posttoday

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

21 มกราคม 2562

ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความเจริญของการสร้างคอนโดมิเนียมกลางใจเมือง ส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุอันทรงคุณค่านับร้อยๆ ปีเป็นอย่างมาก

เรื่อง  วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ  วิศิษฐ์ แถมเงิน

ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความเจริญของการสร้างคอนโดมิเนียมกลางใจเมือง ส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุอันทรงคุณค่านับร้อยๆ ปีเป็นอย่างมาก อย่าง พิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน หรือ วังคลองเตย ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4 ที่ทายาทสายตรงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำเรื่องคัดค้านการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรู สูง 36 ชั้น ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ ด้วยกังวลว่าอาคารเก่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่มีอายุเกือบ 100 ปี และวัตถุโบราณต่างๆ อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะตำหนักอยู่ใกล้จุดก่อสร้างเพียง 17 เมตรเท่านั้น ยังไม่นับผลด้านภูมิทัศน์และมลภาวะทางเสียงอีกต่างหาก

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

ด้วยเหตุผลข้อนี้ ราชสกุลจิตรพงศ์ นำโดย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ พระทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ดูแลรักษาและสืบทอดร่วมกับทายาทรุ่นที่ 4 ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ และ ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของบ้านปลายเนิน ร่วมกันจัดงาน "ศาสตร์ ศิลป์ สืบสอน ณ บ้านปลายเนิน" พาย้อนอดีตของสถานที่ทรงคุณค่าสู่โครงการพัฒนาบ้านปลายเนินยุคใหม่ ตลอดจนการสืบต่อพระปณิธานโดยพระทายาทในแต่ละรุ่น

บ้านปลายเนิน ทรงคุณค่า

บ้านปลายเนิน เรียกขานกันว่า วังคลองเตย เป็นหมู่อาคารเรือนไทยทรงศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่รู้จักกันดีในพระสมัญญาว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และสมเด็จครู ปัจจุบันบ้านปลายเนินทำนุบำรุงโดยทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน เป็นพื้นที่สอนและแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยให้คงอยู่ชั่วลูกหลาน

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

ราชสกุลจิตรพงศ์ นำโดย ม.ร.ว.จักรรถ พระทายาทผู้อาศัย สืบทอด และดูแลรักษาบ้านปลานเนิน อันเคยเป็นที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เล่าพระประวัติของสมเด็จปู่ไว้ว่า ประสูติเมื่อปี 2406 ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด 82 พระองค์ พระมารดาคือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ เนื่องจากทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ อันเป็นชื่อที่รัชกาลที่ 4 พระราชบิดาพระราชทานให้

พระปรีชาด้านศิลปะเจ้าฟ้านริศฯ

ม.ร.ว.จักรรถ เล่าว่า ในปี 2506 อันเป็นปีครบรอบ 100 ปี การประสูติองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ สมเด็จปู่ทรงได้รับการยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับเป็นบุคคลที่ 2 ของไทยที่ได้รับเกียรตินี้ โดยพระปรีชาด้านศิลปะของพระองค์ เริ่มตั้งแต่พระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทรงวาดภาพสุริยุปราคาเมื่อครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินพระราชบิดาไปชมที่หว้ากอ เมื่อปี 2411 และทรงเขียนภาพสุริยุปราคาได้งดงามมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังพระปรีชาในด้านงานศิลปะสาขาต่างๆ ทรงมีความคิดก้าวล้ำนำสมัยมากๆ เช่น ฝีมือการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านใน ขณะที่ผลงานด้านจิตรกรรม อาทิ ภาพโพนช้าง ผลงานด้านวรรณกรรมและการประพันธ์เพลง อาทิ เพลงเขมรไทรโยค เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

“ทรงออกแบบพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และยังทรงนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค ทรงนิพนธ์เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทรงเคยวาดภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เพื่อถวายแด่รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระทัยจะเขียนเป็นของขวัญทูลเกล้าฯ คล้ายวันพระราชสมภพ ครบ 3 รอบ ทรงเขียนภาพพระอินทร์ไม่ใช่แบบโบราณ ไม่มีพระวรกายสีเขียว แต่ทรงเขียนพระวรกายของพระอินทร์ให้มีสีเรืองเขียว มีแสง เงา กล้ามเนื้อชัดเจนมาก”

นอกจากนี้ ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของ กอร์ราโด เฟโรจี หรือ อ.ศิลป์ พีระศรี ศิลปินชั้นเยี่ยมชาวอิตาเลียน ที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางเรือ แต่เมื่อเขาเดินทางถึงประเทศไทยพบแต่ความไม่ต้องการของขุนนางไทย ที่จะมาให้ทำงานศิลปะถวายพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวัง

“เฟโรจีจึงไปปรึกษากับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงรับสั่งว่า มีวิธีช่วยท่านคือ ให้ปั้นฉัน โดยทรงถอดฉลองพระองค์ออก และทรงนั่งให้เฟโรจีปั้นพระองค์ ถือเป็นภาพเหมือนชิ้นแรกที่เฟโรจีปั้นในไทยเลย พอปั้นเสร็จ ขุนนางทั้งปวงก็ไม่เข้าใจ ว่าปั้นไม่ใส่ฉลองพระองค์ จึงรับสั่งต่อว่าเราจะเก็บภาพที่ 1 ไว้อย่างดีไม่ให้ใครได้เห็น และให้เฟโรจีปั้นครั้งที่สอง ทรงใส่ฉลองพระองค์ปิดพระสอ ที่มีความงาม เก็บรักษาในปัจจุบัน ณ พระตำหนักปลายเนิน กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญมาก"

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

ทางด้าน ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ เล่าถึงการช่วยสืบสานศิลปะไทยว่า ปัจจุบันตำหนักปลายเนินได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันนริศฯ โดยมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จัดเป็นประจำทุกวันที่ 28 เม.ย. และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าชมบ้านปลายเนนินได้ในวันที่ 29 เม.ย. และมีการมอบรางวัลนริศตั้งแต่ปี 2506 ผู้ได้รับรางวัลนริศในอดีต ทุกวันที่ 28 เม.ย. หลายคนได้กลับมาสู่บ้านปลายเนิน เพื่อสอนรำไทย โขน และดนตรี และมีการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนศิลปะไทย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.5 หมื่นคน

บ้านปลายเนิน การอนุรักษ์ของคนรุ่นใหม่

ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลน กล่าวถึงบ้านปลายเนินยุคใหม่ คือช่วงที่ไม่มีเจ้านายคนใดอาศัยอยู่แล้ว ทายาทรุ่นหลังๆ เข้ามาดูแลศิลปวัตถุ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการหาเหตุผลเบื้องหลังในพระอัจฉริยภาพ รวมทั้งการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เพิ่งค้นพบจากพระตำหนักที่ประทับ เช่น การเริ่มสืบค้นของใช้ส่วนพระองค์และศิลปวัตถุที่ทรงสะสมไว้ในตำหนักตึก

“บ้านปลายเนินยุคใหม่เริ่มเมื่อปี 2555 ก่อนงานทำบุญครบ 150 ปี วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในปี 2556 ปีนั้น ม.จ.หญิง กรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาองค์สุดท้ายที่ประทับบ้านปลายเนิน ได้อนุญาตให้ทายาทรุ่นเหลน นำโดย ผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ (พี่สาว ม.ล.ตรีจักร) เปิดหีบห่อที่บรรจุวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และของใช้ส่วนพระองค์กล่องแรก มีการบันทึกภาพและเรื่องราวแบบร่างฝีพระหัตถ์ทั้งหมด เพื่อนำมาทำหนังสือจำหน่ายในนามมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ในวาระครบรอบ 150 ปี

สืบสานศิลปะไทยล้ำค่า ณ บ้านปลายเนิน

ในฐานะทายาทรุ่นหลานและรุ่นเหลนในราชสกุลจิตรพงศ์เข้ามาดูแลพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงค้นหาศิลปวัตถุโบราณที่เก็บไว้ในตำหนักตึก ที่ประทับแห่งสุดท้าย เหมือนไทม์แคปซูลเก็บเรื่องราวของบ้านปลายเนินยุคต้นจนถึงยุคสอง บรรจุอยู่ในห้องบรรทม ชั้น 2 ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดไทม์แคปซูลเหล่านั้นและเปลี่ยนแปลงบ้านปลายเนิน

นอกจากงานฝีพระหัตถ์ ยังพบสิ่งของที่น่าสนใจ คือ สมุดบันทึก ที่เปิดออกมาพบเรื่องราวที่พระองค์ท่านทรงเขียนไว้ เช่น ภาพสเกตช์พระอาทิตย์ชักรถ ผมรู้สึกสนุก มีหน้าที่สืบค้นว่าคือผลงานชิ้นใดในประเทศไทย เอกสารต่างๆ เล่าเรื่องราวการออกแบบที่มาที่ไปของการออกแบบงานของพระองค์มากมาย"

ตั้งแต่การค้นหาโบราณวัตถุในพระตำหนัก ทำให้การจัดนิทรรศการในวันนริศเปลี่ยนไป คือ เหล่าทายาทพยายามหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากสมุดบันทึกของต้นตระกูลมาจัดแสดง เช่น ภาพร่างด้านหนึ่งของวัดราชาธิวาส หนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมสำคัญ แล้วยังมีภาพร่างพระอาทิตย์ชักรถในพระที่นั่งบรมพิมาน ทั้งยังพบพระราชหัตถเลขาติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ตั้งแต่ช่างจนผู้ว่าจ้างงาน เอกสาร ซึ่งเล่าที่มาผลงานออกแบบ

“เช่น จดหมายถึงกรมขุนนริศพระยศขณะนั้น เป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 พระราชทานคำแนะนำการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ให้ใช้วัสดุใหม่ เป็นที่มาของการสร้างด้วยหินอ่อน หน้าบันให้ผสมกระจกสเตนกลาส หลังได้รับจดหมายฉบับนี้แล้ว กรมขุนนริศสร้างสรรค์ผลงานชุดภาพหน้าต่างพระอุโบสถวัดเบญฯ ผูกเป็นเรื่องพร้อมคำอธิบายถึง 10 ด้าน”

ต่อมาราวปี 2559 พระธิดาพระองค์สุดท้ายสิ้นชีพิตักษัย ทายาทบ้านปลายเนินเริ่มพัฒนาบ้านปลายเนิน มีการเปิดตำหนักไทยให้ประชาชนเข้าชมและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยวันนริศปี 2560 มีผู้เข้าชมตำหนักไทยมากกว่า 2,000 คน ส่งผลให้สภาพทรุดโทรม จึงเป็นที่มาของการซ่อมตำหนักไทย มีพิธีบวงสรวง ทำทะเบียนและตรวจสอบศิลปวัตถุทั้งหมด พบมุมมองใหม่ๆ เช่น ศีรษะโขนพระลักษณ์ไม่เขียนลาย แต่เป็นลายปั้นประดับต่างจากชิ้นอื่น ประติมากรรมยักษ์ทำด้วยไม้ มีทั้งสิ้น 6 ชิ้น เดิมตั้งอยู่ในมุมที่ไม่แสดงสีสันความงามของศิลปวัตถุ ก็ต้องมาหาที่จัดแสดงใหม่ในโอกาสต่อๆ ไป เป็นต้น

"เราค้นพบหนังสือที่พระองค์ท่านทรงเก็บรวบรวมไว้ ทุกเล่มอายุเกิน 100 ปี หากเปิดเผยชื่อหนังสือจะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เพราะท่านได้ทรงศึกษาสรีระของมนุษย์ นอกจากนี้ เราค้นพบของใช้ส่วนพระองค์มากมาย ศิลปวัตถุทรงสะสม อย่าง หัวโขน ภาพรูปที่ 4 ที่วาดโดยเฟโรจี ซึ่งเราจะนำสิ่งของที่ค้นพบใหม่มาทำการแสดงเพิ่มเติม" ม.ล.ตรีจักร กล่าวถึงความตั้งใจจะอนุรักษ์ให้บ้านปลายเนินเป็นสถานที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย

“โครงการที่ได้เริ่มแล้วคือการบูรณะซ่อมแซมตำหนักไทย ให้อาคารนี้อยู่ไปตราบนานเท่านาน พัฒนาสวน คูคลอง งานระบบระบายน้ำให้กลับมา และสิ่งที่สามคือปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างปรับเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัย และหนุนการแสดงศิลปวัตถุให้ดีขึ้น ซึ่งจะเสร็จพร้อมจัดงานวันนริศปี 2562 นี้”

โครงการต่อไปคือ การซ่อมแซมตำหนักตึกหลัง เพื่อรองรับสิ่งของที่ค้นพบใหม่ และเดิมเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง วันข้างหน้าจะสามารถเข้าชมได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็เป็นได้ นี่คือบ้านปลายเนินยุคใหม่สำหรับ ม.ล.ตรีจักร

ด้าน ม.ล.จิตตวดี กล่าวในฐานะทายาทผู้ดูแลรักษาว่า จะนำผลงานทรงคุณค่าชิ้นใหม่ๆ ที่ได้ค้นพบที่ตำหนักตึก เช่น ผลงานฝีพระหัตถ์ชิ้นสำคัญมาจัดแสดงต่อสาธารณชน รวมถึงโถใส่เศษเล็บ ที่ยังเก็บอย่างดีไว้ในห้องบรรทมของพระองค์ในตำหนักตึก และโบราณสถานชิ้นอื่นๆ ที่ผู้คนสามารถเข้ามาศึกษาศิลปวัตถุ รวมถึงการเปิดให้เข้าชมการสร้างตำหนักตึกที่มีความแยบยลของการสร้างรอกใส่ของลำเลียงของจากชั้น 1 มาชั้น 2 และสิ่งต่างๆ อันทรงคุณค่าอื่นๆ เก็บรวบรวมไว้ในตำหนักตึกอีกมากมาย รอค้นพบเพื่อนำมาจัดเป็นนิทรรศการวันนริศครั้งต่อๆ ไป

“สมบัติล้ำค่าต่างๆ ส่วนใหญ่ที่เก็บไว้ในตำหนักตึก ซึ่งหากมองไปด้านโรงเรือนมินต์สีเขียว เมื่อมีอาคารมาตอกเสาเข็มจริงๆ ซึ่งอยู่ใกล้ตำหนักตึก อยู่ห่างไปแค่ระยะ 17 เมตร เราต้องเร่งขนสิ่งของโดยเร็ว สิ่งที่สูญเสียคือประวัติศาสตร์และตำแหน่งการวางสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนมากๆ ของการอนุรักษ์ ต้องมีการจดบันทึกตำแหน่งวางสิ่งของอันทรงคุณค่า ต้องใช้เวลา ถ้าไม่ทำประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะสูญหายไป" ม.ล.จิตตวดี ทิ้งท้าย