posttoday

ปฏิบัติการช่วยต้นไม้ หลังพายุปาบึกถล่ม

21 กุมภาพันธ์ 2562

สถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชน

เรื่อง : วราภรณ์ ผูกพันธ์, วันวิสา เหมือนศรี

สถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยๆ ปี ในสถานที่สำคัญจำนวนมากได้รับความเสียหาย

สมาคมรุกขกรรมไทย กลุ่มบิ๊กทรีส์ ทีมรุกขกรอาสา และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ลงพื้นที่สำรวจต้นไม้ที่ได้รับความเสียหาย หลังจากพายุปาบึกถล่ม จ.นครศรีธรรมราช โดยเริ่มดำเนินการฟื้นฟูต้นไม้ครั้งแรก 20-23 ม.ค. เริ่มที่ต้นสารภีที่วัดแจ้งวรวิหาร ตามด้วยวัดสวนหลวงในตัวเมือง ที่เก็บรักษาป่าสันทรายดังเดิมไว้ มีไม้สำคัญคือ ต้นยาง และต้นตะเคียน โดยมีทีมงานของอาจารย์สุรศักดิ์ ชูทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมปฏิบัติการระหว่างวันที่ 4-10 ก.พ.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีจิตอาสาจากสมาคมต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจกันลงไปช่วยเหลือตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ อีกทั้งวางแนวทางการป้องกันต้นไม้ใหญ่ในช่วงภัยพิบัติต่อไป

ประเมินความเสียหาย

ในฐานะคนในพื้นที่ที่เกิดและโตใน จ.นครศรีธรรมราช นพ.บัญชา พงษ์พานิช หลังพายุปาปึกพัดผ่าน เขาได้ออกสำรวจถึงความเสียหาย โดยสังเกตจากไร่สวนของตัวเองที่ปลูกเป็นป่าต้นยางกลางเมืองประมาณ 3 ไร่ ประกอบด้วย ต้นยางนา ประมาณ 40-50 ต้น กับสวนมะพร้าวอีก 200 กว่าไร่ จำนวน 1,000 ต้น โดยสวนมะพร้าวโดนพายุพัดล้มประมาณ 10 ต้น และมีต้นไม้ยางใหญ่ที่ปลูกไว้ที่ท่าศาลา จังหวัดเดียวกัน เป็นต้นยางใหญ่อีกหลายร้อยต้นขนาดใหญ่ 3 คนโอบ ล้มจำนวนหนึ่ง ก่อความเสียหายล้มใส่บ้านและรีสอร์ทรวม 3 หลัง โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร

“บ้านผมอยู่วัดแจ้งวรวิหารในเมือง พื้นที่เป็นโกดัง 3 ไร่ เราปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้หลายต้น แรกๆ กังวลกลัวเขาล้มเพราะอยู่ใกล้ชุมชนเช่นโรงเรียน โชคดีที่ไม่ได้อยู่ในร่องลมจึงทำให้ต้นไม้ใหญ่ล้มไม่มาก บางต้นล้มไปพาดกำแพง ไม่ล้มใส่บ้านคน มูลค่าความเสียหายประมาณ
2 แสนบาท ส่วนต้นไม้อื่นๆ ที่ล้มผมไม่ได้ตีราคาว่าเท่าไหร่”

แม้พายุปาปึกไม่ได้ทำความเสียหายให้ต้นไม้มากนัก แต่มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งร้องขอให้เทศบาลทำการตัดต้นไม้ใหญ่ทิ้ง บางต้นมีอายุมากกว่า 700 ปี เพราะค่าที่นครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าจึงมีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่ขาดการดูแลอย่างถูกต้อง ชาวบ้านจึงเรียกร้องหลายละแวกให้ตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ทิ้งเสีย ร้อนใจไปถึงนักอนุรักษ์ต้นไม้ต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ไปในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อต้นไม้ใหญ่จะได้ให้ร่มเงาสืบไป

“นครฯ มีพื้นที่เป็นป่าสันดอนหาดทรายที่ต้นยางต้นตะคียน มะม่วงปลูกมานานกว่าที่เราจะมาตั้งถิ่นฐาน มนุษย์มารุกตัดไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาดูแลต้นไม้ ต้นไม้ใหญ่ก็จะไม่เหลือ จะมีต้นไม้อยู่แต่ในวัดกับโรงเรียน ส่วนข้างทางก็จะไม่เหลือต้นไม้ โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่า รากต้นไม้ใหญ่รก ขี้เกียจกวาด มาตัดออกไปซะเถอะ พายุมาจะเดือดร้อน แต่ผมคิดว่าก็ไม่น่าเป็นเหตุที่ต้องไปโค่นต้นไม้ทั้งหมด

อย่าลืมว่า ต้นไม้มาอยู่ก่อนเรา ทำหน้าที่ช่วยกรอง ช่วยดูดซับมลภาวะได้ ดูอย่างกรุงเทพฯ สิ ฝุ่นคลุ้งเลย เราเลือกปลูกต้นไม้เพราะให้ร่มเงา แต่พอชาวบ้านพูดแบบนี้ ต้นไม้เกลี้ยงแน่เลย มันมีกระแสที่จะไล่ตัดต้นไม้ให้หมด เมื่อผมรู้ข่าวก็รู้สึกเป็นห่วง ก็ไปโพสต์พูดคุยปัญหาในเพจคุยกับหมอบัญชาในเฟซบุ๊ก แล้วกลุ่มบิ๊กทรีส์ ก็เข้ามาคอมเมนต์ว่า มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ หากต้นที่ไม่ไหวก็ต้องตัด กับทางเลือกที่สอง คือ ปกป้อง ต้นไหนที่รักษาได้ก็ต้องรักษา”

เมื่อ นพ.บัญชา ลงสำรวจความเสียหายของต้นไม้ล้มในพื้นที่อื่นๆ ใน จ.นครศรีธรรมราชหลังวันที่ 5 ม.ค. เฉพาะในเขตเมืองมีต้นไม้ล้มราวๆ 100 ต้น แบ่งเป็นต้นไม้ใหญ่อย่างตะเคียน ยางนา บุนนาค และไม้อื่นๆ

“ความเสียหายครั้งนี้ ในมุมมองของผม ปี 2505 มหาวาตภัย ต้นไม้ล้มมากกว่านี้ ตอนนั้นถนนบางตอนก็ไปไม่ได้ เพราะร่องลมมันผ่านทางเมืองนครพอดี ครั้งนั้นพัดตลบ 2 รอบ มาทางด้านเหนือ ตลบอีกครั้งมาทางทิศใต้ ทำให้ต้นไม้หายไปเยอะมาก เช่น ต้นพิกุลใหญ่ ยังมีการรักษาได้บ้าง ตอนนี้ก็ยังงามอยู่

ที่ผมสำรวจต้นตะเคียนกับต้นยาง ที่นครศรีธรรมราชจะมี 2 บริเวณที่เป็นดงไม้ใหญ่อยู่ อ.เมือง เช่น วัดแจ้งวรวิหาร วัดสวนหลวงที่มีต้นไม้อายุ 200-700 ปี ย่านสนามกีฬาวัดประดู่ วัดท้าวโคตร วัดชายนา

วัดสวนหลวงเป็นเมืองโบราณ เมืองพระเวียงสมัยสุโขทัย ล้มไปแถวนั้นประมาณ 40 ต้น ยังเหลืออยู่ร้อยกว่าต้น ต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปี มีทั้งต้นที่มีสุขภาพดี และต้นทรุดโทรม เพราะถูกตัดถนนบ้าง ไม่ได้รับการดูแล ส่วนใหญ่พื้นที่ส่วนตัวชาวบ้านต้นไม้ใหญ่ถูกตัดหมดแล้ว”

โครงการนี้ได้เลือกอาสามาทำในพื้นที่สาธารณะ โดยมีอาสาสมัครจากองค์กรด้านรักษาต้นไม้ต่างๆ ลงพื้นที่ดูแลตัดต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะที่วัดแจ้งฯ และวัดสวนหลวง เพราะมีต้นไม้ใหญ่มากและค่อนข้างสมบูรณ์ อีกทั้งพระอธิการศักดิ์ชัย การุโณ เจ้าอาวาสวัดสวนหลวง ให้การสนับสนุนรักษาต้นไม้ไว้ ไม่ให้ตัด ต้นไหนกิ่งหักก็ให้ซ่อมแซมบูรณะตัดแต่งต้นไม้ให้แข็งแรงและถูกหลักการของการรักษา ส่วนของเอกชนทั่วไป ต้องให้ดูแลกันต่อไป เพราะค่อนข้างมีทุนทรัพย์

“ในอนาคตเราอาจมีโครงการมาเปิดฝึกอบรมให้กับทางเทศบาลท้องถิ่น หรือทางเอกชนที่สนใจ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ช่วยกันดูแลต้นไม้ใหญ่ต่อไป ที่สำคัญไม้ใหญ่ในวัดค่อนข้างอยู่ข้างหมู่บ้าน ถ้ามันล้มใส่ชาวบ้านจะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นเราก็ทำให้ต้นไม้แข็งแรง ชาวบ้านก็จะปลอดภัย ทำให้รอยช้ำรอยฉีก พยาบาลเขาให้มั่นคง ไม่ว่าลมจะมาใหม่ ต้นไม้ได้ทำการแต่งพุ่มให้มันโปร่ง และไม่ให้กิ่งเกะกะเขาก็ไม่ต้านลม กิ่งที่กว้างก็ทำให้แคบลงมาหน่อย เป็นต้น”

ดูแลรักษาต้นไม้ให้สู้พายุ

อาจารย์สุรศักดิ์ ชูทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในผู้สนใจต้นไม้ กล่าวว่า การล้มของต้นไม้เมื่อมีพายุพัดผ่าน สาเหตุมาจากความอ่อนแอของระบบราก อีกทั้งต้นไม้ไม่ได้ผ่านการตัดแต่งเลย เช่น ต้นไม้เส้น 41 ที่แยกจากสามแยกสวนผัก ทะลุขึ้นไปจนถึงถ้ำพรรณราในเขตนคร ป่าพะยอม จะเห็นต้นไม้ที่ไม่ได้ผ่านการตกแต่งเลย ทำให้กาฝากเกาะเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้มีหน้าที่ดูแลต้นไม้เหล่านี้ คือ หน่วยงานรัฐ

“ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากมีสภาพยืนต้นตายเพราะมีพวกตะแบก กาฝากเกาะเป็นเวลานาน สุดท้ายก็กัดต้นไม้ยืนแห้งตาย ส่วนการแก้ไขปัญหาผมมองว่า ต้องบูรณะภูมิทัศน์ใหม่ ผมเคยไปเรียนด้านพัฒนาศาสตร์ที่จีนเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เห็นคนจีนเวลาเขาดีไซน์ถนน เขาจะทำควบคู่กับการดีไซน์ภูมิทัศน์ไปพร้อมๆ กัน เขาจึงดูแลต้นไม้ดีมาก จีนยังเก็บต้นไม้ไว้ แต่ที่ไทยคือตัดทิ้ง ซึ่งป่าไม้เมืองไทยค่อนข้างสมบูรณ์ ผมศึกษาความหลากหลายของต้นไม้ ผมเจอต้นไม้บนถนนมีมากถึง 84 ชนิด เพราะป่าบ้านเราเป็นป่าดิบชื้น”

ปัญหาใหญ่ๆ ของต้นไม้ล้มเมื่อมีพายุพัดก็คือ การไม่เลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมมาปลูก นอกจากนี้ การไม่ใส่ใจ ตอกป้ายหาเสียง หรือตอกป้ายกฐิน ผ้าป่าที่ลำต้นต้นไม้ หรือการเอาเชือกไปดึง พฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อความแข็งแรงของต้นไม้ คือ เรื่องการเจริญเติบโต พอไปดึงไปเหยียบไปย่ำมันนานๆ หรือการตัดกิ่งให้ต้นไม้โกร๋น หรือการเทคอนกรีตล้อมรอบ หรือถมดินล้อมรอบไม่เกิน 5 ปีต้นไม้มีสิทธิตายได้

“ตอนนี้ทุกคนกลัวหมด เผื่อพายุมาอีก กลัวต้นไม้ล้ม ชาวบ้านจึงต้องการที่จะเอาออก คำแนะนำสำหรับดูแลต้นไม้แทนการตัดโค่นของผมคือ การตัดแต่งเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มของต้นไม้ทึบเกินไป ลองคิดภาพสภาพต้นไม้ที่แน่นเมื่อเกิดล้ม แรงพัดใส่ก็รับน้ำหนักมาก

องค์ประกอบของต้นไม้ที่ใช้ในการเจริญเติบโต ก็มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน คือ อากาศ น้ำ อนินทรีย์วัตถุ อินทรีย์วัตถุ ซึ่ง 50% ที่เป็นน้ำและอากาศ สมมติถ้าเกิดน้ำท่วม ต้นไม้อากาศไม่มี ต้นไม้ก็ตาย นั่นคือเหตุผลง่ายๆ พอไปปิดต้นไม้ไม่สามารถซึมซับอะไรได้ก็ตาย เช่น การเทปูนที่โคนต้น ดังนั้นสำหรับคนที่มีต้นไม้ใหญ่ในบ้าน การป้องกันต้นไม้ล้มโดยหลีกเลี่ยงการตัดคือ ก่อนปลูกสร้างบ้านต้องดูไม่ปลูกบ้านใกล้ต้นไม้ แต่ถ้าสร้างใกล้กับต้นไม้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการตัดแต่งกิ่งไม้ถือเป็นการป้องกันที่สำคัญที่สุด

