่ในใจของผู้คนอย่างไม่มีรุ่นและกาลสมัย

แปลงกาย ‘เจ้าชายน้อย’ ปริวรรตอักษรล้านนาและปะเกอกะเญอ

ในการเติบโต... เราทั้งผองต่างเคยเป็นเด็ก

โครงการหนังสือเจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่น เกิดจากการเห็นคุณค่าของมิตรภาพและความรัก ที่ทำให้หวนนึกถึงการเชื่อมโยงและแบ่งปันกันของคนในสังคม

รวมถึงเรื่องราวสารัตถะของชีวิตในเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) วรรณกรรมของอ็องตวน เดอ แซงเต็กซูเปรีย์ (Antoine de Saint-Exupery) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นวรรณกรรมที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก

ความรักในเจ้าชายน้อยและมิตรภาพระหว่างเพื่อนมิตรกลุ่มเล็กๆ จึงเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ด้วยแนวคิดที่จะเผยแพร่วรรณกรรมอันทรงคุณค่า ประกอบกับความงดงามของภาษาถิ่นของชาติพันธุ์ที่หลากหลายในประเทศไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ทำให้เกิดเป็นหนังสือเจ้าชายน้อยทั้งสองภาษาขึ้น ซึ่งจะนำไปแจกจ่ายยังสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนภาษาถิ่นในภาคเหนือต่อไป

อีกทั้งโครงการเจ้าชายน้อย ภาษาถิ่นยังคงเดินหน้าและจะจัดพิมพ์ภาษายาวีที่ใช้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นลำดับต่อไป

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) และ มูลนิธิแบร์นารด์ (Fondation Bernard) เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในงานเปิดตัว มี อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2543 เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2524 กล่าวเปิดงาน และมีการพูดคุยกับกลุ่มคนทำงาน พะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปะเกอกะเญอแห่งบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ. เขียงใหม่ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดี ผู้ปริวรรตเจ้าชายน้อย ฉบับภาษาล้านนา ดร.ดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รองคณบดีฝ่ายเครือข่ายชุมชน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ บรรณาธิการฉบับภาษาปะเกอกะเญอ รศ.ดร.ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ ผู้ริเริ่มโครงการฯ

แปลงกาย ‘เจ้าชายน้อย’ ปริวรรตอักษรล้านนาและปะเกอกะเญอ

จากนักสะสมหนังสือเจ้าชายน้อยสู่การพิมพ์เจ้าชายภาษาถิ่น

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ อดีตพนักงานสายการบินสวิส แอร์ ที่ผันตัวมาเป็นนักเดินทางช่างเขียน นอกจากหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มที่เขาเขียนพร้อมกับการเดินทาง เขายังได้หนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาต่างประเทศจากเกือบทั่วโลกมาเป็นของสะสมที่เขารัก และได้นำสิ่งนี้มาเผยแพร่เป็นภาษาถิ่นเพื่อแจกจ่ายเด็กต่างภูมิภาคต่างๆ ของไทยอีกด้วย

หลังเปิดตัวหนังสือเจ้าชายน้อยทั้งสองภาษาก็ได้รับแรงตอบรับกลับมาเกินคาด สุพจน์ บอกว่า ต้องการเผยแพร่เจ้าชายน้อยซึ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิกอมตะของโลกที่เป็นวรรณกรรมดีๆ ให้เยาวชนไทยได้รับทราบ โดยการใช้ภาษาถิ่นเป็นสื่อ

“ตอนแรกที่ทำก็มีคนถามว่าทำออกมาแล้วจะมีคนอ่านเหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วเรามองข้ามตรงนั้นไปแล้ว อ่านไม่อ่านไม่เป็นไร แต่ว่าวัตถุประสงค์ของเราคือเมื่อเราพิมพ์ออกมาแล้ว ถ้ามีเด็กภาคเหนือสักคนหนึ่งหรือว่าเด็กปะเกอกะเญอสักคนหันกลับมาสนใจภาษาถิ่นของตัวเองสักคนเดียว ผมว่ามันคุ้มแล้ว วัตถุประสงค์ถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว”

