posttoday

มองพิมพ์เขียวสะเทือนถึงง้าวกวนอู (และพระราม)

10 กุมภาพันธ์ 2562

ใครทำงานวงการก่อสร้างอาจมีคำถามหนึ่งโผล่ขึ้นมาในใจ เมื่อหยิบพิมพ์เขียวขึ้นมาทีไรแล้วปรากฏว่ามันเป็นกระดาษสีฟ้าปนน้ำเงิน...

โดย...พิธิพันธ์ วิประวิทย์

ใครทำงานวงการก่อสร้างอาจมีคำถามหนึ่งโผล่ขึ้นมาในใจ เมื่อหยิบพิมพ์เขียวขึ้นมาทีไรแล้วปรากฏว่ามันเป็นกระดาษสีฟ้าปนน้ำเงิน...

บอกได้ว่าความสับสนในสีฟ้า น้ำเงิน และเขียวแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่าแค่เรื่องกระดาษพิมพ์เขียว หากใครมีญาติผู้ใหญ่สูงอายุ หรือญาติต่างจังหวัด (โดยเฉพาะชาวแม่กลอง) คงเคยมีประสบการณ์เรียกสีฟ้า สีน้ำเงิน ว่าเป็นสีเขียวกันบ้างไม่มากก็น้อย...

แม่บอกให้ลูกไปหยิบหม้อใส่แกงสีเขียว ลูกบอกไม่มี แม่หายเข้าไปแวบเดียว บอกนี่ไงหม้อเขียว ลูกบอกว่านี่มันหม้อสีน้ำเงิน...

จบที่การถกกันว่าอะไรคือน้ำเงินอะไรคือเขียว ซึ่งไม่เคยจบลงได้สักที...

เฉลยกันง่ายๆ เลยละกันว่า แต่ก่อนนี้ไทยใช้คำว่า “เขียว” ครอบคลุมทั้งสีเขียว ฟ้าและน้ำเงิน และยุคที่พิมพ์เขียวเข้ามาในไทย น่าจะเป็นยุคที่ชาวไทยก็ยังใช้นิยามเช่นนี้อยู่ กระดาษพิมพ์แบบสีฟ้าที่ภาษาอังกฤษเรียก Blue Print จึงถูกแปลว่า “พิมพ์เขียว” ไป

บางคนอาจถกว่าที่มาของชื่อกระดาษพิมพ์เขียว อาจจะมาจากสีของกระดาษชนิดนี้ก่อนผ่านการพิมพ์ลายเส้นลงไปซึ่งมีสีเหลืองเจือเขียวนิดๆ แต่หากเชื่อหลักการตั้งชื่อของนวัตกรรมนำเข้า ว่าน่าจะแปลจากภาษาต่างชาติโดยตรง พิมพ์เขียวก็ควรแปลโดยตรงจากคำว่า Blue Print มากกว่า

เพียงแต่ตอนนั้น แม้จะมีคำว่าฟ้าที่หมายถึงท้องฟ้าแล้ว แต่ไม่ได้นำมาเป็นชื่อสี สี Blue ในคำว่า Blue Print จึงแปลว่าเขียวแทน

มองพิมพ์เขียวสะเทือนถึงง้าวกวนอู (และพระราม)

สุดหล้าฟ้าเขียว ก็น่าจะเป็นหนึ่งในวลีที่ทำให้เห็นอดีตในวันที่ “สีฟ้า” ยังไม่ปรากฏ เอ๊ะ หรือเป็นเพราะอากาศสะอาดหมดจด ไร้ PM2.5 ฟ้าจึงเป็นสีเขียว... ก็คงไม่ใช่

