posttoday

อุบัติเหตุในสนามแข่ง ทำชีวิต ฉัตรพล เจียมวิจิตร​ ​เกือบเปลี่ยน

10 กุมภาพันธ์ 2562

นักแข่งรถมืออาชีพ ฉัตรพล เจียมวิจิตร ที่ปรึกษาคนสำคัญของทีมผู้บริหารบริษัท สกาย โปรดักส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นเหล็กพรีเมียม

เรื่อง : วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

นักแข่งรถมืออาชีพ ฉัตรพล เจียมวิจิตร ที่ปรึกษาคนสำคัญของทีมผู้บริหารบริษัท สกาย โปรดักส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นเหล็กพรีเมียม ตอบโจทย์ทุกการออกแบบที่แตกต่าง ภายใต้แบรนด์นอร์ดิก คอปเปอร์ (Nordic Copper) เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบชาวไทยได้ลองสัมผัสกับวัสดุประเภทโลหะที่เป็นที่นิยมในยุโรปถือเป็นทางเลือกใหม่แห่งอนาคตที่จะมาพลิกโฉมหน้าวงการสถาปัตยกรรมแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเขาอัพเดทว่าตอนนี้มีวัสดุห่อหุ้มอาคารอย่าง Mesh ลักษณะคล้ายตาข่าย​ถือเป็นวัสดุด้านการออกแบบใหม่ที่เมืองไทยยังไม่เคยมีมาก่อน และพุ่งเป้าขยายธุรกิจห่อหุ้มอาคารไปที่สิงคโปร์และเวียดนาม

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้บริหารบริษัทของครอบครัว RMI ประมูลงานราชการ เช่น​ ระบบไอที​ ซ่อมแซมอะไหล่เครื่องบินให้กองทัพ อีกทั้งเขายังเป็นตัวแทน WPS ออฟฟิศซอฟต์แวร์ ที่เข้ามาตีตลาดขนานคู่กับไมโครซอฟท์ออฟฟิศของอเมริกา แม้หน้าที่การงานจะยุ่ง แต่เขามักหาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ชอบคือ การแข่งรถที่มีฝีไม้ลายมือระดับมืออาชีพทีเดียว

แต่สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ทำให้เขาเกิดอุบัติเหตุเกือบพิการตลอดชีวิต กระดูกสันหลังท่อนสุดท้ายยุบตัว ทำให้เกือบจะกลับมาเดินไม่ได้ แต่ด้วยการมีระเบียบวินัยการพักรักษาตัวหลังเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างดี เขาจึงกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรง และกลับมาแข่งรถได้อีกครั้ง​ และสามารถคว้าแชมป์เซอร์กิต​ แจ๊ซ วัน เมค เรซ ปี 2011 ได้เป็นผลสำเร็จ

เริ่มขับรถแข่งตอนอายุ 17 ปี

ฉัตรพลเป็นนักแข่งรถมืออาชีพชื่อดัง สังกัดทีม RMI Racing Team โดยเริ่มจากการเป็นนักแข่งรถตั้งแต่เด็กอายุเพียง 17 ปี เริ่มรายการแรกชิมลางสนามนครชัยศรี ในการแข่งระยะทาง 400 เมตร ควอเตอร์ไมล์ไม่จำกัดอายุ​คลาสซี​เพียงสนามแรกก็สามารถได้ลำดับที่ 3 มาครองในปี 1997

“แม้วัยรุ่นแต่ผมกล้าที่จะลงแข่ง ผมชอบอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน ทำให้ผมได้มีสติรู้ตัว ความสุขที่ได้ลงสนามแข่งต้องมั่นใจ ผมไม่ได้ลงแข่งได้ตามใจ ก่อนแข่งต้องหาโค้ช เรียนรู้สเต็ป บายสเต็ป​ ​แข่งทุกครั้งเป็นการวัดสกิลตัวเอง”

