posttoday

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม สัตวแพทย์หัวใจหล่อ

29 ธันวาคม 2561

เรื่อง : พุสดี สิริวัชระเมตตา

เรื่อง : พุสดี สิริวัชระเมตตา


"เมื่อยามที่โลกเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากผู้ประสบภัยที่รอคอยการช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ได้รับความลำบากและต้องการได้รับความช่วยเหลือไม่ต่างกัน”

นี่จึงกลายเป็นที่มาของภารกิจอันแสนภาคภูมิใจที่ "หมอน็อต" นสพ.ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม ผู้จัดการโครงการสัตว์ประสบภัย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เดินหน้าทำมาตลอด 10 ปี กับการลงพื้นที่ภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกที่มักถูกลืมหรือละเลยยามเกิดวิกฤต

“ช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงานตรงนี้ คนไทยรวมทั้งสัตวแพทย์เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่างานจัดการภัยพิบัติของสัตว์นั้นคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากในภูมิภาคอาเซียน ตัวผมเองแม้จะเรียนจบสัตวแพทย์ก็ยังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากนัก รู้แต่มีแพชชั่นตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์

ดังนั้นพอเรียนจบแล้วเห็นว่าทางองค์กรพิทักษ์สัตว์โลกเปิดรับอินเทิร์น ผมเลยลองมาสมัคร ปรากฏว่าได้ จึงมีโอกาสทำงานมาจนถึงทุกวันนี้” หมอน็อตบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโชคชะตาที่นำพาให้มาทำงานช่วยเหลือสัตว์ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

หมอน็อตยอมรับว่าการทำงานที่มีชีวิตของคนและสัตว์เป็นเดิมพันนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ท้าทายเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งเหนื่อยและเครียด เพราะไม่รู้ว่าเหตุภัยพิบัตินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มาในรูปแบบไหน และสิ่งที่ต้องเจอในพื้นที่คืออะไร

“ตอนมาทำงานใหม่ๆ ผมจินตนาการว่าการทำงานของพวกเราคงเหมือนเวลาเจ้าหน้าที่ยูเอ็น (สหประชาชาติ) นำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในยูกันดา ซึ่งพอมาลงพื้นที่จริง สภาพหน้างานอาจไม่ต่าง แต่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผมคิดว่าซับซ้อนมากกว่า เพราะทุกอย่างไม่มีคำว่าตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งนอกจากจะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ยังต้องอาศัยการประสานงานกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐหรือองค์กรของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเราไม่ใช่องค์กรใหญ่ ดังนั้นการทำงานกับภาครัฐจะช่วยให้เรารู้เป้าหมายและความต้องการของชุมชนได้อย่างแม่นยำ

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม สัตวแพทย์หัวใจหล่อ

ที่สำคัญยังสามารถทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืนได้ เพราะเราคงไม่สามารถจะลงพื้นที่อยู่กับชาวบ้านได้ตลอดไป สิ่งที่เราทำได้คือนำองค์ความรู้ไปมอบให้” หมอน็อตบอกเล่าถึงภารกิจที่ทำด้วยแววตามุ่งมั่น

งานนี้เพื่อฉายภาพการทำงานให้เห็นชัดเจนมากขึ้น หมอน็อตถือโอกาสบอกเล่าถึงการลงพื้นที่ครั้งล่าสุดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสัตว์จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะสุลาเวสี ตอนกลางของประเทศอินโดนีเซีย และการเกิดสึนามิถล่มที่เมืองปาลู ซึ่งผลจากภัยพิบัติดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 1.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน ยังไม่รวมถึงสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ล้มตาย หรือถูกทิ้งให้ต้องทนทุกข์ทรมาน

“หลังจากตัดสินใจว่าจะลงพื้นที่ ผมและทีมงานนั่งเครื่องบินไปลงที่ฝั่งใต้ของอินโดนีเซีย เพราะเครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่เมืองปาลูซึ่งเป็นจุดหมายได้ เราจึงต้องเหมารถจากตอนใต้มายังตอนกลาง ซึ่งกว่าจะหารถได้ก็ใช้เวลาเกือบ 1 วัน นั่งรถมาอีก 1,060 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 20 ชั่วโมง กว่าจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย

เพราะต้องใช้เส้นทางที่เลาะทางเขาเข้ามาทั้งหมด เวลาเจอปั๊มน้ำมันก็ต้องคอยแวะเติม เชื่อไหมว่าแต่ละปั๊มมีรถต่อคิวเติมน้ำมันติดยาวเป็นกิโล ใช้เวลารอไม่ต่ำกว่าชั่วโมง” หมอน็อตสะท้อนภาพความยากลำบากในการเข้าพื้นที่

“พอใกล้ถึงจุดหมาย เราเริ่มเห็นผู้ประสบภัยใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน เริ่มพบแพะ-แกะที่ป่วยและมีบาดแผล เราก็ดำเนินการช่วยเหลือนำอาหารไปให้ จนมาถึงจุดหมาย วินาทีแรกที่เปิดกระจก คือได้กลิ่นเน่าลอยมาก่อนเลย” หมอน็อตถ่ายทอดถึงเหตุการณ์ที่ยังจำได้ไม่ลืม พร้อมเผยถึงภารกิจของทีม

“เราลงพื้นที่ครั้งแรก 3 วัน เพื่อสังเกตการณ์และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เราเข้าไปสำรวจจุดพักพิงที่ประชาชนอพยพมาอาศัยอยู่พร้อมสัตว์ต่างๆ เพื่อประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ

มอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรักษาสัตว์ในพื้นที่ภัยพิบัติ และวางแผนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วยการนำทีมสัตว์แพทย์อาสาเข้าไปในพื้นที่ ก่อนจะเดินทางกลับออกมา เบ็ดเสร็จรวมระยะทางไป-กลับ 2,000 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาอยู่บนรถร่วม 50 ชั่วโมง”

นอกจากอินโดนีเซีย ตลอด 10 ปีในการทำงาน หมอน็อตได้มีโอกาสลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสัตว์มาแล้วในหลายพื้นที่ ผ่านการทำงานในภัยพิบัติมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง และโรคระบาด ซึ่งมักเกิดหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ

“บนโลกนี้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทุกวันนี้ทีมงานของเราซึ่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ ไทย คอสตาริกา เคนยา และอินเดีย จะทำงานร่วมกันในการมอนิเตอร์สถานการณ์ภัยพิบัติรอบโลก และประเมินสถานการณ์ในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือต่อไป

ส่วนใหญ่เมื่อเกิดภัยพิบัติเราจะใช้เวลาตัดสินใจและประสานงานเพื่อเตรียมตัวลงพื้นที่ไม่เกิน 3 วัน โดยหลักการประเมินว่าจะลงพื้นที่หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถานการณ์อะไร แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและผลกระทบของเหตุการณ์นั้น ยกตัวอย่างเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม เราต้องประเมินแล้วว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร น้ำหลากมาแล้วไป หรือน้ำท่วมขัง ถ้าเป็นอย่างหลังเราต้องไป เพราะต้องมีคนและสัตว์ติดเกาะ ขาดน้ำขาดอาหาร เป็นต้น” หมอน็อตบอกเล่าอย่างออกรส พร้อมไขข้องใจว่า ในจำนวนภัยพิบัติประเภทไหนท้าทายที่สุดในการเข้าไปช่วยเหลือ

“ภัยแล้งยากที่สุดครับ ถึงภาพที่ออกมาจะดูไม่ตื่นเต้นเท่าภาพสึนามิ แผ่นดินไหว แต่เหตุการณ์พวกนั้นเกิดแล้วจบทันที ยกเว้นบางกรณีอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกหรือมีกระทบต่อเนื่อง อย่างสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ส่งผลกระทบไปถึงโรงงานนิวเคลียร์

ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม สัตวแพทย์หัวใจหล่อ

แต่ภัยแล้งเป็นภัยพิบัติที่กระทบในวงกว้างและยาวนาน ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านบางคนหมดตัว เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ แต่ในแง่การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือก็ยากเช่นกัน เพราะความสำเร็จการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ชุมชนนั้นมีด้วย หากทรัพยากรที่มีร่อยหรอก็เพิ่มความยากในการช่วยเหลือและสร้างความยั่งยืนให้กลับมา”

ถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้หมอน็อตไม่ย่อท้อกับการอุทิศตนเพื่อทำงานที่ท้าทาย แม้รู้ดีว่าการพื้นทุกครั้งเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก สัตวแพทย์หนุ่มตอบอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า

“ผมเชื่อว่างานทุกงานมีความลำบาก ไม่ใช่แค่งานนี้ ผมเพียงแต่รู้ว่างานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติ ผมมีความสุขที่ได้เห็นว่าผลจากงานที่ผมทำ ทำให้ชาวบ้านและสัตว์ได้กลับไปมีชีวิตแบบที่ควรจะมีและควรจะเป็นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หมอน็อตยอบรับว่าทุกครั้งที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ย่อมมีทั้งความสุขสมหวังและความผิดหวังเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งที่ต้องทำคือยอมรับและเดินต่อไป

“เราไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ 100% ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม ผมมักปลอบใจตัวเองเสมอว่าตราบที่เราทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด ผลออกมาจะเป็นอย่างไร? มันคือความจริงที่เราต้องยอมรับ หากผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นดั่งหวัง เราก็ต้องเรียนรู้และนำมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป”

สำหรับเป้าหมายจากนี้ นอกจากหมอน็อตยังคงมุ่งมั่นทำงานตรงนี้ต่อไปให้นานที่สุด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการทำงาน ตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสัตว์ เพราะฉะนั้น 10 ปีจากนี้หมอน็อตเชื่อว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอีก

“ตอนนี้เราพยายามกระตุ้นให้ภาครัฐเข้ามาสร้างกลไกในการช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเกิด-ระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งเราเดินหน้าไปเยอะแล้วในเชิงทฤษฎี แต่เราอยากให้เห็นในเชิงปฏิบัติ ทั้งในการยกระดับการเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ”

ทั้งนี้ หมอน็อตยังถือโอกาสทิ้งท้ายด้วยหัวใจที่หล่อมากๆ ในการเป็นความหวังของสัตว์โลกยามเกิดภัยพิบัติว่า

“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ผมไม่เคยกลัวตาย แต่ผมกลัวว่าลงพื้นที่ไปแล้วจะช่วยอะไรไม่ได้มากกว่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น สำหรับผมมันคือความล้มเหลว”