posttoday

ของสะสมนักเดินทาง สไตล์ ‘เกียรติ สิทธีอมร’

19 มกราคม 2562

เป็นอีกหนึ่งนักการเมืองรุ่นเก๋าแต่ไม่เก่าในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์กับของสะสมทรงคุณค่า

โดย ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นอีกหนึ่งนักการเมืองรุ่นเก๋าแต่ไม่เก่าในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์กับของสะสมทรงคุณค่า ซึ่งเต็มเปี่ยมไว้ด้วยความหมายและความทรงจำบนถนนชีวิตนักเดินทาง สำหรับ “เกียรติ สิทธีอมร” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมาเปิดบ้านเล่าเรื่องราวของแต่ละชิ้น

เกียรติเล่าย้อนหลังถึงความเป็นมาในการสะสมของเก่า จากการได้ไปทำงานสร้างโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และส่วนตัวระหว่างอยู่ประเทศใดก็แล้วแต่มักชอบไปดูอะไรที่สะท้อนวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสม โดยชิ้นแรกที่ได้มา คือ มีดกริช จากมาเลเซีย ซึ่งมันมีประวัติศาสตร์ เรื่องราว ความงดงาม และเสน่ห์

เกียรติเล่าต่อว่า จากนั้นถูกย้ายไปตะวันออกกลางสักพักหนึ่ง ก่อนกลับมาประจำสิงคโปร์ เพื่อดูแล 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา ทำให้ 1 ปีเดินทางไปแล้ว 7 เดือน ชีวิตแทบไม่ได้อยู่ในสิงคโปร์ จึงทำให้ได้เห็นวัฒนธรรมมากมาย

“บ้านหลังนี้ส่วนหนึ่งเป็นของที่ได้มาจากอินโดนีเซีย เพราะมันมีความเป็นเอเชีย สะท้อนความรู้สึก วัฒนธรรม มีเรื่องเล่า เช่นตุ๊กตาอินโดนีเซีย ผมว่ามันสวยมาก ลักษณะคล้ายหนังตะลุงบ้านเราและทำมาจากมือซึ่งใบหน้าของตุ๊กตาแต่ละตัวได้เห็นอารมณ์การแกะ เป็นสิ่งที่ดึงดูดเรามาก”

เกียรติยังพูดถึงของสะสมชิ้นโปรด Gramophone หรือเครื่องแผ่นเสียง ซึ่งได้มาจากอินโดนีเซีย เป็นของชาวดัตช์สมัยยังปกครองอินโดนีเซีย โดยเครื่องนี้มันทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆ เพราะคุณพ่อมีแผ่นเสียงเยอะมาก แต่เครื่องนี้มันพิเศษตรงมันใช้กับแผ่นเสียง สปีด 78 โดยถ้าคนเล่นแผ่นเสียงจะรู้ว่า สปีด 78 ถ้าหาซื้อแผ่นเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

ของสะสมนักเดินทาง สไตล์ ‘เกียรติ สิทธีอมร’

เกียรติบอกต่อว่า อีกหนึ่งของสะสมซึ่งมีความผูกพันอย่างมาก คือ เครื่องพิมพ์ดีดเพราะคุณพ่อซื้อไว้ในโรงเรียน สมัยเป็นเจ้าของโรงเรียน “บูรพาสถาบันศึกษา” สถาบันสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำแห่งแรกในไทยซึ่งเป็นตึกแถวสองคูหา ตั้งอยู่สี่พระยาแต่ไม่ได้สอนภาษาอย่างเดียว ยังมีสอนพิมพ์ดีดด้วย ดังนั้น จึงมีเครื่องพิมพ์ดีดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เมื่อพอปิดโรงเรียนก็เอากลับมาไว้ที่บ้าน แต่มีเครื่องหนึ่งที่พ่อใช้พิมพ์ตำราสอนในสถาบัน โดยใช้ภาษาจากเชคสเปียร์ เช่น โรมิโอ จูเลียตมาประยุกต์สอนภาษาอังกฤษ

“คุณพ่อเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของไทย Bangkok Daily Mirror คุณพ่อชำนาญและเก่งภาษาอังกฤษ ก็เลยตั้งโรงเรียนและผมอายุ 16 ปี คุณพ่อบอกให้เริ่มสอนทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง แต่โรงเรียนไม่ได้สอนภาษาอย่างเดียว สอนพิมพ์ดีดด้วย สมัยก่อนคนจะเป็นเลขานุการ ไม่รู้จะไปฝึกที่ไหน และไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินซื้อเครื่อง แต่รู้ว่าคนจะเข้าทำงานที่ไหนถ้าพิมพ์ดีดเป็นมีโอกาสได้งานสูง”

เกียรติยังเล่าเท้าความถึงการสะสมรถเก่าว่า เมื่อพอมีเงินเหลือบ้างจากการทำงานตลอดในต่างประเทศ เลยทำให้คิดถึงมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Jawa ซึ่งที่บ้านมีและเคยแอบขี่สมัยเด็กๆ เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต ส่วนตัวได้ Mercedes Benz 250 S ขณะที่พี่ชายได้มอเตอร์ไซค์เนื่องจากเคยขี่ ก็เลยมาคิดว่าต้องซื้อมอเตอร์ไซค์มาขี่บ้าง

เกียรติเล่าต่อว่า พอดีมีเพื่อนเปิดร้านมอเตอร์ไซค์ และส่วนตัวชอบรถสีฟ้า มันทำให้นึกถึงมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Jawa สมัยยังเป็นเด็กๆ ก็นั่งคิดอยู่นานพอสมควร ถ้าจะซื้อมันควรเป็นอะไรดี เพราะชอบความคลาสสิก ของเก่า มีเรื่องราว นึกอยู่หลายยี่ห้อ แต่มาตอบโจทย์ที่ Harley Davidson