ครูคนแรกในวงการแข่งรถของฉัตรพลคือ อาจารย์ณัฐวุฒิ เจริญสุขวัฒนะ ได้เคารพรักเป็นครูลูกศิษย์ตั้งแต่ปี 2008 ที่การเป็นนักแข่งต้องรักษาวินัยที่เคร่งครัดมาก เพราะนั่นหมายถึงชีวิต

“ในการแข่งขันแต่ละครั้งเราอยู่ในเสื้อผ้ามิดชิดและปลอดภัย ตอนวัยรุ่นผมเป็นนักแข่งรถมาเรื่อยๆ ผมเริ่มศึกษาอู่แข่งในสนาม ซึ่งมีไม่กี่รูปแบบ ซึ่งฮอนด้าเปิดกว้างให้นักแข่งรถมือใหม่ ทำให้ผมได้แข่งขันในรายการแจ๊ซ วัน เมค เรซ จากคลาสซี​ ทำอันดับได้ดีก็ขยับมาอยู่คลาสบี​และคลาสเอคือ มืออาชีพ​ ผมมีองค์กรคือฮอนด้าซัพพอร์ตแต่ต้องจ่ายสตางค์แล้วเขาดูแลเรื่องรถแข่งให้ทั้งหมด เช่น สอนขับรถ ดูแลรถให้หมด เหมือนผมเป็นพีอาร์เรื่องสมรรถนะรถ

การพบอาจารย์ทำให้ผมเข้าใจระบบเซอร์กิตคือ การขับรถวนๆ ในสนาม ผมได้แข่งรถจริงๆ ตั้งแต่นั้น โดยผมตั้งเป้าว่า อยากได้แชมป์ของเซอร์กิต​ แจ๊ซ วัน เมค เรซ โดยแข่งปีละ 5 สนามเท่านั้น เพื่อดูพรสวรรค์ของผมเอง ผมมีโค้ชเป็นไกด์เพราะผมห่วงเรื่องความปลอดภัยของผม การแข่งประมาทไม่ได้เลย”

ถึงอย่างไรหากยังไม่เกิดอุบัติเหตุฉัตรพลก็ยังคงประมาท เพราะด้วยวัย 30 ปี ชอบทำสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งล้วนเกิดจากสิ่งไม่คาดคิด

อุบัติเหตุในสนามแข่ง ทำชีวิต ฉัตรพล เจียมวิจิตร​ ​เกือบเปลี่ยน

เป็นนักแข่งใจต้องนิ่ง

“ในการแข่งผมหวังแชมป์ทุกครั้ง แต่ครูเตือนว่าอย่าเลยมันยังไม่ถึงเวลา ถือว่าลงสนามเพื่อซ้อมใหญ่ แต่ด้วยความมั่นใจของผม ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาของผม ผมศึกษาสนามแล้วน่าจะทำได้ โดยย้อนไปเมื่อปี 2008 ผมเคยเกิดอุบัติเหตุขับรถชนกำแพงเหตุเกิดเพราะฝนตก อาจารย์แนะนำแล้วว่า ให้ใช้เกียร์ต่ำ แต่ผมเห็นคนอื่นที่แข่งมานานใช้ความเร็วสูง ผมก็ขับตามเขา ก็เลยชนกำแพง ครูเตือนเพราะรู้ว่าผมสกิลยังไม่ถึง ทักษะผมยังไม่ดีมากพอ เหมือนเด็กอนุบาลแข่งกับมหาวิทยาลัย และผมใจร้อน” อุบัติเหตุครั้งแรกเกิดขึ้นที่สนามพีระ เซอร์กิต จ.ชลบุรี ความเสียหายครั้งนั้นโชคดีที่มีเพียงเคล็ดขัดยอก รถพัง ล้อแตกประตูบุบ แม้เจ็บเพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้เขารู้สึกใจเสีย​ ถึงกับอยากกลับบ้านเลย และโค้ชได้ตักเตือนว่า เห็นไหม เตือนแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉัตรพลระมัดระวังมากขึ้น และในปีนั้นเขาทำผลงานได้ดีจนได้ขึ้นโพเดียมลำดับที่ 3 ที่ จ.นครราชสีมา ทำให้ปีหน้าเขามีกำลังใจที่จะแข่งต่อ