ในวันเปิดตัวและจัดเสวนาหนังสือจากเสียงตอบรับที่ดีมาก โดยสุพจน์คาดหวังว่ามีคนมาร่วมฟังแค่ 50 ที่ เป็นมุมเล็กๆ ปรากฏว่ามีคนมาลงทะเบียนกว่า 200 คน แถมยังมีคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกเยอะมาก เขารู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดีมาก

“ในแง่ของนักสะสม เจ้าชายน้อยสามารถปลุกวัฒนธรรมการอ่านในเด็กๆ เราก็ทำอะไรสวนกระแส เพราะอย่างที่รู้กันว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังสูญหายไป แต่ผมคิดว่าการทำหนังสือดีๆ สักเล่ม มองว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เรามาช่วยกันยืนยันว่า หนังสือที่เป็นเล่มๆ มีกลิ่นกระดาษมีกลิ่นหมึกยังมีความสำคัญอยู่กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่

เพราะเดี๋ยวนี้พวกเขาหันไปเสพสื่อทางดิจิทัลมากเกินไปแล้ว การที่มีเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นออกมาเป็นเล่มๆ ก็เป็นการยืนยันว่าสิ่งพิมพ์ยังมีความสำคัญอยู่และขาดไม่ได้ ผมกลับมองว่ามันยิ่งมีค่าในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังหลงลืม ไม่เพียงแต่เจ้าชายน้อยยังมีอีกหลายเล่มที่ผมจะทำสิ่งพิมพ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ”

นอกจากคนที่สะสมหนังสือเจ้าชายน้อยในเมืองไทย หนังสือสองเล่มนี้อาจจะเป็นที่สนใจจากนักสะสมเจ้าชายน้อยทั่วโลกด้วย สุพจน์ ชี้ว่าหนังสือเจ้าชายน้อยสามารถสัมผัสได้หลายมิติมาก

“ตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนภาษาฝรั่งเศสก็เริ่มอ่านเจ้าชายน้อยภาษาฝรั่งเศสก่อน แล้วมาอ่านภาษาไทย พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก็เริ่มมาสะสมตอนเป็นนักเดินทาง ซึ่งในเรื่องเจ้าชายน้อยก็เป็นนักเดินทาง ผู้เขียนคือ อ็องตวน เดอ แซงเต็กซูเปรีย์ ก็เป็นนักเดินทาง เพราะเป็นนักบิน ฉะนั้นผมรู้สึกว่ามีอะไรที่คล้ายๆ กัน พอเริ่มสะสมเราก็รู้สึกว่าการเดินทางพาเราไปพบกับเจ้าชายน้อย เหมือนเป็นสื่อการเดินทางอย่างหนึ่ง รู้สึกผูกพันกับมัน

แล้วในแง่ปรัชญาของวรรณกรรมเจ้าชายน้อยก็มีอะไรหลากหลายให้เราได้คิดได้ตระหนักถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมในการทำงาน ความรัก มิตรภาพ ซึ่งอย่างที่เขาบอกว่าเราอ่านเจ้าชายน้อยในแต่ละช่วงวัยมุมมองของเราก็จะต่างออกไป หลายคนบอกว่าเจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมเด็ก แต่ผมว่าเป็นวรรณกรรมเด็กที่ผู้ใหญ่ควรอ่านด้วย คือเหมาะกับทุกวัยว่างั้นเถอะ”

แปลงกาย ‘เจ้าชายน้อย’ ปริวรรตอักษรล้านนาและปะเกอกะเญอ

สุพจน์ บอกว่าวัตถุประสงค์ในการทำหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นต้องการทำเพื่อแจก ไม่ได้ต้องการจำหน่ายเลยในทีแรก

“นักสะสมเจ้าชายน้อยจากทั่วโลกมีเยอะมาก แต่ผมไม่เคยรู้ว่าที่เมืองไทยก็มีเยอะเช่นกัน แต่ก่อนรู้ว่ามีนักสะสมก็เพียงคิดว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ปรากฏว่ามีเยอะมาก ทีนี้พอมีคนถามเข้ามา ทีแรกเราก็ปฏิเสธจนเหนื่อยว่าไม่ขายครับ

จนตอนหลังเริ่มไม่ไหวแล้ว ผมก็ถามไปยังมูลนิธิเจ้าชายน้อยที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาก็บอกว่าเอาส่วนหนึ่งมาขายสิจะได้เอาเงินมาจัดงานเปิดตัวหนังสือ เพราะการจัดงานทั้งหมดเป็นการกุศล งบประมาณที่มูลนิธิให้มาคือเงินทุนจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นเราก็ต้องออกเอง เขาบอกว่าเอาเงินจากการขายมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เราก็เลยโอเค คนมาต่อแถวซื้อกัน 200-300 คน เกินคาดมาก”

โปรเจกต์ต่อไปเป็นเจ้าชายน้อยภาษายาวี ซึ่งสุพจน์บอกถึงความคืบหน้าว่าไปคุยกับอาจารย์ทาง ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ไว้แล้ว

“ต้องคุยกันเยอะมากเพราะภาษายาวีค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ซึ่งในตอนแรกเรามองแค่ทั่วๆ ไปภาษาถิ่นที่ไหนก็ได้ ที่มาเริ่มภาษาล้านนาก่อนเพราะเป็นภาษาที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนมาก เป็นตัวอักษรเขียนที่ยังเห็นตามถนนหนทางในภาคเหนือที่ยังใช้กันอยู่ แต่ไม่ค่อยมีใครใช้พูดกัน มีแต่ใช้อ่านทั่วๆ ไป พอเราคิดทำล้านนาเป็นภาษาแรก นอกจากจะช่วยให้รู้สึกว่ามีคุณค่าแล้วก็ยังช่วยอนุรักษ์ภาษาล้านนา ซึ่งหลายคนบอกว่ามันกำลังเป็นภาษาที่กำลังจะตาย

ต่อมาก็เป็นภาษาชนเผ่าก็คือภาษาปะเกอกะเญอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทย เพราะมีคนที่มีความรู้เยอะ มีปราชญ์ท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้านเยอะมาก เขามีปรัชญาของเขา ซึ่งผมคิดว่าหลายอย่างที่คล้ายๆ ปรัชญาการใช้ชีวิตในหนังสือเจ้าชายน้อยด้วยซ้ำไป คิดว่าเราเลือกไม่ผิดที่เลือกแปลภาษาปะเกอกะเญอเป็นภาษาที่ 2”

แปลงกาย ‘เจ้าชายน้อย’ ปริวรรตอักษรล้านนาและปะเกอกะเญอ

หลังจากนี้จะมีเครือข่ายท้องถิ่นที่จะช่วยกระจายหนังสือเจ้าชายน้อยที่จะต้องเอาไปแจกตามศูนย์การศึกษา หมู่บ้าน โบสถ์ โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่มีารเรียนการสอนภาษาล้านนาและปะเกอกะเญอ

“กระบวนการทำงานแปลตรงกับจุดประสงค์มาก เราะทำด้วยหัวใจ เพราะสิ่งที่เจ้าชายน้อยเน้นก็คือความรักและมิตรภาพ เพราะฉะนั้นการงานของเราจะเห็นว่าเกิดความรัก มิตรภาพ ก็รู้จักและผูกพันกัน ผมว่าเรื่องภาษาถิ่นเรามีเยอะนะ ก็น่าจะมีอะไรสนุกๆ ให้ทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มูลนิธิเจ้าชายน้อยที่สวิตเซอร์แลนด์ยังให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนการจัดพิมพ์ เราได้เชื่อมต่อและฟื้นชีวิตภาษาถิ่นร่วมกับชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นผ่านวรรณกรรมระดับโลกอย่างเจ้าชายน้อย”

ท้ายสุด สุพจน์ย้ำว่าเขารู้สึกดีใจที่การสะสมหนังสือเจ้าชายน้อยของเขา ไม่ได้เป็นกองหนังสืออยู่บ้านอย่างเดียว มันได้ต่อยอด

“เพราะในฐานะนักสะสมไม่ใช่เป็นการได้มาอย่างเดียวแต่เป็นการให้ไปด้วยเทกแอนด์กิฟต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่วิเศษมาก เพราะปกติคนสะสมต้องได้มาจึงจะมีความสุข เมื่อสิ่งที่ได้มาสามารถต่อยอดเป็นการให้ด้วย ซึ่งให้กับชุมชนท้องถิ่น ให้กับเด็กๆ ชนเผ่าต่างๆ ผมจึงคิดว่าเป็นอะไรที่วิเศษมากๆ ตรงตามวัตถุประสงค์และปรัชญาของเจ้าชายน้อยด้วยซ้ำไป”