posttoday

เรื่องเล่า จากโรงเรียนกลางหุบเขา

20 มกราคม 2562

ภูเขาที่นี่ไม่สูงเท่าความฝันของเด็กๆ ในหมู่บ้านกลางหุบเขา

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข 

“ภูเขาที่นี่ไม่สูงเท่าความฝันของเด็กๆ ในหมู่บ้านกลางหุบเขา ขึ้นมาบนนี้ทีไร มองลงไปเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ ‘ห้วยงู’ ทำให้คิดถึงเด็กๆ ในหมู่บ้าน เด็กด้อยโอกาสที่ไม่เคยต้องการอะไร นอกจาก ‘การศึกษา และโอกาสทางการศึกษา’ ไม่มีเงินก็อยากเรียน อยากรู้เหมือนคนอื่นเช่นกัน...ที่นี่ ศศช.หมู่บ้านห้วยงู (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ที่ถูกปิด ไร้ซึ่งครูสอน มีเพียงอาคารเรียนกับเด็กๆ)”

นี่คือบางส่วนของบันทึกก่อนกลับของ “ครูนินจา” ก่อนอื่นคงต้องบอกก่อนว่า ศศช.ห้วยงู ก็คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และครูนินจา ก็คือ คุณครูสุนันทา คีรีรักษ์ หรือครูสุ ของเด็กๆ ชาวเขาเผ่าราหู่ ผู้เขียน “เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้”

ครูสุเล่าให้ฟังว่า ผู้คนมากมายที่นี่เหมือนคนป่าที่ไม่มีบัตรประชาชน แต่ก่อนเคยมีครูที่ อบต.จ้างไว้ให้ขึ้นมาสอนที่นี่ แต่ตอนนี้ทาง อบต.ได้เลิกจ้างไป ระบุว่า เพราะเด็กๆ ไม่มีชื่อในระบบ ก็เหมือนตัดขาดการสอนเด็กๆ บนดอย ครูคนนั้นได้ติดต่อมาหาครูสุ บอกเล่าทุกอย่างจนครูสุต้องกลับมาที่นี่ เป็นที่มาของครูนินจาและกลุ่มครูอาสาที่ถือกำเนิดขึ้น

“ครูสุเป็นครูอาสา ที่ใส่ชุดนอนสอนนักเรียน โรงเรียนของเราเปิดเรียนตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกเรียน 2 ทุ่ม ตื่นเช้าขึ้นมาทำกับข้าวหุงหาอาหาร เพื่อเตรียมให้นักเรียนได้กินอาหารเช้าพร้อมกับเรา เราต้องเป็นแม่ครัว เป็นเพื่อน เป็นแม่และเป็นพ่อ เป็นเกษตรกร เป็นหมอและเป็นบอดี้การ์ดให้กับเด็กๆ”

เด็กด้อยโอกาสอยู่ในสภาวะยากลำบาก ครูต้องเป็นแม่ครัวหุงหาอาหารให้เด็กกิน เป็นเพื่อนเพราะต้องเล่นด้วยกัน เป็นพ่อเป็นแม่เพราะต้องเป็นหูเป็นตาดูแลเวลาพ่อแม่เด็กหายไปทำงานไกลๆ เป็นเกษตรกรเพราะต้องไปเก็บมะม่วงปลูกผัก เป็นหมอเพราะต้องคอยทำแผล นอกจากนี้ยังเป็นบอดี้การ์ด ปกป้องเด็กๆ

ทำไมถึงต้องปกป้องเด็ก ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ณ ท่ามกลางหุบเขาอันลี้ลับ ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยนัก มีการลักลอบค้าขายสิ่งผิดกฎหมายชายแดน ไม่เฉพาะเด็กๆ ที่ต้องปกป้อง ครูและทีมอาสาก็ต้องระวังตัวเอง ครูนินจาใส่ชุดดำทะมัดทะแมงโพกศีรษะปิดบังหน้า (เหลือแต่ลูกนัยน์ตา) ก็เพราะสายตาที่มองมาอย่างระแวดระวังจับจ้อง ที่นี่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร รู้แต่ว่าไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยของใครได้

เรื่องเล่า จากโรงเรียนกลางหุบเขา

“เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้” เล่าถึง วิถีชีวิตของเด็กๆ บนโรงเรียนกลางหุบเขา ที่นี่เด็กๆ ดูแลกันเอง พี่ดูแลน้อง พ่อแม่ไปทำงานคราวหนึ่งก็ทิ้งลูกไป 4-5 วัน นักเรียนมีตั้งแต่อายุ 1-13 ปี เด็ก 9 ขวบแต่สามารถล้มวัวได้ทั้งตัว เชือดหมูมากินเล่น ยิงปลาหาหน่อไม้ ครูสุเป็นครูอาสาสอนที่ ศศช.ห้วยงูตั้งแต่ปี 2561 มีนักเรียน 45 คน ทั้งหมดติดครูมาก

“อยากแบ่งปันให้เพื่อนร่วมสังคมได้รู้ว่า เด็กบนนั้นเป็นยังไง เด็กบนนั้นไม่ได้ป่าเถื่อน เขาอยากเรียน อยากมีการศึกษา อยากมีอนาคตเหมือนคนอื่น”

ลูกศิษย์ทุกคนเป็นคนโปรด แต่ก็มีบางคนที่อยู่ในใจเสมอ คนแรกเล่าไว้ในเก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้ ด.ช.จะสอ เด็กชาวเขาเผ่าราหู่ที่พูดไทยชัดมากคนหนึ่ง เป็นเด็กดีมาก ทั้งดูแลน้องทั้งช่วยแม่ทำไร่ หาปลา หาหอย หากับข้าว หุงข้าว ดูแลบ้าน เวลาครูสุไปอยู่ห้วยงู ก็มีจะสอนี่แหละพาไปหาของมาทำกับข้าวกับปลากิน ครูสุอยู่ตรงไหน สอจะอยู่ตรงนั้น

“ทุกวันนี้ไม่ได้คิดว่า เด็กเหล่านี้ เป็นนักเรียน เป็นเด็กกำพร้าด้อยโอกาส แต่คิดว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขาคือความสุขที่บริสุทธิ์ที่สุด กินอยู่ลำบากก็รู้ แต่ก็ยังอยากจะไปหา ไปเจอ เพราะอีกสิ่งที่สุรู้และได้รับจากเด็กๆ คือ ความรักจากพวกเขา ที่ส่งกลับมาเป็นรอยยิ้ม”

เก็บหัวใจบนหนทางแบกเป้ จัดพิมพ์กันเองในแวดวงอาสา หาซื้อได้ที่เพจ : subackpacker ครูสุอาสาแบกเป้เที่ยว