posttoday

สุภา ลิ้มวงศ์ สอนเด็กๆ ปั้น ปัก ถัก วาด

09 กุมภาพันธ์ 2562

ต้องมีมากเท่าไหนถึงจะแบ่งปันคนที่มีน้อยกว่า

ต้องมีมากเท่าไหนถึงจะแบ่งปันคนที่มีน้อยกว่า มากน้อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่จิตใจที่คิดอยากแบ่งปันนั้นต่างหาก มีค่ามากกว่ามูลค่าของทรัพย์สมบัติ

สุภา ลิ้มวงศ์ อดีตบรรณาธิการ อิน แมกกาซีน ทำงานสื่อสารมวลชนมา 30 ปี วันนี้เธอผันตัวไปทำงานส่วนตัวเล็กๆ ที่เกี่ยวกับงานประดิษฐ์ มีร้านชื่อ “ที่ 1” เป็นล็อกขายแจ็กเกตยีนส์ ที่ตลาดนัดรถไฟรัชดา และเจ้าของแฟนเพจ supapradit แต่อุดมการณ์ในการทำงานจิตอาสาไม่เคยผันแปร

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการแบ่งปันไม่เคยลดน้อยลง กลับยิ่งมีโอกาสได้แบ่งปันมากขึ้น จากเวลาที่คล่องตัวจัดสรรได้เอง และจากทักษะที่เธอมี เย็บ ปัก ถัก ร้อย วาด และห้วงเวลาหนึ่งของเด็กๆ ก็สดใสขึ้น จากการแบ่งปันของเธอ

“ถ้าเราเห็นอะไรที่เราสามารถทำได้มากกว่าที่เราทำเป็นก็อยากสอน เป็นนิสัยตั้งแต่เด็กแล้ว มัธยมเริ่มผมยาวก็เริ่มถักผมให้เพื่อนที่โรงเรียน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เรารู้จักคนแบบต่างๆ เข้ากับคนได้ง่าย เรื่องจิตอาสาเราก็ทำอยู่เรื่อยๆ ที่มีโอกาส”

สุภา ลิ้มวงศ์ สอนเด็กๆ ปั้น ปัก ถัก วาด

สำหรับงานจิตอาสาล่าสุดที่ทำ คือ “โครงการ ป๊อบ ปั้น ปัก ถัก วาด” ซึ่งเป็นโครงการของโรงเรียนสอนวาดรูปป๊อปอาร์ต (POP ART) ของ “ครูปู” กนิษฐา ประสิทธิชัย” และ “ครูจุ๊” กัลย์ รามสูตร” ที่เธอเรียนอยู่

“สานต่อมาจากที่เคยไปสอนวาดรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

เมื่อปีที่แล้วทางโรงเรียนติดต่อมาทางครูจุ๊ ครูปู ขอให้สอนเย็บปักถักร้อย เพื่อให้เด็กๆ ได้นำไปต่อยอดในการดำรงชีวิต และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน น้องๆ เป็นเด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ปะเกอกะเญอและม้ง จึงได้ร่วมทีมไปสอนปักผ้าแก่เด็กๆ ร่วมกับเพื่อนๆ
ที่แบ่งทีม ทั้งปั้นหน้าตุ๊กตา ถักตุ๊กตาชาวเขา และวาดรูปสมเด็จย่า”

การได้ร่วมทำงานจิตอาสากับป๊อปอาร์ตเคยได้ร่วมสอนวาดภาพมาหลายครั้งแล้ว ทั้งเด็กๆ และประชาชนทั่วไป เคยไปเป็นผู้ช่วยครูปู ครูจุ๊ สอนวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายครั้ง ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สุภา ลิ้มวงศ์ สอนเด็กๆ ปั้น ปัก ถัก วาด

เคยวาดรูปขาย ปักผ้าขาย เพื่อนำเงินหรือซื้อของไปมอบให้เด็กๆ ที่อยู่ห่างไกล บางครั้งก็ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน

“สำหรับการทำงานจิตอาสา พวกเราชาวป๊อปอาร์ตได้ตั้งปณิธานที่จะสานต่อที่พ่อทำ ตั้งแต่วันที่พระองค์จากไป พวกเราก็แปลงความทุกข์ เศร้า ให้เป็นแรงผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดีๆ เพื่อคนอื่น”

