posttoday

กนกพร สินธวารยัน ความสุขยามว่าง บนแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทย

12 มกราคม 2562

ในโอกาสที่แหล่งบงกช แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย

โดย  ปอย 

ในโอกาสที่แหล่งบงกช แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย ได้ดำเนินการผลิตมาจนครบ 25 ปีเต็มในปีนี้ มีหลายเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าสู่คนไทย

หนึ่งในนั้นคือเรื่องราว “พลังของผู้หญิง” ในฐานะอีกหนึ่งคนขับเคลื่อนทำงานของการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตพลังงาน ส่งตรงถึงทุกชีวิตในชาติ ซึ่งหลายคนอาจไม่คิดว่าบนแท่นกลางอ่าวไทยอันเวิ้งว้างแห่งนี้ จะมีพลังแกร่งความเป็นผู้หญิงอยู่เป็นกำลังสำคัญ

สาวแกร่งทำหน้าที่ปฏิบัติงานบนแท่นบงกช ด้วยท่าทางกิริยาอ่อนหวาน กนกพรสินธวารยัน รับผิดชอบงานวิศวกรกระบวนการผลิต ฝ่ายวิศวกรรมอุปกรณ์การผลิต ปตท.สผ. นับเป็นความท้าทายอย่างมากในเรื่องการปรับตัวการทำงาน ในโลกเวิ้งว้างกลางทะเล สำหรับผู้หญิงร่างเล็กทว่าต้องรับภาระด้วยหัวใจแกร่ง เล่าจุดเริ่มต้นในการทำงานว่า

“การทำงานวันแรกๆ ไม่รู้จักใครเลย ผู้ชายแต่ละคนก็หน้าตาเข้มๆ ดูทำงานจริงจังน่ากลัวกันทั้งนั้น (หัวเราะ) ช่วงแรกเขาก็จะทำหน้านิ่งๆ แต่พอลองพูดคุยด้วยเรื่องต่างๆ นานา สักประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มรู้จักกัน และค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากันค่ะ”

แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย โดยมี ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับโททาล บริษัทน้ำมันชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ร่วมทุน โดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วยทดแทนการนำเข้า และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งบงกช คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ

สิ่งแวดล้อมดูโหดหินสำหรับคนทำงานผู้หญิง บนแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และมีจำนวนน้อย จึงทำให้เกิดภาวะ “เกิร์ลแก๊ง” โดยรอบการทำงานบนแท่น มีผู้หญิงสัก 2-3 คน ก็จะเริ่มจับกลุ่มกัน

“คนสงสัยชอบซักถามค่ะว่า ผู้หญิงทำอะไรบนแท่นยามว่าง ออกกำลังกาย T25 ค่ะ (หัวเราะ) หรือใช้ฟิตเนสบ้าง บางทีก็ลงไปวิ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับลงไปเตะบอลกับพี่ๆ เขา บางทีก็มีร้องเพลง เขามีเล่นดนตรี ก็ไปร้องเพลง ซ้อมดนตรีบ้าง”

เมื่อเราพูดคุยถึงการทำงานบนแท่งบงกช กนกพร เล่าว่า

“รุ่นพี่ค่อนข้างให้ความใส่ใจกับรุ่นน้องดีค่ะ แต่ที่สำคัญกว่าคือการเปิดใจ และรับฟังความคิดเห็นของเรา ซึ่งบางครั้งเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เห็น เราก็เสนอไอเดียได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ว่าเป็นแนวความคิดที่สามารถนำไปทำได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานด้วยแล้ว พี่ๆ เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน

กนกพร สินธวารยัน ความสุขยามว่าง บนแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทย

เป็นการทำงานที่ให้รู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของพลังเล็กๆ อย่างเรา ซึ่งก็เป็นการส่งต่อองค์ความรู้ มันไม่ใช่แค่เรียนรู้มา แต่มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ จุดนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่าการทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญอีกอย่างคือที่ ปตท.สผ.ให้โอกาสได้เรียนรู้งานหลากหลายมาก

การได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานมากขึ้น เวลาจะปรับเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร ก็จะอิงกับความเป็นจริงค่ะว่า มันจะต้องสะดวกต่อคนที่ใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์นั้นได้จริงๆ ค่ะ”

สิ่งที่ กนกพร ได้เรียนรู้จากแท่นบงกช นอกเหนือจากการทำงาน คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเรายิ่งต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ความมหัศจรรย์อย่างที่สองคือเรื่องความรักครอบครัว

“ส่วนใหญ่คนที่อยู่บนนั้นรักคิดถึงครอบครัวมากนะคะ อย่างตอนช่วงเย็นก็จะเห็นคนเป็นพ่อเฟซไทม์คุยกับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานด้วยกันจะไม่เคยเห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศในเมือง ถ้าเลิกงานก็แยกย้ายกันกลับบ้าน เราคงไม่ได้เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้”

การจัดการความสัมพันธ์กับครอบครัว จึงเป็นเรื่องสุดท้ายที่คนทำงานไกลบ้าน กนกพร อยากเล่าถึง

“ครอบครัวค่อนข้างเคยชินกับการที่เราต้องเดินทางบ่อยๆ ค่ะ ตั้งแต่ทำงานก็เดินทางบ่อยมาตลอด ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็จะอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันแหล่งสิริกิติ์ พิษณุโลก ตอนนั้นก็ต้องเดินทางทุกๆ สัปดาห์เลย และมีเดินทางบินไปต่างประเทศครั้งละ 1-2 เดือน ครอบครัวก็เข้าใจดีค่ะ ถ้าพูดถึงการทำงานบนแท่น เขาก็ห่วงนะ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่ให้ไป เพราะเขาไว้ใจกับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัทใหญ่ของไทย”

กนกพร เป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่พร้อมเรียนรู้และฝ่าฟันทุกอุปสรรค โดยไม่ยอมให้เพศมาเป็นตัวกำหนด

ภารกิจของเธอในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย ที่สามารถสืบสานและต่อยอดได้ตามยุคสมัย เช่นเดียวกับอุดมการณ์ที่เธอได้รับจากคนรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลผลิตคนทำงานที่มีนิยามเรียกกันว่า “เมดอินบงกช”