ต่อมาในปี 2009 เขาทำผลงานตลอดปีจบที่เข้าเส้นชัยคะแนนสะสมอันดับที่ 4 ความคิดว่าจะได้แชมป์เข้าใกล้มาทุกที

อุบัติเหตุชีวิตเกือบเปลี่ยน

กระทั่งปี​ 2010 ในวัย 31 ปี ด้วยความใจร้อนอยากได้แชมป์ไวๆ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุเกือบคร่าชีวิต

“ครูมักเรียกผมว่า ไอ้ดื้อ ตอนฝึกซ้อมผมโดนครูดุมาตลอด เพราะดื้อมาก ดื้อจนผมเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิต เพราะผมฝืน โดนแซงจะเอาชนะ จึงหลุดแผนทำให้ร่างกายเหนื่อย ตอนนั้นจำได้ว่าปี 2010 ปกติคนอื่นแข่ง 2 เรซ/วัน ก็เยอะแล้ว แต่วันนั้นผมแข่ง 4 เรซ/วัน ทำให้ร่างกายเหนื่อย เข้าโค้งไปชนกำแพง กระดูกสันหลังจากครั้งแรกโรงพยาบาลที่เชียงใหม่วิเคราะห์ว่าผมกระดูกหลังแตกเป็น 100 ชิ้นอย่างแน่นอน คือ ปีนั้นผมลง 2 รุ่น ในรายการเดียวกันคือ แจ๊ซ วัน เมค เรซ รุ่น 1,600 ซีซี จึงต้องแข่ง 2 รุ่น 4 รอบ/วัน เพราะผมอยากขึ้นรุ่นที่ใหญ่กว่าเครื่อง 1,600 ซีซี พอสนามที่ 2 แข่งที่เชียงใหม่ โดยโค้ชวางเป้าหมายไว้ว่า แข่งรุ่น 1,600 ซีซี ต้องซ้อมนะเพื่อให้ได้ความรู้สึกจากรถเพียงพอ แต่อย่าคาดหวัง อย่าเสี่ยงกับรุ่นอื่น ให้โฟกัสที่รุ่นแจ๊ซ วัน เมค เรซ พอ แต่ใจผมคิดว่าลงแล้ว ขับสนามแรกผมกลัว แต่ระมัดระวัง พอสนามที่ 4 ที่เชียงใหม่ ตอนเช้าผมแข่งแจ๊ซก่อนตอน 9 โมงเช้า ผมทำลำดับที่ดีจึงได้ออกที่ 1 แต่โค้งแรกผมโดนชน จึงตกมาอยู่อันดับท้ายๆ แต่ก็ไล่จนจบที่ 4 เหมือนความหงุดหงิดค้างอยู่ในหัว​ แต่ความฝันอยากได้แชมป์ประจำปี ทำให้ในหัวผมว้าวุ่นไปหมด ผมจึงไประบายกับรุ่น 1,600 ตอน 11 โมงเช้า ซึ่งอาจารย์บอกผมว่าซ้อมขับแค่ 4 รอบ พอเดี๋ยวแข่งจริงจะเหนื่อย เพื่อรอแข่งเวลาบ่ายสองต่อ คือผมต้องแข่งเช้า 2 เย็น 2 รอบ ครูจึงบอกว่าซ้อม 4 รอบพอแล้วให้เก็บรถ แล้วให้มีสมาธิกับแจ๊ซซะ อะไรที่ผิดพลาดในตอนเช้าให้ลืมซะ แต่ใจคนโมโหผมอยากระบาย”

พอขับรอบที่ 4 มีสัญญาณเตือนครบ 4 รอบให้พัก แต่ฉัตรพลไม่ฟังวิ่งสู่รอบที่ 8 คือ การฝ่าฝืนคำสั่ง จึงพลาดเนื่องจากมีน้ำมันหยดลงบนพื้นสนาม และเขาขับพบหย่อมน้ำมันเป็นคนแรก ทำให้ล้อของเขาหมุน​และลอยคว้างกลางอากาศ

