posttoday

เพราะสิ่งสำคัญ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา

09 มีนาคม 2562

เรื่อง : วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข/สุนันทา คีรีรักษ์

เรื่อง : วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข/สุนันทา คีรีรักษ์

 

‘ไม่มีความรู้สึกใดดีไปกว่านี้อีกแล้ว’ที่ ศสช.ห้วยงู (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยงู จ.เชียงใหม่) คงต้องเริ่มที่นี่ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ ที่ดอยหลวง อ.เชียงดาว เมื่อครูอาสาคนหนึ่งแบกเป้เดินทางมาถึง สุนันทา คีรีรักษ์ ที่เด็กชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ เรียกว่า “ครูสุ”

“เดือนหนึ่งจะมาที่นี่ประมาณ 10 วัน แล้วแต่งานอาสาในช่วงนั้น ที่นี่เป็นชุมชนมูเซอแดง ที่มีเด็กชาวลาหู่มาเรียนหนังสือที่โรงเรียน 15-30 คน”

โรงเรียนที่ครูสุพูดถึง ครั้งหนึ่งเกือบจะเป็นโรงเรียนร้าง เมื่อถูกยกเลิกการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ ครูที่มีสอนอยู่เพียงคนเดียวถูกโยกย้ายอัตราจ้างไปสอนโรงเรียนในเมือง เด็กๆ กลายเป็นเด็กเถื่อนที่ไม่มีครู ไม่มีโรงเรียนให้ไป ครูท่านนั้นติดต่อครูสุในฐานะครูอาสาให้เดินทางมาดูด้วยตาตนเอง ถามว่าจะทำอะไรได้บ้าง

“ที่นี่ไกลจากตัวเมืองเชียงดาว 40 กิโลเมตร แต่เพราะถนนไม่ดีมากๆ ก็กลายเป็นไกลมาก ช่วง 11 กิโลเมตรสุดท้ายก่อนถึงหมู่บ้าน ถ้าน้ำท่วม ก็เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก”

เพราะสิ่งสำคัญ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา

ครูสุมาเห็นและได้เห็น เธอตัดสินใจเป็นครูอาสาสมัคร สอนที่ ศสช.ห้วยงู ตั้งแต่ปี 2561 นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 45 คน ทุกคนติดครูสุมาก เพราะครูสุไม่ใช่แค่ครู แต่เป็นทุกอย่างตั้งแต่แม่ครัว พยาบาล เพื่อนเล่น การ์ดและแม่

ครูสุทำกับข้าวให้เด็กๆ วันละ 3 มื้อ นม ขนมมี 2 มื้อเป็นอาหารว่าง ทั้งหมดมาจากการรับบริจาคและเงินส่วนตัวของครูสุเอง

อย่างที่บอกว่า ครูสุอาสามาสอนที่นี่เดือนละ 10 วัน ถ้าที่นี่คือเพียง 10 วันต่อหนึ่งเดือน แล้วเวลาที่เหลือครูสุทำอะไร ก็ต้องตอบว่า เวลาถูกใช้ไปกับงานอาสาสมัครมากมายที่เธอทำอยู่ ยกตัวอย่างโครงการที่เพิ่งเกิดขึ้น ได้แก่ โครงการแพทย์อาสาคลินิกขนาดย่อม ที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อาสา สมัครใจเดินทางไปรักษาผู้ป่วยถึงบ้าน

“เราไปที่โบอ่อง เกาะที่อยู่บริเวณเขื่อนเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ประเมินแล้วผู้ป่วยเยอะมาก มี 2 หมู่บ้าน เราก็จัดเป็น 2 จุด จุดแรกที่ห้องเรียนสาขาพระธาตุโบอ่อง กับที่โบอ่อง ซึ่งต้องนั่งเรือเข้าไปอีก”

เพราะสิ่งสำคัญ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา

ครูสุ เล่าว่า ที่โบอ่องได้เจอกับแม่ชาวกะเหรี่ยงมีลูก 2 คน สามีเสียชีวิต แม่คนนี้เป็นแผลกดทับนาน 6 เดือน อัมพาตครึ่งตัว กรณีผู้ป่วยอาการหนักแต่ไม่เคยพบเจอแพทย์แบบนี้ พบเจอได้ทั่วในโบอ่อง ถ้าไม่มีหน่วยแพทย์อาสาเข้าไป พวกเขาก็อยู่กันอย่างนั้น หมายถึงนอนติดเตียง และมีอาการเนื้อตายอยู่แบบนั้น

ในกลุ่มแพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์อาสาสมัครคลินิกขนาดย่อม เป็นการรวมกลุ่มกันของเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ประกอบด้วยแพทย์ จิตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มากมายที่อาสากันมา ครั้งหนึ่งทีมหนึ่งก็ประมาณ 60-70 คน

นี่เอง... สิ่งเหล่านี้เอง ที่เอาเวลาของครูสุไปหมด ครูสุบอกว่า เธอไม่เคยเสียดายเวลาในการทำสิ่งเหล่านี้ ตรงกันข้ามรู้สึกดีและตั้งใจอย่างมากที่จะทำในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด

3 ปีที่ผ่านมาคือการสละเวลาเพื่อทำงานอาสาสมัคร โดยเฉพาะในที่ห่างไกลทุรกันดาร ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการศึกษาและสาธารณสุข

เพราะสิ่งสำคัญ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา

จากอดีตครูและเจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษาโรงเรียนแห่งหนึ่งทางภาคใต้ ปัจจุบันครูสุลาออกมา 3 ปีแล้ว เธอทำธุรกิจของตัวเองได้แก่การจัดจำหน่ายรองเท้าและอุปกรณ์แคมปิ้งทางออนไลน์

นั่นทำให้เธอได้ใช้ชีวิตกับการทำงานอาสาสมัครอย่างเต็มที่ การระดมกำลังและความช่วยเหลือสำหรับงานอาสาสมัครต่างๆ ดำเนินการผ่านเพจเฟซบุ๊ก : subackpacker ครูสุอาสาแบกเป้เที่ยว

ใครสนใจกิจกรรมอาสาหรือต้องการรู้จักครูสุคนแกร่ง ก็แวะเวียนเข้าไปดูกิจกรรมต่างๆ ของเธอได้

“เหนื่อยหรือ ลืมไปเลย ถ้าหยุดสิจะเหนื่อยมากกว่า เนื่องจากคงเบื่อโลกว่าอยู่นิ่งๆ คิดๆ ดูก็เหมือนกับว่า เราเสพติดการอยู่กับเด็ก การอยู่กับรอยยิ้มเสียงหัวเราะ การได้ช่วยเหลือคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ไม่มีความรู้สึกใดที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว”