posttoday

อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ แห่งเดียวของไทย ที่กรมทางหลวง

23 ธันวาคม 2561

ผู้เขียนผ่านกรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา ทีไร เห็นอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ พร้อมคนขับตั้งตระหง่านที่ด้านหน้าตึกพหลโยธิน ก็อยากหาคำตอบว่าทำไม

เรื่อง...สมาน สุดโต

ผู้เขียนผ่านกรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา ทีไร เห็นอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ พร้อมคนขับตั้งตระหง่านที่ด้านหน้าตึกพหลโยธิน ก็อยากหาคำตอบว่าทำไม รถแทรกเตอร์จึงมีความสำคัญมาก ถึงกับกรมทางหลวงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ จนกระทั่งวันที่ 17 ธ.ค. 2561 จึงแวะไปหาความจริง ได้คำตอบจากฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมทางหลวงที่พรินต์คำกล่าวรายงานของ ธานินทร์ สมบูรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง ที่กล่าวรายงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงปีที่ 106 วันที่ 1 เม.ย. 2561 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ประธานในพิธีวางพวงมาลา อนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญกรมทางหลวง ที่หน้าอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ ด้านหน้ากรมทางหลวง

คำกล่าวรายงาน บอกถึงประวัติกรมทางหลวงว่ามีอายุ 106 ปี นับแต่วันสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) กรมทางหลวงมีภารกิจหลัก คือพัฒนา และบำรุงรักษาทางหลวง เพื่ออำนวยสุขให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยโดยดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในด้านการป้องกัน และลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ แห่งเดียวของไทย ที่กรมทางหลวง

การดำเนินงานของกรมทางหลวง ในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมาได้รับมอบหมายภารกิจ ให้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงในพื้นที่ทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกความเจริญยังเข้าไม่ถึง บางแห่งเป็นพื้นที่ชายแดน มีผู้ก่อการร้ายใช้พื้นที่เป็นที่หลบซ่อน และคุกคามประชาชน ซึ่งกรมทางหลวงได้ปฏิบัติภารกิจ เพื่อเปิดเส้นทางการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดูแลควบคุมพื้นที่ดังกล่าว ได้อย่างรวดเร็ว สร้างความมั่นคง และให้ความปลอดภัยกับประชาชน

อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ แห่งเดียวของไทย ที่กรมทางหลวง

จากการก่อสร้างถนนในถิ่นทุรกันดารในครั้งนั้น มีวีรชนผู้กล้าหาญของกรมทางหลวง ได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน ในพื้นที่ที่ผู้ก่อการร้ายคุกคามเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณความดี ตลอดจนวีรกรรมของผู้กล้าหาญกรมทางหลวง จึงได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญกรมทางหลวงแห่งนี้ขึ้นและเปิด 1 เม.ย. 2515 มีลักษณะเป็นฐานคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมสูง 2 เมตร บนฐานมีรูปปั้นคนนั่งขับรถแทรกเตอร์ ที่ใช้ในงานก่อสร้างสมัยนั้น รอบฐานทั้งสี่ด้านจารึกชื่อวีรชนผู้กล้าหาญของกรมทางหลวงจำนวน 54 นาย

อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ แห่งเดียวของไทย ที่กรมทางหลวง

ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง กระผม (นายธานินทร์ สมบูรณ์) ขออนุญาตกล่าวสดุดีท่านวีรชนผู้กล้าหาญ ดังนี้ “การมาร่วมชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงผู้กล้าหาญ ซึ่งได้พลีชีพด้วยการฝ่าฟันภยันตราย เพื่อพัฒนาทางหลวงสู่ถิ่นทุรกันดาร ด้วยปณิธานอันตั้งมั่น ที่จะให้บังเกิดความมั่นคงในแผ่นดิน แม้จะต้องสละชีวิตเพื่อบ้านเมืองก็ตามในวันนี้พวกเราขอน้อมรำลึกถึงคุณความดีของวีรชนผู้กล้าหาญกรมทางหลวง พร้อมทั้งขอตั้งจิตอธิษฐาน อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงช่วยปกปักรักษาดวงวิญญาณวีรชนทุกท่าน จงสงบสุขตลอดกาล”

ที่ด้านหน้าอนุสาวรีย์ มีบทกลอนสดุดีการพลีชีพ (ไม่ระบุชื่อผู้ประพันธ์) ดังนี้

เลือดท่านที่หลั่งทา ชโลมถิ่นเป็นทางทอง ยังอยู่เรืองรอง ในหัวใจไม่เหือดจาง เป็นศรีและเป็นศักดิ์ อันศักดิ์สิทธิ์แห่งผู้สร้าง เป็นธงที่ปักทาง ว่าคนทางนี้คงทน พักเถิดผู้เพื่อทาง ผู้ทอดร่าง ณกลางรณ สร้างค่ามรรคาคน มาคงไว้ให้คารวะ

เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่พลีชีพ ทั้ง 54 ท่านนั้น เสียชีวิตเพราะการกระทำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ถึง 24 ก.ค. 2523 ในสายทางต่างๆ ในภาคเหนือ เช่น ที่แม่สอด-อุ้มผาง ปอน-ห้วยโก๋น ด่านซ้าย-เหมืองแพร่ ปง ดอนชัย บ้านแฮะ (อ.เชียงคำ) ห้วยมุ่น เหมืองแพร่ แม่กลองใหม่-หนองหลวง เขตแดน สายนาโยงเหนือ-ย่านตาขาว เป็นต้น

รายนามเจ้าหน้าที่ที่พลีชีพ

1.นายผล ปัญญาเสน

2.นายรำพรวน โมมีเพชร

3.นายสวัสดิ์ ใจพรหมเมือง

4.นายธวัช ธิติกุลเกษมศักดิ์

5.นายเป็ง ใจกว้าง

6.นายคำหมื่น พรหมทอง

7.นายเปลี่ยน มีบุญ

8.นายวิรัตน์ ธารีจันทร์

9.นายแสวง อันศรี

10.นายชาติสวัสดิ์ แสงฟ้าเลื่อน

11.นายสงคราม กาญจนวิเชียร

12.นายนริศ เย็นบุตร

13.นายพจนารถ สุนทร

14.นายสิงห์แก้ว เวียงเหล็ก

15.นายจรัล ติละ

16.นายสวัสดิ์ ไพฑูรย์

17.นายสมคิด ฉิมสวัสดิ์

18.นายสำลี หอมเนียม

19.นายอินตา ดาวสุข

20.นายพิพัฒน์ ใยบัวเทศ

21.นายกสิน อินทรรองพล

22.นายอำพล ใจชนะ

23.นายเสถียร ขำศรี

24.นายแฉล้ม มูลคำบิน

25.นายพิชิต พุทธิสมสถิตย์

26.นายไตรเทพ มามาก

27.นายวิเชียร อินทร์เรือน

28.นายเทพ แก้วเมือง

29.นายสำเนา ไทยแท้

30.นายสมพล ราวิน

31.นายยงยันต์ เครืองิ้ว

32.นายตำนาน อุมวะนะ

33.นายนิพนธ์ พูลสวัสดิ์

34.นายทองดี เหมือนหมอก

35.นายโทน ตาพุด

36.นายศุภวิทย์ อารยพงศ์

37.นายพิภพ เกตุรัตนกุล

38.นายบุญสวย จันพุฒ

39.นายวิเชียร จิตรบุญธรรม

40.นายประสิทธิ์ กุณาตำ

41.นายธีรชัย ปานันท์

42.นายตำหล้า ปัญญาเถิง

43.นายประณัติ พุทธปฏิโมกย์

44.นายทองคำ โมระนันท์

45.นายสมพงษ์ คำภีร์

46.นายสมปอง คำภีร์

47.นายบุณยงค์ คำภีร์

48.นายเบิ้ม พุ่มไสว

49.นายเสริม ยกมา

50.นายพินิจ ดีขะนุ

51.นายอนุวัฒน์ ไม้สุพร

52.นายวีรานันท์ นิรมร

53.นายถวิล ไชยปุระ

54.นายทัศน์ชัย ก้งแฮ

ขอวิญญาณผู้กล้าทุกท่าน จงสถิต ณ สรวงสวรรค์ ในสัมปรายภพ เทอญ