“ผมโชคร้ายน้ำมันน่าจะเพิ่งหยดและผมเจอคันแรก หากกรรมการเห็นรถส่ายๆ เขาจะยกธงขาวเพื่อส่งสัญญาณว่าบนพื้นมีของเหลวบนถนน แต่ผมอาจไม่เห็นว่าธงยกหรือไม่ยก ซึ่งน้ำมันหยดบนโค้งไฮสปีดพอดี​ รถส่วนใหญ่วิ่งมาด้วยความเร็ว 140-160 เมตร/ชั่วโมง พอรถเจอน้ำมันทำให้รถเสียการทรงตัว ผมแก้ไขอาการรถหมุนบนสนามได้ 2 รอบ แต่รอบที่ 3 ผมแก้ไม่ได้ รถพุ่งไปทางซ้าย ซึ่งเป็นแท่นแบริเออร์ปูนวางอยู่ ไม่มีกรวยตั้งบัง รถของผมปัดเข้าแท่นปูนเต็มๆ จำได้ว่าผมไม่ได้เบรกเลย เพราะเบรกไม่ทัน ชนเข้าปูนเต็มๆ หน้า พอรถชนแท่นปูนปุ๊บ รถผมก็ลอย แล้วตกลงมาสู่พื้น ตอนรถกระแทกลงพื้น​ ผมรู้สึกเลยว่ากระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวของผมท่อนสุดท้าย
หรือ Lumber 2 แตก ซึ่งตอนแข่งสนามนี้ผมไปแข่งที่เชียงใหม่ และพี่ชายของผมตามไปด้วย พอเคลื่อนย้ายผมไปโรงพยาบาลพี่ชายเห็นฟิล์มเอกซเรย์เห็นกระดูกส่วนนี้แตกละเอียด”

อุบัติเหตุในสนามแข่ง ทำชีวิต ฉัตรพล เจียมวิจิตร​ ​เกือบเปลี่ยน

เจ็บเจียนขาดใจ

ฉัตรพล เล่าว่า ขณะที่รถชนแท่นแบริเออร์เสร็จ พอรถกระแทกพื้นแล้วหยุดเลย แต่เขายังมีสติจึงรู้สึกเจ็บช่วงล่างตั้งแต่หลังส่วนล่างลงไปหัวเข่า​ เจ็บเหมือนใจจะขาด และอยู่ในชุดแข่ง​ หมวกที่ร้อนมากๆ เขาค่อยๆ ปลดเข็มขัด เปิดประตูลงมาทรุดหัวเข่าลงกับพื้นแล้วค่อยๆ ล้มตัวลงนอน ที่แข็งแกร่งพยุงตัวแบบนั้นได้เพราะการออกกำลังกายมาโดยตลอดด้วยการเล่นกล้าม ทำให้กล้ามเนื้อแก่นกลางลำตัวของเขาค่อนข้างแข็งแรง กล้ามเนื้อจึงหุ้มกระดูกสันหลังที่เสียหายไว้ได้