หลายคนอาจสงสัยเลยเถิดไปถึงว่าสายตาคนโบราณอาจแยกแยะสีสันได้ไม่มากเท่าคนสมัยนี้ แต่หลักฐานข้างเคียงบ่งชี้ ว่าประเด็นน่าจะอยู่ที่การระบุสีในภาษาพูดทั่วไปในสมัยโบราณ ไม่ได้เคร่งครัดและไม่ได้มีนิยามแบบสมัยนี้มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่นชาวพิษณุโลกสมัยก่อนที่เรียกรถเมล์สีส้มและสีฟ้ากันติดปากว่า รถเมล์แดงและรถเมล์เขียว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า ในวิถีชีวิตแบบหนึ่ง สีอะไรออกร้อนๆ ก็เรียกรวมๆ ว่าสีแดง สีอะไรเย็นๆ ก็เรียกรวมๆ ว่าสีเขียว ไม่ใช่เรื่องผิด

(แต่ชาวพิษณุโลกรุ่นใหม่จะเรียกรถเมล์ฟ้าว่ารถธรรมดาแทน ขณะที่รถเมล์ส้ม ยังเรียกรถเมล์แดงอยู่)

และถ้าจะสืบกันไปถึงต้นตอทางภาษาที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน “ปัวเขียว” ในภาษาเขมรปัจจุบันแปลว่าสีน้ำเงิน ส่วน “ปัวใบตอง” แปลว่าสีเขียว

ซึ่งก็คือ ไทยเราตั้งสีฟ้าเพื่อแยกสีออกมาจากสีเขียว แต่เขมรตั้งสีใบตองแยกมาจากสีเขียว (สีน้ำเงิน) แทน

มันก็จะงงๆ หน่อย…

หลักฐานที่คำว่า “เขียว” ที่กินความกว้างไกลกว่าสีเขียวในปัจจุบันยังมีอีกไม่น้อย เช่นคำว่า “เมฆเขียวครึ้มไปหมด” “ฟกช้ำดำเขียว” “ดำจนเขียว” รวมถึงในสมัยก่อนสุนัขสีดำมักถูกตั้งชื่อว่าไอ้ “เขียว” เป็นต้น

เห็นได้ว่า เขียว กินความได้ตั้งแต่ สีเขียว ฟ้า น้ำเงิน จนกระทั่งสีโทนเย็นเข้มออกดำ

ต้องเน้นย้ำอีกทีว่าไม่ใช่เพราะคนยุคก่อนแยกแยะสีไม่ได้ (เพราะเอาเข้าจริงหากระบุสีให้ชัด คนยุคก่อนก็มีคำระบุสีให้แม่นยำขึ้นมากมาย เช่น สีคราม มอคราม เขียวไหล เขียวไข่กา) เพียงแต่ในยุคก่อน การใช้คำว่าเขียวเรียกสีโทนเย็นกว้างๆ ไม่ใช่เรื่องผิด และคำว่า “สีฟ้า” “สีน้ำเงิน” เกิดขึ้นภายหลัง

หม้อแกงสีน้ำเงินที่แม่ยกมา แม่จึงมีความเห็นว่ามันเป็นสีเขียว

ก่อนจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์จากมองตะเกียบฯ เป็นมองหม้อใส่แกงฯ ก็ต้องรีบบอกว่าเรื่องทำนองนี้ ไม่ได้เกิดกับภาษาไทยเท่านั้น เพราะอารยธรรมตะเกียบทั้งหมดก็เป็น

ชาวญี่ปุ่นยังมีเศษซากความคลุมเครือระหว่างสีเขียวและสีฟ้าในคำว่า “อะโอะ” (青) ที่ทุกวันนี้มักหมายถึงสีฟ้า

ขณะที่ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นมีคำว่า “มิโดริ” (绿) เรียกแทนสีเขียว แต่มีการใช้ในบางบริบทที่ “อะโอะ” ยังหมายถึงสีเขียวอยู่

หนึ่งในความสับสนที่ส่งผลถึงยุคสมัยใหม่ คือเมื่อญี่ปุ่นในยุคโชวะเริ่มใช้สัญญาณไฟจราจรหรือที่บ้านเราเรียกไฟเขียวไฟแดง