นอกจากร่วมกับกลุ่มป๊อปอาร์ต สุภายังทำอีกหลายอย่าง ที่ทำต่อเนื่องอยู่เสมอก็คือช่วยโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญซึ่งพี่สาวสอนอยู่ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์

“เคยทำงานฝีมือขายโดยบอกว่าจะเอาเงินไปทำบุญ สร้างอาคารเรียนหลักสูตรหนึ่งของอนุบาล ที่โรงเรียนที่พี่สาวสอนอยู่ เราเลยช่วยพี่สาวหางบประมาณ ก็มีเพื่อนๆ ช่วยซื้อ อย่างของราคา 100 บาท ก็โอนเงินมาให้ 500 1,000 ฝากทำบุญด้วย ตอนนั้นใช้เงินตัวเองลงทุนไป 5 หมื่นบาท ขายของได้เงิน 2 แสนกว่าบาท

สุภา ลิ้มวงศ์ สอนเด็กๆ ปั้น ปัก ถัก วาด

เวลากลับบ้านไปหาพี่สาวที่อุตรดิตถ์ก็ไปสอนวาดรูป พาเด็กๆ เดินไปตามหมู่บ้าน เก็บดอกไม้ ใบไม้ ดิน หินมาตำมาใส่น้ำ เพื่อเอาสีจากธรรมชาติมาวาดรูป มาระบาย

เด็กๆ ชอบมาก มีความสุข เราเองก็มีความสุขมาก เรารักเด็ก ไม่มีลูก อยู่กับเด็กๆได้เห็นจินตนาการของเขา มันอะเมซิ่ง แต่ละคนน่าตื่นเต้น เด็กหลากหลายเด็กกรุงเทพฯ สอนวาดรูปเขาก็แสดงออกอีกแบบหนึ่ง เด็กต่างจังหวัดก็รู้สึกอีกแบบหนึ่งเด็กตาบอดก็เคยไปเป็นครูช่วยสอน เราก็ทึ่งว่าเขามองไม่เห็นแต่เขามีวิธีการวาดของเขา”

สุภา บอกว่า ไม่ต้องมีมากก็สามารถเป็นจิตอาสาได้ เชื่อว่าในจิตใจทุกคนนั้นมีความเอื้ออารี แบ่งปันอยู่แล้ว

“เห็นจากรัชกาลที่ 10 มีโครงการจิตอาสา คนเข้าร่วมเยอะมาก จริงๆคนไทยเรา สังคมไทยเราชอบช่วยเหลือกัน อย่างมีคุณยายขายของอยู่ริมถนน ก็มีน้องๆ วัยรุ่นไปช่วยขาย คนก็หันมาสนใจช่วยซื้อมากขึ้น เราเห็นยังรู้สึกน่ารักดี

สุภา ลิ้มวงศ์ สอนเด็กๆ ปั้น ปัก ถัก วาด

คนที่ผ่านมาเห็นคนทำดี ก็เกิดความรู้สึกอยากทำ เป็นความดีต่อๆ กันได้อย่างเด็กที่เราสอนวาดรูป พอเขาทำเป็นเขาก็ไปสอนคนอื่นๆ ให้ทำเป็นเพิ่มขึ้น”

ทุกครั้งที่สุภาได้มีโอกาสไปร่วมทำงานจิตอาสา ความรู้สึกนอกจากจะมีความสุขที่มีโอกาสได้เป็นผู้ให้แล้ว เธอบอกว่ายังทำให้ได้รู้จักผู้คนอีกมากมาย

“ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างกัน ได้เห็นมิตรภาพ และที่สำคัญอีกอย่างคือ เราได้รับน้ำใจจากเพื่อนๆ จากผู้คนอีกมากมาย ทำให้เราสัมผัสได้ว่าคนไทยไม่เคยทิ้งกัน

สังคมเราไม่ต้องซื้อขายตลอดเวลา สังคมมีการเอื้ออาทรจิตใจคนก็อ่อนโยนขึ้น ด้วยเศรษฐกิจ สังคมมันรวดเร็ว คนไม่หันมามองกัน ถ้าสังคมเรามีเรื่องดีๆ เราแชร์เรื่องดีเยอะๆ คนก็เห็นความดีเยอะ คนก็รับรู้ สุดท้ายคนที่เราเคยช่วยเหลือเขาก็ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ”