posttoday

การอยู่ร่วมกัน(ไม่)ได้ ในสังคม

05 มีนาคม 2562

ข่าวอันธพาลย่านวัดสิงห์ บางขุนเทียน ที่ขาดสำนึก และสร้างความวุ่นวายในสังคม บุกเข้าไปทำร้ายเด็กนักเรียนระหว่างการสอบแกต/แพต

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ข่าวอันธพาลย่านวัดสิงห์ บางขุนเทียน ที่ขาดสำนึก และสร้างความวุ่นวายในสังคม บุกเข้าไปทำร้ายเด็กนักเรียนระหว่างการสอบแกต/แพต หรือความถนัดทางวิชาชีพประจำปีการศึกษา 2562 เมื่อเร็วๆ นี้ เชื่อว่าได้สร้างความตกใจให้แก่ทุกคนในสังคม โดยเฉพาะผู้เขียนที่กำลังจะตั้งต้นบทความเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย

ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์ อาจารย์พิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นักวิชาการและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (สบท.) กล่าวว่า จารีตวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันสำหรับสังคมไทยคือ “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน 3 ชุมชนหลักที่อยู่ร่วมกันมานานช้า หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะบริบทสังคมที่เพี้ยนผิดไปในระยะหลัง

สังคมที่เพี้ยนผิด ดร.อัครนันท์ เล่าว่า ขึ้นอยู่กับการเลือกมองในมุมใด หากบทความนี้จะเป็นการมองในมุมของพุทธศาสน์ผ่านงานวิจัย “รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุเกี่ยวกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและจิตวิทยาเชิงบวก ที่มีต่อสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธของชุมชนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร” ชุมชนยุคใหม่ของคนเมือง...สังคมที่เพี้ยนผิดไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

การอยู่ร่วมกัน(ไม่)ได้ ในสังคม

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หากปัจจุบันการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปจากงานวิจัยพบว่า 30-40% ของคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมต้องการใช้ชีวิตอยู่โดดเดี่ยวลำพังตัวเอง”

ดร.อัครนันท์ เล่าว่า สังคมเมืองในปัจจุบันคือภาพความเป็นพหุวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ผู้คนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติภาษาและความเชื่อ รวมทั้งการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่จากอายุที่แตกต่าง หากโจทย์ที่แท้จริงคือไลฟ์สไตล์การอยู่อย่างแปลกแยก เรื่องนี้ผิดแปลกจากธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็ไม่ “เกินการ” ที่จะทำความเข้าใจ

สาเหตุคือสภาพการเลี้ยงดูและการหล่อหลอมในวัยเยาว์ ที่พ่อแม่ยุคใหม่เลี้ยงดูลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือการสื่อสารยุคใหม่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาในอาณาจักรส่วนตัว ต่างคนต่างแยกกันใช้ชีวิตของตัวเอง แม้กระทั่งสังคมครอบครัวก็ยังคุยกันน้อยหรือแทบจะไม่คุยกันเลย อยู่บนถนนในรถ (ติด) 4 ชั่วโมงเช้า-เย็น และอยู่กับตัวเอง 8 ชั่วโมง/วัน

“แนวโน้มการใช้ชีวิตที่แปลกแยกกับบุคคลแปลกหน้าสูงขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่สังคมอีกแบบหนึ่งที่เรากำลังจะก้าวไปสู่ชุมชนหลักบ้าน-วัด-โรงเรียนนั้น เลิกพูดไปได้เลยสำหรับกลุ่มคนพันธุ์ใหม่นี้”

มองผ่านชุมชนอยู่อาศัยในเมืองยุคใหม่ สังคมวันนี้จึงเป็นสังคมชุมชนที่ต่างคนต่างพึ่งพาตนเอง สมาชิกในสังคมต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นธรรมชาติของคนในสังคมเมืองที่ไม่สนใจโลกรอบตัว ไม่สนใจคนรอบข้าง เพื่อนบ้านหรือเพื่อนในชุมชนกลายเป็นอากาศธาตุ ต่อให้นั่งอยู่ข้างกัน โดยสารลิฟต์ด้วยกัน หรือมีฝาบ้านติดกัน ก็สบายใจมากกว่าที่จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน

คำถามคือ “เรา” จะปล่อยให้สังคมหรือชุมชนของเราเป็นไปหรือมีแนวโน้มอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ และถ้าไม่-เราจะทำอย่างไร ตอบด้วยงานวิจัยที่พบว่า ปัจจัยบริบทสภาพแวดล้อมและจิตวิทยาเชิงบวกมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์รวมแนวพุทธ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีกิจกรรมร่วมกันในชุมชน มีความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันผ่านกิจกรรมหลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมทางพุทธศาสนาสามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความสุขยั่งยืนของชุมชนได้

“คีย์เวิร์ดหรือกุญแจสำคัญคือ คนกลาง หรือเจ้าภาพ ที่จะยึดโยงสังคมชุมชนเข้าหากัน ละลายพฤติกรรมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ ผมมองไปที่ผู้จัดการโครงการนิติบุคคล หรือหัวหน้าชุมชนก็ดี”

แนวทางคือการพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ สังคม และปัญญา เพื่อสร้างรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนและหรือแต่ละพื้นที่นั่นเอง กิจกรรมต้องก่อให้เกิดคุณลักษณะด้านบวก ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการในทุกภาคส่วน

สำหรับจิตวิทยาเชิงบวกที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้น คุณลักษณะด้านบวกของแต่ละบุคคล วัดจาก 5 คุณลักษณะ

1.การรับรู้ความสามารถของตัวเอง

2.ความหวัง ลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลในการคาดหมายถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น

3.การมองโลกแง่ดี เชื่อว่าจะมีความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

4.ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ อดทนและปรับอารมณ์ได้ กลับสู่สภาวะปกติได้เมื่อต้องเผชิญปัญหาที่ไม่แน่นอน

5.เจตคติที่ดีต่อสุขภาพ ความรู้เชิงประเมินค่า เห็นประโยชน์การกระทำเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง

สอดคล้องแนวคิดการสนับสนุนทางสังคม ที่ว่าการมีส่วนร่วมในสังคม และผูกพันเป็นส่วนร่วมซึ่งกันและกัน การผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Social Integration) เป็นการเปิดโอกาสที่บุคคลสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม มีโอกาสแข่งขันแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน รวมทั้งแสดงความห่วงใยเข้าใจต่อกัน หากขาดการสนับสนุนชนิดนี้ จะทำให้บุคคลรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม ขาดกำลังใจที่มีคุณค่า ขาดการเป็นที่ยอมรับ รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

“งานวิจัยสนับสนุนแนวคิดของทุนจิตวิทยาเชิงบวก 4 องค์ประกอบหลัก คือ ความหวัง การมองโลกในแง่ดี ความมั่นใจในความสามารถของตนเอง และความหยุ่นตัว โดยทุกองค์ประกอบจะทำงานอย่างเป็นวงจรต่อเนื่องกันไป เกื้อหนุนการทำงานซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในอาคารชุด จะมีคะแนนสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธอยู่ในระดับดี ผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ระบุว่า การไปทำบุญตามเทศกาลหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมต่างจังหวัดบ้าง เป็นการช่วยเติมพลังชีวิต ทำให้จิตใจสงบ ลดความฟุ้งซ่าน ทำให้รู้จักวิธีเพิ่มความสงบในใจ ลดความโกรธลง ไม่หงุดหงิดกับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบ

ข้อค้นพบดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันของครอบครัวเป็นสุข เป็นภาวะของบุคคลที่แสดงออกถึงการรู้จักการดำเนินชีวิตแบบไม่ประมาท ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม รู้จักแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง มีใจสงบนิ่ง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต และรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

“ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ ได้แก่ แนวปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะองค์รวมของครอบครัวเพื่อนำไปสู่ความสุขยั่งยืนของชุมชน การสร้างเสริมสุขภาวะองค์รวมตามแนวพุทธในการสร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการของการอยู่ร่วมกันแบบสังคมไทย”

ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัยฯ เล่าว่า การอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมยุคใหม่ ต้องอาศัยหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ

1.ทาน การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว คำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถนำติดตัวเอาไปได้

2.ปิยวาจา พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่หยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะแก่กาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น ปิยวาจายึดหลักเกณฑ์ว่า เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3.อัตถจริยา การสงเคราะห์ทุกชนิด หรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4.สมานัตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้อื่น

นอกจากการให้ทานในสังคมหรือสังคหวัตถุ 4 แล้ว ผศ.ดร.กมลาศ กล่าวว่า คุณธรรมในข้อโยนิโสมนสิการ การคิดในมุมบวกหรือการคิดให้ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เข้ามากระทบ ก็เป็นคุณแก่การอยู่ร่วมกันเช่นกัน ทั้งนี้ ขอให้ถือว่า เราต่างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชน มีหน้าที่ต่อชุมชนในอันที่จะปฏิบัติอันเป็นประโยชน์และไม่เป็นพาลต่อกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน

“สิ่งที่จะช่วยได้มาก คือการจัดกิจกรรม ใช้หลักและวิถีปฏิบัติแนวพุทธ เช่น การตักบาตรร่วมกันตามวาระ เช่น ในวันสำคัญทางศาสนา วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การทำกิจกรรมอาสา หรือกิจกรรมด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย เป็นต้น”

ยิ่งไปกว่านี้คือการสร้างพื้นที่ส่วนกลาง โครงการอยู่อาศัยจำเป็นต้องมีพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน เหมือนกับการสร้างพื้นที่ร่วม เพื่อเป็นเวทีของการใช้ชีวิตแบบชุมชน หรือการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น จิตใจบวกหรือมุมมองที่เป็นบวกของผู้อยู่อาศัยนั้นเอง ที่จะช่วยผลักดันหรือขับเคลื่อนโอกาสและความสุขของชุมชนที่มีความสุขได้

ส่งท้ายด้วยธรรมะจากข้อเขียนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่อธิบายว่า การพัฒนาจะเป็นไปพร้อมกันทั้ง 4 ด้าน คือ การพัฒนาทางกาย เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีให้สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่แสดงออกทางได้เหมาะสม 2.พัฒนาด้านพฤติกรรม (ศีล) หรือวิธีการใช้ชีวิต ตลอดจนการทำมาหาเลี้ยงชีพ เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาคนให้มีศีล คือวินัย 3.พัฒนาด้านจิตใจ (สมาธิ) พัฒนาคุณธรรม ความเข้มแข็ง มั่นคงของจิตใจ และสภาพจิตที่ดีงาม

สุดท้าย 4.พัฒนาด้านปัญญา (ปัญญา) คือความรู้ความเข้าใจต่างๆ รวมทั้งแนวความคิด ทัศนคติ และค่านิยมในการฝึกฝนหรือพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ทำได้โดยไตร่ตรองวินิจฉัย ตรวจสอบโดยอาศัยเหตุผลเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริง การพัฒนาทั้ง 4 ด้านดังกล่าว จะต้องอิงอาศัยกัน ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้ง 4 ด้านแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความดีงามนำไปสู่การเข้าถึงอิสรภาพและสันติสุขที่แท้จริง

การอยู่ร่วมกัน(ไม่)ได้ ในสังคม