ยุคนั้น ไฟเขียวของญี่ปุ่นเป็นสีฟ้า และถูกเรียกว่า ไฟ(สี)ฟ้า จนถึงปี ค.ศ. 1973 ญี่ปุ่นจึงค่อยเปลี่ยนให้ไฟเขียวกลายเป็นสีเขียวตามมาตรฐานสากล แต่ไฟเขียวก็ยังคงถูกเรียกว่าไฟ (สี) ฟ้าอยู่ดี

และความสับสนในสีฟ้าสีเขียวในชาวเกาหลีก็มีเช่นกัน (โดยเฉพาะในคนสูงอายุและชนบท)

สำหรับต้นกำเนิดวัฒนธรรมตะเกียบอย่างจีน นอกจากความสับสนในสีฟ้ากับเขียวแล้ว คำว่า ชิง (青 - อักษรตัวเดียวกันกับ “อะโอะ” (สีฟ้า) ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งปัจจุบันหมายถึงสีฟ้า (Cyan) นั้น ก็หมายถึงสีเขียว และยังหมายถึงสีดำได้อีกด้วย

เพื่อให้สอดคล้องกับสีเขียวของไทยที่เคยแทนสีโทนเย็นหลากหลายได้ จึงขอแปลสี “ชิง” (青) นี้ว่าสีเขียวละกัน (ทั้งๆ ที่วัดจากนิยามปัจจุบันควรจะเรียกว่าสีฟ้า)

คำว่า “เส้นเขียว” (青丝) ในภาษาจีนแปลว่าเส้นผมดำขลับของวัยหนุ่มสาว วลี “青丝变白发” ที่แปลตรงตัวว่า “เส้นเขียวเปลี่ยนเป็นผมขาว” ก็มีความหมายว่า “จากวัยหนุ่มสาวกลายเป็นคนเฒ่าคนแก่”

“ว่ากันว่า เหล่าจื่อ-ศาสดาลัทธิเต๋า หลังจากเขียนคัมภีร์เต้าเต๋อจิง (เต๋าเต็กเก็ง) เสร็จเรียบร้อย ก็ขี่วัวเขียว (青牛) ออกนอกด่าน จากเมืองจีนไป”

แท้ที่จริง “วัวเขียว” ในที่นี้ น่าจะหมายถึง “ควาย”

ปกติแล้ว “ควาย” ในภาษาจีนจะใช้คำว่า “วัวน้ำ”
(水牛)

เพราะในวิธีคิดของระบบภาษาจีน สัตว์ใดที่ล่ำบึ้ก มีเขารูปทรงฐานหนา ปลายแหลม ไม่แตกกิ่ง ล้วนแตกแขนงออกจาก “วัว”

ฉะนั้นสัตว์คล้ายวัว ชอบแช่น้ำ หรือตัวดำ ก็ควรจะหมายถึง ควาย

จริงอยู่ที่มีผู้อาศัยความลักลั่นระหว่างสีเขียวและดำเติมแต่งเรื่องราวแบบเทพปกรณัมให้ “วัวเขียว” ของเหล่าจื่อ
กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่มีหน้าตาเป็นวัวเขาเดียวตัวสีเขียวอยู่ด้วย

แต่หากเป็นภาพวาดที่เน้นความสมจริง “วัวเขียว” ที่เหล่าจื่อขี่ก็คือ “ควายดำ” ดีๆ นี่แหละ

นอกจากนั้นในภาษาจีน “ปลาเขียว” (青鱼) คือปลา Black Carp “เสื้อเขียว” (青衣) คือเสื้อที่ชาวบ้านสมัยโบราณใส่กัน ซึ่งมักมีสีครามหรือครามอมดำ

คนจีนรุ่นใหม่เมื่อคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ก็ยังมีความสับสนระหว่างสีเขียว น้ำเงิน คราม และสีดำอยู่บ้างไม่ต่างจากชาวไทย

และด้วยระบบคำกำหนดสีเช่นนี้ จึงส่งผลให้ในภาพวาดพู่กันจีนตั้งแต่โบราณ สามารถใช้สีฟ้าครามจนถึงเขียว แทนสีของต้นไม้ใบหญ้าได้แบบไม่เคอะเขินลังเล (ส่วนท้องฟ้ามักเว้นว่าง ไม่ใส่สีใดๆ)

ร้อนถึงง้าวของกวนอู ซึ่งชื่อว่า “ง้าวมังกรเขียว” (青龙偃月刀) ว่าที่จริงแล้วควรมีสีเขียว ฟ้า น้ำเงิน หรือนิล
(ดำ) ดี

...ว่ากันตามจริง สีนิลก็ไม่เลว

แต่เรื่องนี้ต้องมีคำอธิบาย มิเช่นนั้นแล้ว Code RGB ที่ระบุสีของง้าวไว้กว้างเกินไป อาจสั่นคลอนถึงศรัทธาอันควรเป็นหนึ่งเดียว (เขียนให้ตื่นเต้นไปอย่างนั้นเอง โปรดอย่าจริงจัง)

เนื่องจากมังกรเขียว (青龙) ที่เอามาเป็นชื่อง้าวไม่ใช่เรื่องของ มังกรและสีสันที่มีได้หลากหลาย แต่มังกรเขียวนั้น ถูกกำหนดเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำทิศตะวันออก มีธาตุไม้ และสีประจำธาตุไม้คือสีเขียวและสีฟ้า (Cyan) ฉะนั้นหากพิจารณาตามศาสตร์สัญลักษณ์แล้ว ง้าวมังกรเขียวจึงควรมีสีเขียวหรือฟ้า ไม่ใช่สีดำหรือน้ำเงิน

เพราะสีดำหรือน้ำเงิน เป็นสีประจำธาตุน้ำ มิใช่ธาตุไม้

และหากพิจารณาจากหลักวัสดุศาสตร์ โลหะที่เป็นที่นิยมในยุคนั้นน่าจะเป็นสำริด (青铜) ง้าวมังกรเขียว ก็อาจจะมาจากสีสนิมเขียวของสำริดก็เป็นได้ (แสดงว่าท่านคงออกศึกบ่อย ไม่ค่อยมีเวลาได้ขัดเงา)

การวิเคราะห์สองสามย่อหน้าหลังโปรดอย่าถือจริงจัง เพราะในทางประวัติศาสตร์ ง้าวกวนอูไม่มีอยู่จริง การวิเคราะห์จึงเป็นไปเพื่อเสริมอรรถรสและแสดงให้เห็นวิธีคิดในกรณีเกิดความคลุมเครือ

ความสับสนในสีเขียว น้ำเงิน ฟ้า ดำ ยังเลยไปถึงอารยธรรมอินเดีย จนเคยมีคนเอามาเป็นประเด็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะอาจจะเป็นฝรั่งคอเคซอยด์ตาสีฟ้ามาแล้ว เพราะสีตาของท่านที่ถูกระบุว่าเป็นสี “นิละกะ” (สีนิล) ซึ่งเป็นสีที่กินความรวมตั้งแต่สีเขียว น้ำเงิน และดำ เช่นกัน

และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในที่มาที่พระรามของอินเดียที่มีกายเป็นสีดอกอัญชัน แต่พอมาถึงไทยก็กลับ “กาย” เป็นสีเขียวซะอย่างนั้นเลย

ก่อนที่จะกลายเป็นมองตะเกียบเห็นโรตี จึงขอหยุดไว้เท่านี้ และปล่อยให้ความสงสัยของท่านผู้อ่านได้งอกเงยพรั่งพรูอย่างเป็นอิสระต่อไป