หลักการตัดแต่งต้นไม้คือให้สูงอยู่ระดับสายตาประมาณ 2 เมตร คือดูแล้วไม่ทึบ แล้วกิ่งที่อยู่ข้างบนคือต้องเลือกให้โปร่งโดยวิธีของเขาแต่ไม่ใช่ให้มันแน่น ตัดแต่งโดยดูรูปทรงของต้นไม้ ถ้าต้นไม้ทึบก็จะสู้กับลม ส่วนเรื่องของระบบรากที่เราไม่รู้ว่ามันไปทางไหนซ้ายหรือขวาเพราะมันอยู่ในดิน ถ้าข้างบนมันทึบก็หนักแล้วต้นไม้ค่อนข้างจะสูงที่มันล้ม เพราะข้างบนมันหนัก สุดท้ายพอลมพัดมาก็ดึงรั้งล้มหมด และต้องดูว่าต้นไม้บางคนมีรากไม้โผล่เวลาฝนตกแล้วมันจะซึมซับน้ำไม่ได้ พอซึมซับไม่ได้ดินก็จะพัง วิธีแก้ไข คือกำหนดทางเดินที่ไม่ใช่บริเวณใกล้รากต้นไม้ แล้วก็เอาดินมาถมแต่ถมบางๆ เพื่อซ่อมราก แล้วก็ปลูกหญ้าเอาใบไม้เข้ามาช่วยถมทำเป็นปุ๋ย”

วิธีอบรมให้คนรู้จักวิธีอยู่ร่วมกับต้นไม้ได้ ก็สำคัญก็คือ การจัดการอบรมผู้มีส่วนดูแลต้นไม้ทั้งหน่วยงานเทศบาล การไฟฟ้า กรมทางหลวงเพื่อทำความเข้าใจในการดูแลรักษาต้นไม้ก่อนที่จะไปโค่นทิ้ง

“เราทุกคนควรตระหนักว่า ประโยชน์ของต้นไม้มีมากมาย ไม่ใช่แค่ให้ร่มเงาอย่างเดียว ต้นไม้มีระบบอีโค ซิสเต็ม เซอร์วิส คือ ต้นไม้แต่ละต้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูง ซึ่งต้นไม้ที่สามารถดูดซับได้สูงสุด คือต้นโพธิ์ที่แต่ไม่ชวนให้ปลูกตามที่สาธารณะทั่วไป ต้นไม้ที่เหมาะสมที่แนะนำให้ปลูกคือ ต้นมะขาม เพราะคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมมีเยอะ ผลก็กินได้ ต้นขี้เหล็กก็กินดอกได้ อีกทั้งอายุยืนเป็นร้อยปี เป็นต้นที่มีรากแข็งแรง กิ่งเหนียว ใบเล็ก ล้มยาก”

พยาบาลต้นไม้ให้ยืนหยัดอยู่ได้

ละเอียด แพนพัฒน์ ผู้จัดการ บริษัท รุกขกร วิสาหกิจเพื่อสังคมกล่าวว่าต้นไม้ที่วัดแจ้งวรวิหาร ต้นตะเคียนเสียหายต้นเดียว อายุ 100 ปี ปัญหาต้นนี้ที่กิ่งหักโค่นจนเสียสมดุลไปข้างหนึ่ง โดยกิ่งฉีก 2 กิ่งใหญ่ๆ จึงต้องพยาบาลรักษา

ปัญหาคือกลายเป็นทรงพุ่มสองฝั่งไม่สมดุลกัน หายไปหมดทั้งด้าน ต้นไม้จึงไม่ตั้งตระหง่านไม่สวยอลังการเหมือนเก่า วิธีแก้ปัญหาคือ รุกขกรต้องปรับสมดุล ต้องตัดบางส่วนที่สมบูรณ์ออกเพื่อไม่ให้ลำต้นหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง และต้องประดิดประดอยในการตัด ไม่ตัดเลาะกิ่งออกมากเกินไป เพื่อให้ต้นไม้ยังสามารถสร้างพลังงานให้รากหาอาหารอยู่ได้ สอง คือ รุกขกรพยายามวางโครงสร้างกิ่งก้านใหม่ เพื่อให้เวลาแตกกิ่งใหม่จะเกิดเป็นพุ่มสวยงามเหมือนเดิม ถือเป็นการตัดต้นไม้ที่ถูกหลักการ

“นอกจากแก้ไขพุ่มต้นไม้แล้วยังต้องรักษาความสูงไม่ให้ลำต้นสูงชะลูดเกินไป ลมมาแรงก็ไหวทั้งต้น อันตราย ไม่เหมือนต้นยางที่ชะลูดได้ จึงต้องลดความสูงตัดแต่งกิ่งให้ดี ต้องตัดคอกิ่งเพื่อไม่ให้บาดแผลต้นไม้กินเข้าไป ต้องรีบทำให้เร็วที่สุดหลังหักให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเนื้อตาย หรือแมลง ปลวก กัดกินเข้าไปถึงเนื้อในได้ หรือป้องกันไม่ให้เป็นเชื้อรา คล้ายเป็นการทำศัลยกรรมต้นไม้นั่นเอง”

ปฏิบัติการช่วยต้นไม้ หลังพายุปาบึกถล่ม

ปฏิบัติการช่วยต้นไม้ หลังพายุปาบึกถล่ม