“ก้าวแรกที่ผมเหยียบบนพื้นรู้สึกว่า ทำไมมันเจ็บขนาดนี้ โดยผมใช้วิธีโหนตัวแล้วก้าวลงมา แล้วรู้สึกตัวทรุดคุกเข่าลงแล้วค่อยๆ ตะแคงตัวลงนอนราบกับพื้น เจ็บแบบหายใจไม่ออก ผมต้องขอบคุณทีมรักษาพยาบาลและทีมรักษาความปลอดภัย Por Medic ที่มืออาชีพมาก เมื่อทีมรักษาความปลอดภัยวิ่งมาหาผม เขาถามอาการผมว่า ผมเจ็บไหม นอนท่าไหนผมรู้สึกโอเคที่สุด เพื่อประเมินอาการบาดเจ็บ พอผมบอกอาการไปเขารู้ว่าผมน่าจะมีกระดูกหัก เขาเอาเปลมาตักผมขึ้น ซึ่งเจ็บมากผมต้องเกร็งหลังตลอด พอตักผมเสร็จพาขึ้นรถพยาบาลส่งโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ราว 20 นาที ขณะที่นอนบนรถพยาบาลผมรู้สึกเจ็บมากจนต้องให้ออกซิเจน ผมรู้สึกอึดอัดเพราะชุดแข่งก็ถอดไม่ได้ เจ็บมาก พอถึงหมอมาถามอาการและวิเคราะห์ว่า กระแทกแรงมากจนกระดูกสันหลังแตกต้องผ่าตัดด่วน เนื่องจากหมอกลัวว่า กระดูกที่คมแหลม ถ้าไปทิ่มอวัยวะต่างๆ เช่น เส้นเลือด เส้นประสาท ท่อน้ำเลี้ยงที่กระดูกสันหลังขาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ เคสผมถือว่าเป็นเคสหนึ่งในล้านที่พอกระดูกแตกแล้วยังเป็นทรงของกระดูกอยู่ พอคุณแม่ของผมซึ่งท่านเป็นพยาบาลเก่าที่อเมริกาเกือบ 30 ปีรู้ข่าว ท่านต้องหาความคิดเห็นที่สองจึงติดต่อหมอที่กรุงเทพฯ ที่เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสันหลังจึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผมจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ มารักษากับ นพ.ดิเรก ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ”

เลือกไม่ผ่าตัดและนอนรักษาตัวนิ่งๆ นาน 1 เดือน

ฉัตรพลนอนคืนเดียวที่เชียงใหม่ ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหักไม่ใช่เรื่องง่าย สร้างอาการเจ็บจนไม่อยากจะหายใจ

“ครอบครัวของผมจองเครื่องบิน 6 ที่นั่ง ของสายการบินไทยเพราะผมต้องนอนมาบนเครื่องและต้องอยู่ท้ายลำ ซึ่งผมสลบไม่ได้การเคลื่อนย้ายแต่ละทีทำให้ผมเจ็บมาก แค่หายใจปกติก็เจ็บแล้ว เจ็บมากๆ เพราะเส้นประสาททั้งนั้น เจ็บจนอยากตายเพราะทีมแพทย์ไม่อยากให้ผมหลับ ต้องสื่อสารกับแพทย์ตลอด เช่น เลือดออกไหม เจ็บไหม รู้สึกอย่างไร ก่อนขึ้นเครื่องผมฉีดยาแก้ปวดถึง 6 เข็ม” ทุกเวลานาทีเคลื่อนคล้อยไปอย่างช้าๆ เขาเฝ้ามองนาฬิกาตลอด เพราะทุกนาทีความรู้สึกเจ็บปวดทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แค่นอนเฉยๆ ยังเจ็บ และต้องหอบความเจ็บนานถึง 1 ชั่วโมง เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรมานที่สุดในชีวิต

เมื่อมาถึงมือคุณหมอที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธวิเคราะห์ว่า กระดูกสันหลังเขาแตกและยุบลงไป 17% จะทำการผ่าตัดก็ได้​ ไม่ผ่าตัดก็ได้

“ระหว่างให้ผมผ่ากับไม่ผ่า ผมเลือกไม่ผ่าเพราะถ้ากระดูกยุบเกิน 50% ต้องผ่าอยู่ไม่ได้แล้ว อีกทั้งกระดูกคนเรามหัศจรรย์ เพียง 6 สัปดาห์ก็ต่อกัน​ รอ ​3 เดือนกระดูกก็ติดกันแล้ว ผมจึงเลือกการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่า แต่ต้องนอนเฉยๆ 1 เดือน-​1 ปีก็ได้ ผมลุกไม่ได้เลย 3 เดือน โดยต้องนอนราบกับเตียง นอนกินขับถ่ายด้วยท่านอนทั้งหมด ผ่านไปสักพักผมสามารถนอนทำงานได้ ประชุมได้ โดยเดือนแรกผมนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ผมย้ายมานอนพักรักษาตัวที่บ้านพักที่หัวหินอีกเดือนครึ่ง 3 เดือน ผมเริ่มหัดเดิน ใช้วอลเกอร์และใส่เฝือกดามหลัง เวลาอยู่แนวตั้งไม่ว่าจะนั่งหรือยืนต้องใส่เฝือกอ่อนตลอด”

