posttoday

'ปั้นดินให้เป็นดาว' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

18 กุมภาพันธ์ 2562

จากจุดเริ่มต้นคืนความสมบูรณ์ให้ผืนป่า และนำพาชาวบ้านให้หลุดพ้นจากวงจร “เจ็บ จน ไม่รู้”

เรื่อง ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

จากจุดเริ่มต้นคืนความสมบูรณ์ให้ผืนป่า และนำพาชาวบ้านให้หลุดพ้นจากวงจร “เจ็บ จน ไม่รู้” โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพสุจริตซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

มีการพัฒนาหน่วยธุรกิจสร้างผลิตภัณฑ์ 5 ธุรกิจ ในชื่อ “ดอยตุง” คือ อาหารแปรรูป คาเฟ่ดอยตุง หัตถกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน หากผลกำไรที่แท้จริงนั่นคือ คน และชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีสร้างคุณภาพชีวิตให้ชุมชนได้ยั่งยืน

หลายๆ คนเลือกเป็นแฟนประจำของร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ ชื่นชอบทั้งผ้าทอ เซรามิก ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเลือกกระดาษสาแบรนด์ดอยตุงห่อของขวัญ หรืออวยพรปีใหม่ด้วยกระเช้าดอยตุง เทใจขอเป็นแฟนพันธุ์แท้กาแฟดอยตุง หรือจะกินถั่วแมคคาเดเมียก็ขอเลือกยี่ห้อนี้ (เท่านั้น)

วันนี้ผลิตภัณฑ์จากดอยสูงทั้ง 5 ธุรกิจ เติบโตแข็งแกร่ง สร้างสรรค์แบรนด์ให้แข่งขันกับสินค้าคุณภาพยอดเยี่ยมจากทั่วโลกได้ไม่แพ้ใครเลย

ดอยตุง แบรนด์สร้างชุมชนแกร่ง

“อย่าให้คนซื้อของเราเพราะสงสาร แต่ต้องทำให้ได้มาตรฐานและไม่ขาดทุน” คือพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นหลักคิดที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยึดถือมาจนทุกวันนี้

ผสานภูมิปัญญาชาวบ้านกับการตลาดทันสมัย ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคม “ดอยตุง” (DoiTung) เลี้ยงตัวเองได้ วันนี้เติบโตแข็งแกร่งก้าวสู่ 2 ทศวรรษแล้ว

เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ คือห้างยักษ์ใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์แบรนด์ดอยตุงวางจำหน่ายทุกชนิด ล่าสุดได้จัดทริป Tops Exclusive พาไปชมโรงงานเซรามิก โรงงานกาแฟ โรงงานกระดาษสา โรงงานทอผ้า ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ (กิจกรรมงานฝีมือ) โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักดอยตุง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

โรงฝึกอาชีพหัตถกรรมและอุตสาหกรรม ได้รับการพัฒนาที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างงานสร้างรายได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชาย ทั้งมีการศึกษา หรืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คนสูงอายุแต่ยังทำงานได้ หรือคนหนุ่มสาว โดยการต่อยอดความชำนาญและภูมิปัญญาท้องถิ่น และเน้นการพัฒนา “เพิ่มมูลค่า” ผลิตภัณฑ์งานมือต่างๆ สร้าง “ห่วงโซ่มูลค่า” (Value Chain) ได้อย่างครบวงจร มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แม้ว่าโรงงานทอผ้าจะมีการใช้เครื่องจักรเพียง 1% เท่านั้น สร้างเอกลักษณ์และคุณภาพได้ตามที่ตลาดต้องการ

เริ่มต้นทริปที่โรงงานกาแฟดอยตุง ใครๆ ก็รู้จัก DoiTung ยี่ห้อกาแฟรสชาติมีเอกลักษณ์ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ คัดเลือกกาแฟจากประเทศบราซิล พันธุ์อราบิกาชั้นดี ปลูกบนพื้นที่สูง 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และปลูกอยู่ใต้ป่า ผ่านการเก็บและคัดเมล็ดด้วยมือ คั่ว บด อย่างพิถีพิถัน

ใครมาเยี่ยมโรงงานโรงคั่วกาแฟขนาดย่อม ก็จะได้ชิมกาแฟหอมกรุ่น มีกาแฟดอยตุงกาแฟคั่วบดดริปสุดฮิต มีเดียมโรสต์ 10 กรัม แพ็ก 6 ซอง ให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไป ในราคา 150 บาทเท่านั้น

กาแฟเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ปลูกขึ้นทดแทนการปลูกฝิ่น จากไร่ฝิ่นและฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมใน อ.แม่จัน วันนี้กลายเป็นป่ากาแฟ ซึ่งเป็นอีกโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่กำเนิดขึ้นในปี 2531 และในปี 2549 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ทำการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กาแฟดอยตุง - Geographical Indication หรือ GI เพื่อรักษาสิทธิและป้องกันการใช้ชื่อ “กาแฟดอยตุง” ไว้สำหรับกาแฟที่ปลูกจากแหล่งเดียวคือที่ดอยตุง บนความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปเท่านั้น

โรงงานเซรามิก คืออีกโรงงานที่ตั้งใกล้เคียงกัน เครื่องเซรามิกดอยตุงใช้ดินในพื้นที่ ให้สีสวยงามแตกต่างจากดินแหล่งอื่นๆ มีการพัฒนาน้ำเคลือบจากเถ้าวัสดุธรรมชาติ เช่น เถ้าจากเปลือกแมคคาเดเมีย เพิ่มเอกลักษณ์เฉพาะยิ่งขึ้น

โรงเซรามิกรองรับคนทำงาน ทั้งกลุ่มหนุ่มสาวจากชนเผ่าบนดอยสูง สู่การฝึกปรือและพัฒนาทักษะกับยอดฝีมือครูเซรามิกจากเมืองคาซามะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างสรรค์ผลงานเซรามิกดอยตุงหลากหลายคอลเลกชั่น กว่า 700 ดีไซน์ เครื่องเซรามิกดอยตุงได้อวดโฉมในเทศกาล Himatsuri งานเซรามิกใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมาแล้ว ฐิติพงศ์ กันแก้ว หนุ่มโรงงานเซรามิกมีโอกาสได้ไปร่ำเรียนถึงดินแดนอาทิตย์อุทัยด้วย

แจกันรูปใบบัว คือชิ้นล่าสุดที่เร่งมือทำอยู่ ฐิติพงศ์ บอกว่าภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานทุกๆ ชิ้น ตลาดใหญ่ก็คือกรุงเทพฯ ส่งไปขายกี่ชิ้นก็ขายหมดเกลี้ยง และมีการสั่งออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ งานมีให้ทำทุกวัน

“ก่อนหน้านั้นผมทำงานปลูกดอกไม้บนพระตำหนักดอยตุง งานแบบนั้นใครๆ ก็ทำได้นะครับ แต่การได้เข้ามาทำงานโรงงานนี้ทำให้มีวิชาติดตัว เซรามิกดอยตุงนำหญ้าแฝกมาผสมกับดินเหนียว ครูญี่ปุ่นก็มาช่วยสอนการพัฒนาการเผาดินโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ดีต่อสุขภาพ แล้วสีก็ออกมาสวยไม่ซ้ำใคร”

ศูนย์งานหัตถกรรมทำมือที่นี่ ตั้งอยู่เชิงดอยตุง บนเนื้อที่ 52 ไร่ มีโรงงานทอผ้า และโรงงานกระดาษสา เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการ ผลิตภัณฑ์การันตีความเนี้ยบ มีคุณภาพ จากฝีมือชนเผ่าในพื้นที่ มีช่างฝีมือทำงานกว่า 300 คน ตั้งแต่รุ่นยาย แม่ ลูก หลาน ทำให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน ไม่ต้องไปทำงานในเมืองไกลบ้าน


ผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

'ปั้นดินให้เป็นดาว' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

'ปั้นดินให้เป็นดาว' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

'ปั้นดินให้เป็นดาว' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

'ปั้นดินให้เป็นดาว' เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดอยสูง

ผลิตภัณฑ์เด่นจากแบรนด์ดอยตุง ทั้งอาหารแปรรูป กาแฟ ถั่ว-คุกกี้แมคคาเดเมีย รวมทั้งผลิตภัณฑ์งานเซรามิก ผ้าทอมือ หรือเสื้อผ้าในรูปแบบคอลเลกชั่น DoiTung Ready to Wear ปลดล็อกภาพจำผ้าทอมือแบบเดิมๆ ให้สวมใส่ได้สบาย และใช้สีย้อมจากธรรมชาติในโทนพาสเทล ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้าอ่อน เขียว และชมพู สีสันสวยสบายตา

