posttoday

รักสุขภาพ...รักตัวเอง (หน่อยนะปีนี้)

15 มกราคม 2562

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อกลุ่มโรคเอ็นซีดี หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases; NCDs) กันมาบ้างแล้ว

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อกลุ่มโรคเอ็นซีดี หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases; NCDs) กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังชะล่าใจ หรือไม่ตระหนักว่า กลุ่มโรคเอ็นซีดีคุกคามเราท่านมากเพียงใด โพสต์ทูเดย์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พ.ต.นพ.ธรรมสรณ์ เจษฎาเชษฐ์” แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ที่จะมาเล่าถึงแนวทางการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันกลุ่มโรคเอ็นซีดีกันตั้งแต่ต้นปี 2562

ปีใหม่...ปรับวิถีชีวิตใหม่

พ.ต.นพ.ธรรมสรณ์ เล่าว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคเอ็นซีดีครองอยู่ในหลายอันดับต้น ๆ ของ 10 อันดับโรคยอดฮิตคนไทย ถือเป็นกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุหลัก 75% ของการเสียชีวิต ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ ไตวาย เบาหวาน และภาวะอ้วนลงพุง เป็นต้น

“กลุ่มโรคเอ็นซีดี ไม่ใช่โรคติดเชื้อที่ตื่นเช้าขึ้นวันหนึ่งแล้วจู่ๆ ก็เป็น แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสะสม ตั้งแต่พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต การทำงาน การไม่ออกกำลังกาย ที่ทยอยสะสมผลร้าย รู้สึกตัวอีกที ก็เกิดเป็นภาวะโรคแล้ว”

ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติของตัวโรค ใช้เวลาดำเนินโรคนาน แต่เพราะมิได้ให้ความสำคัญ ปล่อยปละละเลยจนลุกลามกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอื่นๆ ที่คราวนี้รักษายากแล้ว (เรื้อรัง) ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการ เช่น ภาวะความดันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ก็เมื่อเริ่มสู่วัย 40-50 ปี จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตัวเอง ปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนช่วงวัยดังกล่าว

“เอ็นซีดีเป็นกลุ่มโรคที่ป้องกันได้ ขอเพียงแค่ฉุกคิดว่า เราสนใจที่จะดูแลป้องกันมันหรือเปล่า คำแนะนำสำหรับคนไทยทุกคน ก็คือ ขอให้หันมาสนใจและดูแลสุขภาพของตัวเองกันดีกว่า เป็นปีใหม่คนใหม่ที่รักและใส่ใจสุขภาพตั้งแต่นี้เป็นต้นไป”

3 วิธีรักตัวเอง...ดูแลสุขภาพ

1.ลดพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

กินอาหารตามหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ลดการกิน หวาน มัน เค็ม ลดของทอด งดอาหารปิ้งย่าง คือปัจจัยของการมีสุขภาพที่ดี งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น สถานเริงรมย์ยามค่ำคืน

“ค่อยๆ ลดนะ สักวันหนึ่งก็จะเห็นประโยชน์ เพราะเมื่อห่างจากพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง สุขภาพของเราจะดีขึ้น จากนั้นจะเริ่มติดเป็นนิสัย อยากลด อยากงดด้วยตัวเอง ถึงเวลานั้นสุขภาพร่างกายจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราไม่เสพในสิ่งที่เป็นโทษภัย”

2.ออกกำลังกายเป็นประจำ

คุณหมอคนเก่งแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) หมายถึง การออกกำลังกายที่กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ใช้ออกซิเจนจำนวนมากๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงความนานที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลให้อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด หลอดเลือดและกล้ามเนื้อได้พัฒนาสมรรรถภาพสูงขึ้น ร่างกายจะฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง ที่สำคัญทำให้ระบบภายในร่างกายกลับมาเป็นหนุ่มสาว

“ทุกระบบในร่างกายแอ็กทีฟ รวมทั้งได้ผลดีเรื่องจิตใจอารมณ์ สดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพราะเอนดอร์ฟินหรือฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งไหล การออกกำลังกายยังทำให้หลับได้ดีด้วย”

3.ตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยควรทำปีละ 1 ครั้ง เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคในทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า การคัดกรองโรค เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และค้นหาภาวะแทรกซ้อนก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามบานปลาย

คนวัยทำงาน ควรรับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะฯลฯ ส่วนผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพให้ละเอียดมากขึ้น เช่น ระดับไขมันในเส้นเลือด น้ำตาลในเลือด การตรวจหามะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ขณะที่ผู้สูงวัยหรือผู้มีโรคประจำตัว ตรวจตามแพทย์สั่ง หรือตามโปรแกรมอย่างเคร่งครัด

“มาหาหมอเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ตรงกันข้าม มา (หาหมอ) ช้า รู้ช้า รักษายาก เพราะฉะนั้นมาหาหมอดีกว่า อย่างน้อยก็ปีละครั้ง ปีใหม่ 2562 อยากให้ทุกคนรักตัวเองให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ หมั่นออกกำลัง หมั่นตรวจสุขภาพ เพียงแค่นี้สุขภาพดีก็อยู่ไม่ไกล”