อาการหลังจากต้องนอนติดเตียงเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้ฉัตรพลพบปัญหาคือ ลุกขึ้นมาแล้วรู้สึกมึน จนเขารู้สึกเครียดมาก เพราะตาเบลอ เพราะเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง นั่งสักพักบ้านหมุนมึนหัวแล้ว แต่ต้องฝืนช่วยเหลือตัวเองด้วยการเริ่มหัดเดินในเดือนที่ 4 5 6 พอเข้าเดือนที่ 7 เริ่มใช้ไม้เท้า แต่เขายังดื้อใช้ไม้เท้าลงฝึกซ้อมที่สนามแข่งรถอีกครั้ง

“ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผมนอนป่วย อาจารย์ณัฐวุฒิมานั่งเฝ้าข้างเตียงทุกวันแล้วให้กำลังใจผม ซึ่งเขาก็เคยบาดเจ็บมาหลายครั้งจนมีเหล็กดามอยู่ในร่างกายถึง 13 ชิ้น อาจารย์บอกถึงการรักษาตัวในภาวะกระดูกแตกให้กินแคลเซียม ทำตามคำสั่งหมอเพื่อให้กระดูกสมานเร็วที่สุด ซึ่งผมก็เชื่อคุณหมอและเสิร์ชถึงข้อปฏิบัติในการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดมาก เพราะผมกลัวกลับไปเดินไม่ได้อีก เพราะขาเริ่มลีบ​ ขาของคนเราสำคัญไว้ทำสิ่งต่างๆ มากมาย ผมนอนร้องไห้ทุกคืน กลัวเดินไม่ได้อีก​ ผมนั่งหยิกขาตนเองที่อ่อนแรง เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่นานเป็นเดือนทุกวัน” อุบัติเหตุครั้งสำคัญในชีวิตทำให้เขาได้ตรึกตรองว่า​ เขาแค่อยากแข่งรถเพราะเป็นกิจกรรมที่เขาทำแล้วรู้สึกสนุก แต่ทำไมต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงด้วย แต่ก็ได้กำลังใจที่ดีจากคุณหมอ​และ​คนในครอบครัว

อุบัติเหตุในสนามแข่ง ทำชีวิต ฉัตรพล เจียมวิจิตร​ ​เกือบเปลี่ยน

“ช่วงนอนป่วยผมค่อนข้างฟุ้งซ่าน แต่ด้วยวัยที่แข็งแรงของผมกระดูกมีโอกาสเชื่อมต่อได้เร็ว แม้ตอนนี้ผมกลับมาเดินได้ปกติแล้วแต่ยังส่งผลต่อขาผมก็คือผมไม่สามารถยืนกระต่ายขาเดียวได้ ร่างกายน่าจะเสียศูนย์บางอย่าง เพราะกระดูกมันหายไป 17% และผมเคร่งครัดในการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อ โดยการเล่นไตรกีฬา เพื่อสร้างกล้ามเนื้อในทุกวัน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง แค่น้ำหนักตัวขึ้น 80 กิโลกรัม ผมจะรู้สึกเลยว่าเจ็บและเมื่อยที่หลัง”

คีย์สำคัญที่ทำให้ฉัตรพลกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้ลงแข่งขันจนได้แชมป์แจ๊ซ วัน เมค เรซ ในปี 2011 ได้สำเร็จคือ การมีวินัยสูงในการนอนรักษาตัวให้นิ่ง ประกอบกับอ่อนแอได้แต่อย่าท้อถอย และต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งและต้องใส่เฝือกอ่อนดามตัวอยู่เกือบปี เบื่อรำคาญแต่ต้องยอม​

