posttoday

เงินเรา ให้ลูกหลานดูแลอย่างไร

31 มกราคม 2562

ปัญหาอย่างหนึ่งเมื่อถึงวัยเกษียณก็คือ การดูแลทรัพย์สิน ในจุดนี้เราจะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีธุรกิจส่วนตัวแล้วธุรกิจ

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ pixabay

ปัญหาอย่างหนึ่งเมื่อถึงวัยเกษียณก็คือ การดูแลทรัพย์สิน ในจุดนี้เราจะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีธุรกิจส่วนตัวแล้วธุรกิจนั้นสามารถสืบทอดให้กับลูกหลานได้ เมื่อถึงวันที่เราวางมือให้ลูกหลานมาดูแลต่อ แล้วเราจะแบ่งรายได้ให้กับลูกหลานอย่างไรให้มีปัญหาน้อยที่สุด

ในช่วงแรกๆ ที่คุณยังพอมีเรี่ยวแรงดีอยู่ 60-75 ปี คุณยังสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่ออายุประมาณ 75 ปีขึ้นไป ปัญหาสุขภาพเริ่มรุมเร้ามากขึ้น บางครั้งก็ต้องให้ลูกหลานช่วยดูแล รวมทั้งเรื่องรายได้ของเราเอง แล้วเราจะฝากฝังลูกหลานอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา

1.พูดคุยให้ชัดเจน

อย่างแรกที่ทำให้ปัญหาเรื่องเงินทองในครอบครัวหลังวัยเกษียณ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีธุรกิจของตัวเอง ก็คือไม่รู้รายรับและส่วนแบ่งที่แท้จริงว่า แต่ละคนได้ในสัดส่วนเท่าไร ในครอบครัวชาวจีนมักจะให้ความสำคัญกับลูกชายคนโต เพราะถือว่าเป็นผู้นำครอบครัวรุ่นต่อไป จึงมักจะแบ่งกำไรจากการทำธุรกิจให้สัดส่วนที่มากกว่าพี่น้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องส่วนตัวตามวัฒนธรรมของแต่ละครอบครัว

หากคิดในแง่ของตำแหน่งพี่คนโต ก็คือผู้บริหารสูงสุด ดูในภาพรวมแล้วน้องๆ ก็รับตำแหน่งผู้จัดการแผนกนั่นเอง แต่บางครอบครัวก็คิดว่าลูกทุกคนควรได้รับเท่าๆ กัน ไม่นับเรื่องตำแหน่งในการทำงาน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอีกเช่นกัน อยู่ที่การตัดสินใจของทุกคนในครอบครัวร่วมกัน

สิ่งสำคัญที่สุดคือพูดคุยถึงความต้องการให้ชัดเจน ใครไม่พอใจควรพูดออกมาให้ชัดเจนแต่ต้น จากนั้นค่อยหาทางออกในการดูแลร่วมกัน

2.หาลูกสักคนช่วยดูแล

เมื่อลูกหลานทุกคนรับรู้รายได้ ก็จำเป็นต้องมีใครสักคนเข้ามาช่วยดูแลจัดการเรื่องการเบิกจ่ายรายได้ของพ่อแม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องเสียสละเวลาในการดูแล รวมทั้งมีความเสี่ยงในการถูกพี่น้องต่อว่าหากมีความผิดปกติในบัญชี แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยความโปร่งใส

อีกอย่างหนึ่งตัวเราเองก็ต้องเชื่อมั่นว่าลูกหลานจะช่วยดูแลเราเป็นอย่างดี และควรให้สิ่งตอบแทนบ้างตามความเหมาะสม บางคนก็ออกจากงานมาใช้เวลาดูแลพ่อแม่เต็มตัว โดยมีพี่น้องช่วยส่งเงินเป็นรายได้หลักก็มีให้เห็นเช่นกัน

3.ลงทุนทิ้งไว้

เชื่อว่านักธุรกิจหรือเถ้าแก่วัยเกษียณหลายคนมีพอร์ตการลงทุนทิ้งไว้ อาจจะเป็นกองทุนรวม หรือหุ้นในบริษัทต่างๆ แล้วตัวเรารู้สึกว่าไม่มีเรี่ยวแรงจะเข้าไปดูแลต่อ ทางเลือกแรกก็คือขายกองทุนแล้วนำเงินสดเก็บไว้ใช้ วิธีนี้คุณต้องมั่นใจว่าจะมีเงินเหลือใช้จนถึงวันสุดท้ายจริงๆ

ทางเลือกที่สอง ก็คือให้ลูกๆ ช่วยดูแลต่อและเบิกเงินค่าตอบแทนกลับมาให้เราใช้ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะเงินยังสามารถต่อยอดสร้างได้เพิ่ม อีกทั้งยังสามารถยกให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้อีกด้วย

4.อย่ายกให้ใคร

ชีวิตจริงที่เจอมานักต่อนัก ยกมรดกให้ลูกหลานแล้วกลับถูกทอดทิ้งอย่างคนไร้บ้าน แม้จะฟ้องร้องเรียกคืนได้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วในวัยที่ไร้เรี่ยวแรงมาเจอแบบนี้ แม้ได้ทรัพย์สินคืนมาแต่ก็หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรยกมรดกให้ลูกหลานก่อนที่เราจะเสียชีวิต ไม่ว่าจะถูกคะยั้นคะยอมากแค่ไหนก็ตาม

อย่างหนึ่งที่ฝากเป็นข้อคิดก็คือ ลูกหลานที่ดีจะไม่ค่อยถามถึงมรดกเราเท่าไรนัก เพราะถือว่าคนเราต้องดูแลตัวเองได้ ไม่หวังพึ่งมรดกพ่อแม่ ส่วนลูกหลานที่ไม่มีความสามารถในการทำงานหาเงินก็มักจะถามถึงและหวังมรดกจากเราอยู่บ่อยๆ ถ้ายกให้แล้วมีแนวโน้มจะถูกทิ้งในวัยชราสูง

5.ใช้เงินเพื่อสองสุข

สุขแรก คือความสุขในวัยเกษียณที่ลูกหลานมารับช่วงต่อ คุณจะพบว่าคุณยังมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมากจากลูกหลานที่เข้ามาทำงานแทน เราจึงควรใช้เพื่อความสุขตามความฝัน เช่น ใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว ใช้เงินเพื่อหาซื้อสิ่งที่เคยอยากได้โดยไม่เกินกำลัง

สุขที่สอง คือใช้เงินเพื่อสุขภาพ ลงทุนดูแลสุขภาพเพื่อให้อยู่เป็นร่มไทรให้ลูกหลาน อย่าคิดว่าการที่เราไม่ได้ทำงาน อยู่บ้านเฉยๆ จะไร้ประโยชน์ เพราะสิ่งที่ลูกหลานต้องการไม่ใช่การได้เห็นพ่อแม่ทำงาน แต่คือการที่ได้กลับบ้านมาทุกครั้งก็ยังเห็นเรามีสุขภาพแข็งแรง อยู่ให้ลูกหลานอุ่นใจเท่านั้นก็ดีมากแล้ว