posttoday

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

06 มกราคม 2562

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข  ไอรีล ไตรสารศรี


สาวอารมณ์ดี ออย-ไอรีล ไตรสารศรี ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนนั้นเธอเข้ารับการผ่าตัด ให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง และฉายแสง 19 ครั้ง จนโรคสงบไปนาน 5 ปี กระทั่งปี 2560 เพื่อนเก่าได้กลับมาทักทายด้วยการลุกลามไปยังปอด เธอจึงเข้ารับการผ่าตัดปอดเพื่อตัดเนื้อร้าย ซึ่งครั้งนี้การันตีไม่ได้ว่ามะเร็งจะจากไป แต่เธอยังใช้ชีวิตให้มีความหมายด้วยการสานต่อ “อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์” (Art for Cancer by Ireal) จากโครงการเล็กๆ ที่คอยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในด้านกำลังใจและทุนทรัพย์ ให้กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมโดยใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เป็นสื่อกลาง

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

มะเร็งครั้งแรก ยอมรับและเข้าใจ

ออยเล่าย้อนกลับไปตอนอายุ 26 ย่าง 27 ปีว่า เธอคลำเจอก้อนแข็งที่หน้าอกข้างขวา ซึ่งเวลานั้นกำลังเรียนภาษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเพื่อเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโท โดยเธอไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมอย่างน้ำหนักลด อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หรือหน้าอกบวม จึงรู้สึกว่าก้อนที่คลำเจอน่าจะไม่เป็นอันตราย

“ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็ง” เธอกล่าว “หลังจากนั้น 4 เดือนได้กลับมาตรวจที่ประเทศไทย ไปตรวจที่โรงพยาบาลแรกหมอบอกว่าไม่เป็นอะไร เป็นแค่ซีสต์ที่ไม่เป็นอันตราย เราก็สบายใจ จนก่อนเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษประมาณ 1 อาทิตย์ เป็นความโชคดีที่เราอยากไปตรวจอีกรอบที่โรงพยาบาลใหม่ โดยนำฟิล์มอัลตราซาวด์ไป พอหมอเห็นหมอบอกว่า นี่มันไม่ใช่แค่ซีสต์ แต่มันเป็นเนื้องอก เลยต้องผ่าตัดเล็ก
นำก้อนเนื้อไปตรวจ และอีก 3 วันถัดมาก็ทราบผลว่า เราเป็นมะเร็งเต้านม”

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

แพทย์วินิจฉัยว่า เธอเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ขนาด 2.5 ซม. โดยเนื้อร้ายได้ลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ขวา 3 ต่อมจากทั้งหมด 15 ต่อม แต่สาเหตุที่ร่างกายไม่แสดงอาการเพราะยังเป็นระยะเริ่มต้น แพทย์วางแผนการรักษาให้ผ่าตัดแบบสงวนเต้านมคือ คว้านเนื้อร้ายและเนื้อรอบข้างออก จากนั้นให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง และฉายแสงอีก 19 ครั้ง

“ความรู้สึกที่รู้ว่าเป็นมะเร็งคือ ตกใจ แต่เราก็รู้สึกว่ามันคือเรื่องจริงที่เราต้องรับมันให้ได้ อาจเป็นเพราะตั้งสติได้ไว โชคดีที่เราเป็นคนที่พออยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานจะรับมือกับมันได้ดี ซึ่งอาจเป็นนิสัยจากการเป็นนักกีฬาที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จำได้ว่าตอนนั้นให้เวลาตัวเองร้องไห้อยู่ 4 วัน คุยกับตัวเองหน้ากระจก จากนั้นก็เลิกตั้งคำถาม เลิกจม และตั้งหลักออกไปหาหมอ หาข้อมูล ไปคุยกับหมอหลายคนเพื่อหาแนวทางการรักษา

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

ตอนนั้นสารภาพว่าไม่มั่นใจเลยว่าจะหาย เพราะมะเร็งสำหรับเรามันอันตราย ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร แค่คิดว่า ถ้าเรามีเวลาน้อยจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เลยพยายามทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องการรักษาก็ให้คุณหมอจัดการ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วจะฟูมฟายอยู่ก็เสียเวลา แถมยังไม่ทำให้หาย หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว”

เธอเล่าด้วยว่า ช่วงที่ลำบากที่สุดคือตอนให้เคมีบำบัด เพราะตอนนั้นเป็นปี 2554 บ้านเจอวิกฤตน้ำท่วม ทำให้เหมือนชีวิตขาดปัจจัย 4 ตัวเองป่วย อาหารขาดแคลน บ้านจะไม่มีอยู่ กิจการที่บ้านหยุดชะงัก และการเดินทางไปหาหมอก็ลำบาก จึงรู้สึกเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดแต่เธอก็ยังทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ถามว่าตอนให้เคมีบำบัดทรมานมากไหม สำหรับออยคือ ทนได้ อาจเป็นเพราะมีต้นทุนสุขภาพดีจากการเป็นนักกีฬา อายุยังน้อย และสามารถควบคุมความเครียดได้ดี จึงทำให้ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด และตอนป่วยเป็นมะเร็งกลับรู้สึกว่าสามารถจัดการชีวิตได้ดีมาก คือ ไม่คิด ไม่เครียดไปล่วงหน้า แต่เลือกที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก่อน ถ้าจะเจ็บก็เจ็บแค่ตอนนั้น จะไม่คิดล่วงหน้าให้ทรมานก่อนเจ็บจริง”

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

ผู้ป่วยมะเร็งวัย 35 ปี เล่าต่อว่า หลังทำเคมีบำบัดทำให้เธออ่อนเพลียไปประมาณ 4 วัน แต่หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบอย่าง จูงสุนัขไปเดินเล่น ไปออกกำลังกาย คือทำชีวิตให้เป็นปกติภายในกรอบที่สามารถทำได้ ซึ่งช่วงที่ให้เคมีบำบัดเข็มสุดท้ายเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอเริ่มทำ อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ เป็นโครงการที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเสื้อ Cancel Cancer ขาย หรือขายผลงานศิลปะ เพื่อนำเงินไปบริจาคให้มูลนิธิ 3 แห่ง คือ ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

“ออยเห็นผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ ในโรงพยาบาลรัฐแล้วกระทบใจเรา เพราะเรารู้ว่าการเป็นมะเร็งมันแย่แค่ไหน และยิ่งเป็นมะเร็งแล้วไม่มีเงินรักษา และขาดโอกาสในการรักษา มันยิ่งทำให้รู้สึกเศร้าและยากลำบาก ออยเลยสร้างแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย และช่วยระดมเงินเข้ากองทุนอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ จากนั้นหาร 3 ไปยัง 3 แห่ง เพื่อนำไปช่วยเหลือ
ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้”

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

ภายใน 1 ปี เธอสามารถหาเงินเข้ากองทุนได้มากกว่า 1 ล้านบาท และจากแคมเปญเล็กๆ ได้กลายเป็นแคมเปญต่อเนื่องนาน 5 ปี จนกระทั่งปี 2560 ออยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง ซึ่งขณะเดียวกันยังได้ต่อยอดจากโครงการเป็นกิจการเพื่อสังคม ด้วยการทำกิจกรรมเชิงศิลปะร่วมกับผู้ป่วยมะเร็ง และขายสินค้าที่เสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งยังคงแบ่งเข้ากองทุนอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ เพื่อนำเงินไปบริจาคให้มูลนิธิ 3 แห่งเหมือนเดิม

มะเร็งครั้งที่ 2 เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน

หลังจากรักษามะเร็งเต้านมครั้งแรกนาน 1 ปี บวกเวลาพักและติดตามผลอีกประมาณครึ่งปี สุดท้ายเธอได้กลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ด้านดีไซน์แมเนจเมนต์ ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ จนกระทั่งเพื่อนเก่ามาทักทาย

“ตั้งแต่เป็นครั้งแรก หมอไม่เคยพูดเลยว่า ถ้ารักษาเสร็จแล้วจะหาย แต่หมอจะพูดว่า ต้องติดตามต่อไป ซึ่งออยเข้าใจคำที่หมอพูด และรู้มาเสมอว่ามีโอกาสที่มันจะกลับมา และ 5 ปีต่อมามันก็กลับมาจริงๆ โดยลามไปที่ปอด เจอ 2 ก้อน ก้อนละประมาณ 1 เซนฯ กว่า ซึ่งตอนที่รู้ว่ามันกลับมาเป็นความรู้สึกเซ็ง เพราะปี 2560 ออยตั้งใจจะลุยทำอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ เต็มตัว และจะช่วยงานที่บ้านเต็มที่ แต่ต้องมาหยุดรักษาตัว มันเหมือนกับรอบที่แล้วที่ชีวิตเรากำลังทะยานขึ้นแต่ต้องเบรกกะทันหัน โดยครั้งนี้ให้เวลาตัวเองตกตะกอน 1 วัน จากนั้นก็ลุกขึ้นมาวางแผนชีวิตต่อ เพราะออยยังมีเป้าหมายที่จะก้าวไปข้างหน้า ส่วนโรคก็รักษาไป แยกส่วนกันแต่เดินไปพร้อมๆ กัน ออยจะไม่ให้มะเร็งมาหยุดความฝันที่เราอยากทำ แต่จะทำความฝันให้เต็มที่ในเงื่อนไขความเป็นจริง”

เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ออยเข้ารับการผ่าตัดปอดด้านขวาออก 1 ใน 3 ส่วน เพื่อตัดเนื้อร้ายทิ้งไป โดยเธอเล่าว่า ก่อนผ่าตัดเธอได้รับการทดสอบความจุลมในปอด ปรากฏว่า อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้หลังผ่าตัดไม่ค่อยมีผลข้างเคียงและมีความแตกต่างจากเดิมมากนัก

นอกจากนี้ หลังจากผ่าตัดปอด เธอยังเข้ารับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ เนื่องจากมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือที่เรียกว่า ระยะแพร่กระจาย แพทย์จะเน้นการรักษาเพื่อควบคุม ไม่ใช่เพื่อให้หายขาดเหมือนระยะเริ่มต้น เธอจึงจำเป็นต้องกินยาสำหรับคนหมดประจำเดือน ซึ่งหากไม่ตัดมดลูกและรังไข่ก็ต้องฉีดยากดไม่ให้มีประจำเดือนไว้ เธอจึงตัดสินใจตัดมดลูกและรังไข่ออกและกินยาควบคู่กันไป เพื่อให้ร่างกายหยุดการทำงานของฮอร์โมนทั้งหมดเสมือนคนวัยทอง

“ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนป่วย แม้จะเป็นมะเร็งแต่ไม่รู้สึกว่ามะเร็งมาคุกคามชีวิตเราเลย แถมยังรู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา (มะเร็ง) ที่ยังเมตตาเรา ไม่ทำให้เราทุกข์ทรมาน แต่ทำให้เราผ่านบททดสอบต่างๆ เพื่อทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” ออยกล่าวเพิ่มเติม

“และโชคดีที่เราไม่ใช่คนปรุงแต่ง หรือกลัวไปก่อนเกินความจริง แต่จะอยู่กับปัจจุบัน ตั้งแต่เป็นครั้งแรกก็พยายามทำใจเกี่ยวกับเรื่องความตายไว้แล้ว เข้าใจเรื่องสัจธรรมชีวิตไว้แล้ว ดังนั้นพอเป็นรอบที่ 2 เลยไม่ฟูมฟายมากเท่าครั้งแรก และเข้าใจว่าการเป็นโรคไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่เป็นวงจรชีวิตของมนุษย์ที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่แค่เรามาเจอเร็วกว่าคนอื่น ซึ่งได้เรียนรู้ความเจ็บตั้งแต่ตอนนี้ก็ดี จะได้มีเวลาเตรียมตัว ทำให้คนอายุ 30 กว่าเข้าใจชีวิต ใช้ชีวิตแบบไม่ล่องลอย แต่โฟกัสกับสิ่งที่เราอยากทำ และทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของชีวิตออกไปได้ง่าย มีบางครั้งที่ออยคิดว่า ผู้ป่วยมะเร็งอาจเป็นคนมีบุญก็ได้ ไม่ได้มีกรรม เพราะเป็นโรคที่เข้าใกล้ความตาย ใช้โรคเป็นครู และเป็นโรคที่มีเวลาให้เตรียมตัว ให้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ได้จากไปโดยไม่ทันตั้งตัว” เธอกล่าว

สานต่อความฝัน ส่งต่อกำลังใจ

นอกจากการทำงานเพื่อสังคม อีกเป้าหมายในชีวิตคือ เธออยากดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุด ส่วนงานอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว โดยปัจจุบันอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ เป็นกิจการเพื่อสังคมภายใต้บริษัท อาร์ต ออฟ ไลฟ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

“ทุกวันนี้ออยใช้ชีวิตให้สมดุล ไม่ได้งดอะไรบางอย่างไปเลย แต่จะเน้นกินผัก กินปลา กินไก่ มีกินหมูบ้างนานๆ ที เน้นกินอาหารหลากหลาย เลือกอาหารที่รู้ว่ามันดีต่อสุขภาพ ส่วนบางอย่างที่ไม่ควรกิน เช่น เค้ก ไส้กรอก ถ้าอยากกินก็กินให้หายอยากแล้วพอ แค่ดูแลภาพรวมใหญ่ให้ดี กินให้มีความสุข ใช้ชีวิตให้มีความสุข พักผ่อนให้พอ และออกกำลังกาย”

‘รู้สึกโชคดีและขอบคุณเขา’ ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ที่มีความสุข

เธอกล่าวด้วยว่า การเป็นมะเร็ง 2 ครั้งที่ผ่านมา เธอไม่ใช้คำว่า สู้ แต่ใช้คำว่า เต็มที่และรับมือกับมันให้ดีที่สุด เพราะทุกครั้งเธอจะมองทุกอย่าง “กลางๆ ไม่คิดว่าจะชนะมัน” แต่ทำให้ดีที่สุด ถ้าหายก็หาย ถ้าไม่หายก็อยู่กับมันแม้ว่าต้องรับมือจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต

“ออยจะหลีกเลี่ยงใช้คำว่า สู้ กับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะถ้าวันหนึ่งเราทำเต็มที่แล้วแต่สุดท้ายไม่สามารถควบคุมโรคนี้ได้ เราก็ต้องก้าวสู่ช่วงเรียนรู้ในการอยู่กับมันและเตรียมพร้อมช่วงเวลานั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่สู้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมะเร็ง และมีความหวังว่าทุกคนมีโอกาสหายขาด ทุกคนมีโอกาสรอด ถึงแม้จะไม่หายขาดแต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกับมันได้อย่างเข้าใจ”

กิจกรรมหนึ่งของอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ คือ การทำกิจกรรมศิลปะบำบัดให้กับผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาล โดยเธอมองว่า ศิลปะจะทำให้ผู้ป่วยลืมช่วงเวลาที่วิตกกังวล และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทั้งยังได้ปลดปล่อยสิ่งที่เก็บไว้ข้างในออกมา เพราะพื้นที่ศิลปะคือพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถแชร์ได้อย่างอิสระ และมีคนพร้อมที่จะรับฟัง

“เวลาที่ผู้ป่วยมะเร็งได้คุยกับคนที่เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วจะทำให้เขามีความหวัง อย่างออยเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 แต่ยังแข็งแรง ยิ้มได้ มีความสุข และสามารถทำตามความฝันได้ ก็จะเป็นกำลังใจและเป็นความหวังให้ผู้ป่วยคนอื่น”

นอกจากนี้ วันที่ 2-3 มี.ค. 2562 อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ ร่วมกับสถานวิทยามะเร็งศิริราช จัดเทศกาล แคนเซิล แคนเซอร์ เฟสติวัล 2019 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ บัตรเข้างานราคา 550 บาทเพื่อระดมเงินทุนผ่านดนตรี ศิลปะ และอาหาร ที่จะทำให้คนทั่วไปเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจความหมายของคำว่ามะเร็งมากขึ้น

รายได้ดังกล่าวจะนำไปทำงานวิจัยเรื่อง การหารหัสยีนมะเร็งในคนไทย เพื่อหาการรักษามะเร็งที่แม่นยำและได้ผลดีสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนในร่างกาย แต่ปัจจุบันไทยยังใช้งานวิจัยต่างประเทศเป็นแหล่งอ้างอิงในการรักษา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักยีนมะเร็งแต่ละชนิดในคนไทยเพื่อหาวิธีการรักษาที่แม่นยำขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน รวมถึงสนับสนุนสินค้าและเวิร์กช็อปด้านศิลปะจากอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ สามารถสอบถามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Art for Cancer by Ireal โดยเธอทิ้งท้ายว่า หากต้องการพูดคุยสามารถทักผ่านเพจ เธอยินดีให้คำปรึกษาและให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งทุกคน