จนคุณหมอบอกว่าเอาเฝือกออกได้แล้ว เพราะกระดูกสันหลังรูปทรงดีมากแล้ว ที่สำคัญหากรักจะกลับมาแข่งรถเขาต้องเลิกดื้อกับครูได้แล้ว แล้วเขาก็ทำสำเร็จโดยต้องฝ่าด่านความไม่เห็นด้วยของคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งพี่ชายและพี่สะใภ้ และเขาก็พิสูจน์ได้ว่า เขามีความระมัดระวังที่มากพอ

“หลังจากผมรักษาตัวหายดีแล้ว ผมซุ่มฝึกซ้อมนาน 8 เดือน แล้วลงแข่งสนามแรกที่เมืองทอง ควอลิฟาย ผมอยู่ลำดับที่ 11 ในการออกรถ เรซแรกผมจบที่ลำดับที่ 8 เรซที่ 2 ผมจบที่ลำดับที่ 4 ในวันเดียวกัน ผมรู้สึกดีใจมาก ได้ขึ้นโพเดียม แค่รอเคาะสนิมนิดเดียว พอไปสนามที่ 3-4 กับ 5-6 แข่งติดกันเลยที่เพชรบุรี ผมควอลิฟายได้ออกตัวที่หนึ่งทั้งสองวัน พอแม่รู้ว่าผมกลับไปแข่งรถอีกแม่รู้สึกผิดหวังมาก ผมก็อธิบายกับแม่ว่า อาร์ตปลอดภัยดี​ อาร์ตมีสติรู้ดีทุกอย่างและไม่ประมา​ทแล้ว​ พอสนามที่ 7 กับ 8 ผมพาครอบครัวของผมไปดูแข่งรถที่ภูเก็ตเลย เพราะนี่คือความฝันของผมที่อยากได้แชมป์ โดยสนามที่ 7 กับ 8 ผมเข้าที่ 1 ทั้งสองครั้งคะแนนรวมผมขาด แข่งสนามสุดท้ายที่พีระ เซอร์กิต ผมได้แชมป์เลยในปี 2011 เพราะคะแนนรวมผมมาเป็นที่ 1 ในรุ่นแจ๊ซ วัน เมค เรซ ได้รับถ้วยประทานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ นำพาความภาคภูมิใจมาสู่ผมเป็นอย่างมาก”

การได้แชมป์ครั้งนั้นให้ประสบการณ์กับชีวิตเขาอย่างมาก ทำให้เขารู้ว่าทุกอย่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันเสมอ ดังนั้น อย่าเร่งรัด อย่าประมาท ต้องให้เวลากับทุกๆ อย่าง ถ้าเร่งจะอันตราย

“ในการแข่งรถที่ประสบความสำเร็จ ผมเก็บรายละเอียดในทุกอย่างของการขับรถ จุดเสี่ยงยิ่งต้องประณีตกับมัน เพราะนักแข่งไม่ถนัดไปทุกอย่าง ผมไม่ใช่นักแข่งสายบู๊ แต่ผมหาความเสถียรในการขับ รอจังหวะให้ได้ อย่าเสี่ยงเลย ต้องมั่นใจแล้วค่อยไป อาจารย์สอนว่า ถ้าห้าสิบห้าสิบอย่าไป แปดสิบยี่สิบไปได้แค่ให้คิดดูก่อน ถ้าร้อยค่อยไป ครูสอนว่า ถ้าวันนี้ขับ 1 นาทีสิบวิ พรุ่งนี้ถึงเราอยู่อันดับสุดท้ายแต่ขับเข้าเส้นชัยได้เวลา 1 นาทีแปดวิ เวลาเราดีขึ้นแค่นั้นพอแล้ว อันดับไม่สำคัญให้สู้กับตัวเองเท่านั้นเป็นพอ​“