posttoday

รับมือเหตุฉุกเฉิน!

31 มกราคม 2562

อายุมาถึงปูนนี้ และจะยาวไปอีกปูนไหน เชื่อว่าจะต้องเจอแน่คือเหตุวิกฤต ที่อย่างน้อยต้องมีแน่นอนสักครั้งถึง 2 ครั้งในชีวิต

เรื่อง เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

อายุมาถึงปูนนี้ และจะยาวไปอีกปูนไหน เชื่อว่าจะต้องเจอแน่คือเหตุวิกฤต ที่อย่างน้อยต้องมีแน่นอนสักครั้งถึง 2 ครั้งในชีวิต (อย่ามากกว่านี้เลย) ดูแลตัวเองได้ดี ก็ต้องนับว่าดีมาก แต่จะให้ดีที่สุดคือการรู้วิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ในกรณีนี้คือผู้ดูแลที่ควรมีความรู้พอที่จะรับมือกับเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที มาดูกันเลยว่าต้องรู้อะไรบ้าง

กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ดูแลต้องรีบตรวจสอบว่าอีกฝ่ายยังมีสติหรือหายใจหรือเปล่า ก่อนจะเรียกรถฉุกเฉินหรือติดต่อแพทย์ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือล้มป่วยเฉียบพลัน การตรวจสัญญาณชีพจะพอบอกข้อมูลสุขภาพเบื้องต้นให้ทราบ เพื่อรับการช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อไป

 

ตรวจ 5 สัญญาณชีพที่ “ต้องรู้”

1.สติสัมปชัญญะ

เช็กว่าผู้สูงอายุยังลืมตาหรือไม่ พูดจาโต้ตอบได้หรือเปล่า และเคลื่อนไหวร่างกายตามที่บอกได้หรือไม่

2.อุณหภูมิร่างกาย

เช็กอุณหภูมิร่างกายของคนทั่วไป จะอยู่ที่ 36.89 องศาเซลเซียส แต่ผู้สูงอายุจะมีอุณหภูมิต่ำกว่านั้น จึงจำเป็นต้องตรวจอุณหภูมิด้วย

3.ความดันโลหิต

เช็กความดันโลหิต ควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัลติดไว้ที่บ้าน เพื่อให้ใช้งานได้ทันที ความดันโลหิตของผู้สูงอายุตัวบนอยู่ที่ 120-129 ตัวล่างอยู่ที่ 80-84 ซึ่งจะสูงกว่าความดันโลหิตของคนหนุ่มสาว

4.การหายใจ

เช็กจำนวนครั้งของการหายใจ เฉลี่ยที่ 15-20 ครั้ง/นาที และสังเกตที่การขึ้น-ลงของกระบังลม เพื่อดูความลึกของการหายใจแต่ละครั้งด้วย หากผู้สูงอายุมีภาวะหายใจล้มเหลว จะหายใจถี่และสั้นขึ้น

5.วัดชีพจร

เช็กชีพจรด้วยการใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง แตะหลอดเลือดบริเวณข้อมือของผู้สูงอายุ ค่าปกติของชีพจรคือ 60-90 ครั้ง/นาที

กรณีตรวจสอบสัญญาณชีพผู้สูงอายุแล้ว มีสัญญาณชีพผิดปกติหรือไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ให้โทรเรียกรถฉุกเฉินทันทีที่หมายเลข 1669 โดยแจ้งชื่อ อายุ ที่อยู่ และอาการปัจจุบันของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วแต่รัดกุม

 

ขั้นตอนช่วยชีวิตเบื้องต้น

1.กรณีหมดสติ ถ้าเรียกชื่อและใช้มือตบเบาๆ ตามร่างกายแล้วไม่รู้สึกตัว ให้โทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที

2.เช็กการหายใจ สังเกตดูว่าหน้าอกและกระบังลมขยับตามการหายใจหรือไม่ มีลมหายใจเข้า-ออกทางปากและจมูกหรือไม่ หรือได้ยินเสียงลมหายใจหรือไม่

3.กรณีมีลมหายใจเข้าออก ให้เคลียร์ทางเดินหายใจ โดยใช้มือข้างหนึ่งกดหน้าผากผู้สูงอายุลงแล้วใช้นิ้วอีกข้างเชิดคางขึ้น

4.กรณีไม่มีหรือไม่ได้ยินเสียงลมหายใจเข้าออก ให้รีบทำซีพีอาร์ (CPR) ได้แก่ การนวดหัวใจ โดยให้ประสานมือทั้งสองข้างวางลงบนหน้าอก ให้สันมืออยู่กึ่งกลางกระดูกหน้าอก แล้วกดนวดหัวใจด้วยอัตราความเร็ว 100 ครั้ง/นาที

5.กรณีนวดหัวใจครบ 30 ครั้งแล้ว ให้เปลี่ยนมาผายปอดด้วยการบีบจมูกแล้วเป่าลมเข้าทางปาก (ของผู้สูงอายุ)

6.กรณีมีเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ซึ่งจะมีแผ่นตรวจจับหัวใจและชอร์ตไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นได้ปกติ ใช้สำหรับผู้สูงอายุที่หัวใจหยุดเต้นเท่านั้น

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

อีกหนึ่งเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ได้แก่ การหกล้มในผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่มักมีอาการแขนขาอ่อนแรง จึงหกล้มได้ง่าย เมื่อล้มแล้วก็มักล้มอย่างแรงจนศีรษะกระแทกพื้น อาจทำให้มีเลือดออกในสมองได้ กรณีนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการเช็กสัญญาณชีพเบื้องต้น

1.อันดับแรก เช็กว่ามีสติหรือไม่ หายใจหรือไม่ จับชีพจร วัดความดันโลหิต วัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าหยุดหายใจให้รีบเคลียร์ทางเดินหายใจ และเรียกรถฉุกเฉินทันที ในกรณีที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ เช่น ชีพจรปกติ ความดันโลหิตปกติ อุณหภูมิร่างกายปกติ ไม่มีบาดแผล แต่ก็ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดต่อไป

2.กรณีผู้สูงอายุหกล้ม แล้วลุกขึ้น(เอง)ไม่ได้ เจ็บปวดอย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำลง เหงื่อแตก หน้าซีด อยู่ในสภาวะช็อก ขอให้สงสัยก่อนว่ากระดูกสะโพกหรือข้อต่อสะโพกหัก ให้นำตัวผู้สูงอายุนอนลงโดยให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว แล้วเรียกรถฉุกเฉินทันที