posttoday

‘เปล่าเปลือย’ แสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์

20 มกราคม 2562

นครเชียงใหม่ เป็นหัวเมืองใหญ่และทันสมัยสุดของภาคเหนือ

โดย พริบพันดาว

นครเชียงใหม่ เป็นหัวเมืองใหญ่และทันสมัยสุดของภาคเหนือ ที่นี่มีการขับเคลื่อนทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ

ไกลออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่อีกนิด ไปที่ อ.แม่ริม มีศูนย์ศิลปะ “ตูดยุง” ซึ่งเคยอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ไปตั้งหลักที่นี่มาได้สักพัก ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมีการเปิดตัวนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ คือ “BARE : เปล่าเปลือย” นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์ และจัดแสดงไปยาวถึงวันที่ 10 ก.พ.นี้

หริธร ศิลปินรุ่นใหญ่วัย 58 ปี ทำงานต่อเนื่องมายาวนาน เขาจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โด่งดังขึ้นมาด้วยการพัฒนาเทคนิคการทำงานบนประติมากรรมสำริดที่มีรอยคร่ำอันเปี่ยมเอกลักษณ์ รูปทรงและสีสันที่ดิบกระด้าง สดใสเจิดจ้า ที่ใช้ในผลงานประติมากรรมและจิตรกรรมของหริธร เชื้อเชิญให้ผู้ชมหวนกลับมาเชื่อมโยงกับอารมณ์

มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะตูดยุง ได้เขียนถึงนิทรรศการศิลปะชุดนี้อย่างน่าสนใจว่า ในนิทรรศการนี้ผู้ชมถูกเชื้อเชิญให้ย่างก้าวเดินผ่านเสาไม้อันไร้กาลเวลา ไม่ต่างอะไรกับการเดินท่องไปในป่าดงแห่งความทรงจำ ความเชื่อ ตำนานดึกดำบรรพ์ และทุกๆ ฉากตอนในชีวิตประจำวัน บทกวีแห่งร่องรอยสลักเสลาอันไม่ปะติดปะต่อบนเสาไม้ของหริธรเหล่านี้ ย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า คุณค่าของชีวิตก็คือตัวของชีวิตนั่นเอง

‘เปล่าเปลือย’ แสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์

มิร์ทิลล์ มองว่าด้วยการทำกิจกรรมซ้ำๆ อย่างมีแบบแผนและมีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ แต่มีนัยสำคัญเป็นเวลายาวนานกว่าสัปดาห์ ไปจนถึงกว่าเดือน หริธร ศิลปินชาวไทยทำการทดลองกับแนวคิดของเวลาและสติรับรู้ ด้วยการมุ่งความสนใจไปยังองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดของประสบการณ์ที่มนุษย์เรามีต่อโลกนี้ และการถ่ายทอดข้อเท็จจริงแห่งการดำรงอยู่ของตนเองเช่นนี้นี่เอง เป็นสิ่งที่สะท้อนรากเหง้าความคิดเชิงพุทธศาสนาและปรัชญาแห่งการดำรงอยู่(อัตถิภาวนิยม) ของเขา

เธอพูดถึงงานชุดที่โดดเด่นในนิทรรศการครั้งนี้ว่า ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งการผ่านเส้นทางชีวิตของหริธร ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานจิตรกรรม “พระพุทธเจ้า 2,000 รูป” ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีที่มีคุณลักษณะคล้ายกับพิธีกรรมหรือการสวดภาวนา จารึกเป็นเส้นทางแห่งชีวิตของศิลปิน เส้นสายลายรูปพระพุทธองค์นั่งทำสมาธิ ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้าน ถูกวาดขึ้นด้วยน้ำมือของศิลปิน ด้วยการลงน้ำหนักหมึกอินเดียอิงก์ทับซ้อนหลายชั้น ผสานกับเฉดของสีส้มและแดง สร้างสรรค์ภาพที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของประกายอันเงียบสงบ และความสอดประสานกลมกลืนอันรุ่มรวยล้นเหลือ

นิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะประกอบด้วยภาพวาดพระพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน ที่ถูกเข้ากรอบอย่างประณีต แสดงออกถึงรูปลักษณ์ที่เต็มไปด้วยระเบียบแบบแผน ในขณะเดียวกันก็ถูกขัดแย้งอย่างโดดเด่นด้วยเหล่าบรรดาประติมากรรมไม้อันดิบหยาบ หรือจะว่าไปก็คล้ายกับเสาสักการะ (Totems) ที่ถูกจัดวางอยู่กลางพื้นที่แสดงงาน โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่หริธรมีประสบการณ์ในการทำงานกับวัตถุดิบอย่างไม้ มอบแก่นสารให้เสาไม้เหล่านั้นด้วยอารมณ์ขันในเชิงกวี ที่แปรเปลี่ยนแนวคิดแห่งการดำรงอยู่ของความเที่ยงแท้ด้วยกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสรีภาพอันเปลือยเปล่าไร้ขอบเขตจำกัด

‘เปล่าเปลือย’ แสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์

ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของ มิร์ทิลล์ทิแบย์เรงซ์ มองเข้าไปถึงตัวงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะแนวจัดวางในนิทรรศการครั้งนี้

ว่าไปแล้วหากย้อนกลับไปดูผลงานของหริธร จากในอดีตที่ผ่านมา งานศิลปะขั้นพื้นฐานของเขาได้สร้างความประหลาดใจให้กับแวดวงศิลปะอย่างต่อเนื่องด้วยประติมากรรมอันแปลกใหม่ นับตั้งแต่ครั้งที่เขาจบการศึกษาในช่วงยุคทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมสำริด ปูนปลาสเตอร์ หรือประติมากรรมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล

‘เปล่าเปลือย’ แสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์

ผลงานของเขาที่แสดงทั้งในพื้นที่สาธารณะและหอศิลป์ มักจะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาศาสนาพุทธ ซึ่งมักจะเป็นประสบการณ์เชิงโต้ตอบอันยิ่งใหญ่ รวมถึงการได้รับรางวัลสำคัญทางศิลปะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลสูงสุดของนิทรรศการ HENRY MOORE GRAND PRIZE EXHIBITION ครั้งที่ 7 ที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Hakone-Utsukushi-Ga-Hara ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2534

ผลงานของเขาถูกสะสมในคอลเลกชั่นส่วนตัวของผู้สะสมงานศิลปะทั้งไทยและต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะสาธารณะ ราชประสงค์ อาร์ต เมซ กรุงเทพฯ ในปี 2559 เทศกาลศิลปะข้างถนน บุกรุก ในปี 2556 พร้อมกันนั้นยังมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวในหอศิลป์ชั้นนำของกรุงเทพฯ อย่าง 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ในปี 2547 ถัง คอนเทมโพรารีอาร์ต ในปี 2552

‘เปล่าเปลือย’ แสดงเดี่ยวโดย หริธร อัครพัฒน์

นอกจากนี้ ยังได้รับการว่าจ้างให้ทำงานศิลปะโครงการใหญ่ๆ อย่างพระพุทธรูปสำริดสูง 15 เมตร ในวัดธรรมมงคลกรุงเทพฯ ในปี 2551 และประติมากรรมนางเงือกสำริดสูง 4 เมตร บนเกาะเสม็ด ที่ว่าจ้างโดย บริษัทปตท. ในปี 2559

ชมนิทรรศการศิลปะชุดนี้ได้ที่ศูนย์ศิลปะ ตูดยุง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สอบถามโทร.08-4914-5499 (ภาษาอังกฤษ) และโทร.08-6312-1377 (ภาษาไทย) เฟซบุ๊ก : Toot Yung Art Center