น่าใช้ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน เช่น ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ของขวัญของฝากมากมาย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับแฟนๆ ดอยตุงได้เลือกช็อปอย่างสะดวกสบายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ทั่วประเทศ

ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล พลชม จันทร์อุไร ประธานสายปฏิบัติการ/ธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ สองแม่งานใหญ่ในการจัดทริปครั้งนี้ อธิบายถึงผลิตภัณฑ์งานมือของดอยตุง นับเป็นศิลปะแห่งการผสมผสานความทันสมัย และรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างงดงามลงตัว สร้างงานด้วยความเข้าถึง “หัวใจและรสนิยม” ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในธรรมชาติและสังคมได้อย่างดี

ภัทรพร กล่าวว่า ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ มีกาแฟให้ซื้อกลับบ้าน แฟนๆ แมคคาเดเมียก็มีจำหน่ายทั้งแบบแมคคาเดเมียนัทปรุงรส แมคคาเดเมียสมุนไพร แมคคาเดเมียคุกกี้ แมคคาเดเมียสเปรด ไปจนถึงน้ำผึ้งแมคคาเดเมียให้เลือกช็อปกันสะดวกสบาย

ไปจนกลุ่มผลิตภัณฑ์งานฝีมือ งานเซรามิกแบรนด์ DoiTung Lifestyle ก็มีจำหน่ายที่ศูนย์อาหารอีทไทย (Eathai)

“นอกจากกาแฟดอยตุงขึ้นชื่อลือชาแล้ว แมคคาเดเมียเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่ปลูกทดแทนฝิ่น และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำผลมาอบปรุงรสจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์สวยงามได้มาตรฐาน จัดเป็นสินค้าที่ตรงกับกระแสนิยม ‘เฮลท์ แอนด์ เวลเนส’ ที่กำลังมาแรงในเวลานี้เลยค่ะ ผู้บริโภคเน้นของกินในแบบออร์แกนิกดีต่อสุขภาพ แผนกจัดซื้อจึงเน้นของกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

กาแฟดอยตุงจัดเป็นสินค้า Geographical Indication หรือ GI ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะทางภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพกาแฟไทยที่ผลิตจากแหล่งเดียว คือ บนดอยตุงเท่านั้น ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ด้วยความมั่นใจในคุณภาพ และอิ่มใจที่ได้สนับสนุนชุมชนที่ยั่งยืนอีกด้วยค่ะ ส่วนน้ำผึ้งและแมคคาเดเมียสเปรด นี่ไม่เคยพอขายเลยค่ะ” ภัทรพร กล่าว

พลชม ฐานะคนทำงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงสินค้าจากดอยสูง วันนี้กลายเป็นสินค้ายอดฮิตของคนเมืองหลวง กาแฟดอยตุงมีอายุกว่า 30 ปี แมคคาเดเมียตามมาติดๆ อายุกว่า 20 ปี โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติให้เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกเพื่อลดการปลูกพืชเสพติด และแก้ปัญหาความยากจนได้ยั่งยืน

ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาพื้นที่ป่าเขาบริเวณดอยตุง จ.เชียงราย ได้อย่างเข็งแกร่ง

“พืชทั้งสองชนิดต้องปลูกโดยใช้ร่มเงาไม้ใหญ่ ชาวบ้านจึงไม่ตัดไม้ทำลายป่าและหันกลับมาปลูกป่าที่ ‘เก็บกิน ขายได้’ ดอยตุงที่เคยหัวโล้นก็มีสีเขียวขึ้นมา สร้างพื้นที่ป่าไม้แหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ มีการใช้ที่ดินป่าไม้อย่างเหมาะสม นับเป็นความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพป่าจากราษฎรในพื้นที่ และภาคเอกชนเข้าร่วมกัน จากนั้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีการตั้งบริษัท ‘นวุติ’ ให้เป็นบริษัทต้นทางดูแลเรื่องของการเพาะปลูก และการดูแลผลผลิตป้อนสู่โรงงานแปรรูป เป็นการเริ่มต้นจากพลิกชีวิตชาวบ้านยากจนอย่างถึงที่สุด ชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้

ฉลากสินค้าทั้งกาแฟและแมคคาเดเมีย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC มอบสัญลักษณ์ UNODC บนสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ คนซื้อก็รู้สึกดีนะครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกไร่ฝิ่นสู่ป่ากาแฟ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม และเป็นส่วนสำคัญของการสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้คนบนดอยสูงอีกด้วยครับ”