ของสะสมนักเดินทาง สไตล์ ‘เกียรติ สิทธีอมร’

เกียรติขยายความที่เลือก Harleyเพราะเสียงมันใช่ แล้วมาดูรุ่นไหน สุดท้ายมาจบที่รุ่น Fatboy ที่สำคัญไม่ค่อยเห็น Harley สีฟ้าตามท้องถนน และต้องเป็นเครื่องคาร์บู คลาสสิก ถ้าเป็นเครื่องหัวฉีดไม่ซื้อ ไม่ทำให้นึกถึง Jawa ซึ่งมีความหลังกันมา เพราะสมัยก่อนเคยซ่อมเอง ปรับหัวเทียนทองขาว ทำสี เป็นหมด มันทำให้นึกแบบนั้น

สำหรับความหลังกับเจ้า Benz 250 S คันนี้ ตรงที่ครอบครัวมีพี่น้องหลายคนซึ่งก่อนหน้าจะมีคันนี้คุณพ่อขับรถยี่ห้อ Ford Corsair แต่ด้วยคันมันเล็ก และเวลาจะไปไหนรถคันเดียวขนไม่หมด ก็ต้องมีสองคัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งคุณพ่อขับ Benz 250 S กลับมาบ้าน ทุกคนตื่นเต้นมาก“พอยุคที่เราโตขึ้นมาไปไหนมาไหนกับที่บ้านต่างจังหวัด ตลอดชีวิต 10 กว่าปีที่อยู่กับที่บ้าน ไม่ได้ท่องเที่ยวทุกอาทิตย์ เหมือนครอบครัวอื่นๆ ดังนั้น เวลาไปไหนมาไหน เราจำได้แม่นว่าเกิดอะไรขึ้นครั้งหนึ่งเคยไปบางแสน ผมก็นั่ง Benz ไปกับคุณพ่อ ส่วนพี่ชายคนโตขับ Ford ตามกันมา เป็นความทรงจำที่ดีและจำได้แม่น
แต่ตอนนี้ Benz ไม่มีเครื่องเล่นเทป Track 8 กำลังหากลับมาติดรถเหมือนเดิม เพราะมันมีความหมายและคุณค่าสำหรับเราในความทรงจำ”

เกียรติเล่าด้วยว่า ยังมีอีกของสะสมที่โปรดปรานมากที่สุด คือ ภาพโบราณซึ่งได้มาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วจากตลาดนัดจตุจักร วางแบกะดิน ดูแล้วเป็นรูปรัฐสภาเก่าแห่งแรก สมัยยังเป็นบ่อสระบัวแถมมีเป็ดว่ายน้ำ สวยมาก แต่กรอบรูปดูไม่จืด เลยเอากลับมาทำใหม่ใส่กระจกให้สวย แต่คงความเดิมๆ ไว้
มันได้ความรู้สึก

“ผมคิดว่าภาพนี้มันต้องมีค่าสำหรับคนใดคนหนึ่งในอดีต ตัวกรอบมีลวดลายงดงาม แม้สภาพไม่สมบูรณ์ แต่มันสะท้อนประวัติว่ามีเรื่องราว ชิ้นนี้ได้มาไม่กี่บาทเป็นชิ้นที่ชอบมาก งานที่เราทำก็เป็นนักการเมือง ก็โยงกับรัฐสภาและการเป็น สส. และอีกชิ้นเป็นรูปชาวบ้านที่ได้มาเป็นแผ่นภาพงอๆ แถมมาให้กับภาพนี้”

ของสะสมนักเดินทาง สไตล์ ‘เกียรติ สิทธีอมร’

เกียรติยอมรับว่า ภาพนี้ที่ชอบตรงสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยนั้น ชาวนา ควายสองตัว เผือก ดำ เทียมเกวียนสวยงาม มีหลังคา ถ้าเทียบกับยุคนี้ถือว่าไฮโซ เพราะจากลวดลายบนหลังคาจักสานบนเกวียน และภาพเหล่านี้หาดูที่ไหนไม่มี แม้กระทั่งในพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่เห็นรูปวิถีชาวบ้านเหมือนรูปนี้ ซึ่งมีความโดดเด่นของมัน

“ของเก่าที่ใช้แล้วไม่มีปัญหา ความที่ชอบของเก่า เพราะมันมีเรื่องราว เราไม่ใช่เจ้าของมัน เราเป็นเพียงเจ้าของชั่วคราว เป็นเจ้าของเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปๆ ได้ชื่นชม เหมือนที่เราเคยชื่นชม ถ้าเป็นจิตวิญญาณนักสะสมจริงๆ ไม่ใช่อยากเป็นเจ้าของแล้วไง เพราะอีกหน่อยตายไปก็เอาไปไม่ได้
เราเป็นเจ้าของดูแลชั่วคราวแล้วส่งต่อก็แค่นั้น

ผมมองการสะสมดีอย่างตรงมันทำให้เราจำได้ถึงชีวิตเราในแต่ละช่วงเวลา ว่าเราได้ทำอะไร มันทำให้มีความสุข เพราะแต่ละชิ้นเล่าเรื่องได้ บางชิ้นไม่ได้มีคุณค่าทางเงิน แต่บางอย่างสุดยอด เป็นศิลปะชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องแพง หรือมีแบรนด์เนม นี่คือวิถีชาวบ้านที่ผมว่าสุดยอด เป็นคุณค่าทางความรู้สึกสะท้อนวัฒนธรรม มันทำให้เรารู้สึกดี”