posttoday

เทรนด์วิศวกรยุคใหม่ รับไทยแลนด์ 4.0

14 มกราคม 2562

ยุคที่ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ความก้าวหน้าและองค์ความรู้ใหม่ๆ

เรื่อง วรธาร 

ยุคที่ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ความก้าวหน้าและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้คนไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าด้านสังคม วัฒนธรรม การดำรงชีวิต หรือแม้แต่การประกอบอาชีพ ซึ่งสายงานด้านวิศวกรรมเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจับตา เพราะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน วิศวกรจึงต้องปรับตัวพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความท้าทายของวิศวกรยุคใหม่ว่า การเปิดโลกทัศน์ให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการเรียนเฉพาะสาขาพื้นฐาน ได้แก่ โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล อุตสาหการ และเคมี แต่ปัจจุบันการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยอาศัยองค์ความรู้เพียงสาขาเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า การทำลายกำแพงด้านหลักสูตรหรือการประยุกต์องค์ความรู้ด้านอื่นๆ มาใช้งาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามองภายใต้บริบทของประเทศไทยภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างบัณฑิตที่มีความพร้อม และจำเป็นต้องสร้างเทรนด์ของวิศวกรยุคใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเทรนด์ปี 2562 ความต้องการวิศวกรในอนาคต จะประกอบไปด้วย 5 เทรนด์

1.วิศวกรรมการแพทย์ คือความต้องการของโลก

การเอาชนะโรคภัยและการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอยังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างยอมรับว่าวิวัฒนาการด้านการแพทย์ ทำให้มนุษย์มีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2564 คือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อมองทิศทางความต้องการด้านสุขภาพของสังคมไทยในอนาคต “วิศวกรรมการแพทย์” จะเป็นองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพอาหารและยา เทคโนโลยีการดูแลและการรักษาพยาบาลที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย

2.AI จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตมากขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ฉลาด การประมวลผลที่รวดเร็ว และใช้ต้นทุนต่ำ คือจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นเทคโนโลยี AI ถูกประยุกต์ใช้ในนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น สังเกตได้จากเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดอย่างสมาร์ทโฟน ที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยยกระดับอุปกรณ์สื่อสารบนมือเราให้ฉลาดขึ้น รู้ใจผู้ใช้งาน กลายเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตนำมาแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนมากขึ้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานด้านวิศวกรรมได้ทุกสาขา กลายเป็นเทรนด์ที่วิศวกรในปัจจุบันจะต้องปรับตัว และคาดว่าเทคโนโลยี AI จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตในอนาคต และมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น

3.ภัยพิบัติทุกรูปแบบกำลังจะทวีความรุนแรง

ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยและนวัตกรรมเพื่อการเอาชนะภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว ดินถล่ม ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไปประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น แต่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่มีความหลากหลาย ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านภัยพิบัติ เช่น วิศวกรด้านน้ำ วิศวกรด้านแผ่นดินไหว ซึ่งจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต

4.ยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นเรื่องปกติในไม่ช้า

การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกส่งผลให้น้ำมันดิบถูกขุดขึ้นมาใช้ จนกลายเป็นแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป ทำให้การพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่น กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในหลายประเทศเริ่มให้การยอมรับว่าพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาทดแทนน้ำมันได้ในอนาคต ทำให้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือรถอีวี กลายเป็นเทรนด์ของเทคโนโลยียานยนต์ที่วิศวกรทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วน และความเชี่ยวชาญด้านการประกอบรถยนต์ จึงถึงเวลาที่วิศวกรไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ปรับเร็วยิ่งได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน

5.ใช้ IoT ในทุกภาคส่วนไม่เว้นเกษตรกรรม

การเข้ามาของการสื่อสารรูปแบบใหม่ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” หรือ Internet of Thinks (IoT) ที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ในอนาคตสิ่งที่น่าจับตา คือการนำ
เทคโนโลยี IoT ไปใช้ในเกษตรกรรม เชื่อมต่อกับอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตร ที่จะพลิกโฉมเกษตรกรรมไทยไปสู่ Smart Farming ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ควบคุมปัจจัยในโรงเรือนให้มีความเหมาะสมกับพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด เช่น ความชื้น อุณหภูมิ สารอาหารที่จำเป็น ปรสิต แมลงศัตรูพืช ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต

“ทั้ง 5 เทรนด์ไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน แต่กำลังเกิดขึ้นจริง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ สถาบันการศึกษาจะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ โดยเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ และพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง” ดร.ธีร กล่าว