posttoday

ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย

17 ธันวาคม 2561

ดีใจภูมิใจทุกครั้งเวลาเห็นเด็กไทยคว้ารางวัล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวรางวัล แต่หมายถึงการไปต่อ การก้าวเดิน

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง

ดีใจภูมิใจทุกครั้งเวลาเห็นเด็กไทยคว้ารางวัล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวรางวัล แต่หมายถึงการไปต่อ การก้าวเดิน และการบุกไปข้างหน้าด้วยพลังคนรุ่นใหม่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน “Virtual” ผลงานของนักศึกษามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ชนะเลิศการประกวดแอนิเมชั่น และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับเอเชีย

Virtual หรือเวอร์ช่วล ผลงานของ ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง (ฟิล์ม) กับ ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย (มายด์) นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มจธ. มีอาจารย์วิศิษฎ์ ศุภางคะรัตน์ อาจารย์ประจำมีเดียอาตส์ มจธ. เป็นที่ปรึกษาโครงการ

หนังสั้นของทั้งคู่คว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Prize จากการประกวดผลงานแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย TBS DigiCon 6 Thailand 2018 และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับเอเชีย TBS Digicon 6 Asia 20th เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ประเทศญี่ปุ่น

ศุภกรณ์ หรือ มายด์ วัย 23 ปี เล่าว่า เวอร์ช่วลเป็นหนังสั้นแอนิเมชั่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตการทำงานของคนเริ่มทำงาน นำเสนอภาพความฝัน ในฐานะที่ความฝันคือตัวไขปริศนาและช่วยบำบัดความเครียด เนื้อเรื่องสะท้อนชีวิตเด็กจบใหม่ที่ต้องเจอกับอุปสรรคในที่ทำงาน

“บรรยากาศของการเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน เจอกับสายตาจับจ้อง คำพูดคำนินทาของผู้ร่วมงาน เป้าหมายและความฝันก็สั่นคลอน”

ในเรื่องมีสัตว์ปีกคล้ายไก่เป็นตัวเดินเรื่อง มันมีความคาดหวัง ทำงานอยากได้เงินเยอะๆ อุปสรรคต่างๆ เป็นเหมือนลูกบอลสีดำกระโดดมาเกาะตัวมันไว้ เลือกสัตว์ปีกคล้ายไก่เป็นตัวดำเนินเรื่อง เพราะไก่เป็นสัตว์ที่มีลักษณะหวาดกลัว สายตา คำพูดของผู้ร่วมงาน ทำให้ตัวละครไก่เก็บมาคิด

ณธันยรัตน์ หรือ ฟิล์ม วัย 22 ปี เล่าว่า เวอร์ช่วลใช้เวลาทำ 3-4 เดือน เริ่มจากการหาข้อมูล คิดพล็อตเรื่อง ทำโมเดล ทำฉากและตัดต่อ ซึ่งยากที่สุดคือการคิดเนื้อเรื่อง เลือกทำเรื่องความฝัน ซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายของชีวิตและเป็นทั้งโอกาสในการปลดปล่อยความคับแค้น แนวคิดมาจากโจทย์ว่า ทำไมเด็กจบใหม่เปลี่ยนงานบ่อย

“เราเลือกสัตว์ปีกคล้ายไก่ ก็เพราะนอกจากมันจะเป็นสัตว์ขี้ตื่นแล้ว มันก็ยังเป็นตัวแทนของสัตว์ที่รักอิสระ ต้องการบิน” ฟิล์ม เล่า

ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย

ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย

ในที่สุดลูกบอลสีดำที่เป็นรูปปาก รูปตา ของผู้ร่วมงานก็มาเกาะตามตัวไก่ไว้ แม้พยายามบินหนีแต่ก็บินไม่ขึ้น ไก่เห็นตัวเองกองอยู่บนพื้น คือการทับถมและเสียงหัวเราะเยาะจากเพื่อนร่วมงาน ไก่ก็คิดว่ามันไม่โอเค มันดึงลูกบอลสีดำออกไป พยายามมุ่งมั่นกับความฝันคือเงินเยอะๆ

“ไก่ดึงลูกบอลออกจากตัว แต่ขนของมันหลุดออกไปด้วย เราไม่ใช่คนเดิมอีก อยากบินสูงเพื่อไปเอาเงินก้อนใหญ่ แต่มันก็ไม่มีขนแล้ว ร่างกายทำงานหนัก แบกรับหลายอย่าง เศษซากไก่ตัวอื่นรายทางกำลังบอกอะไรบางอย่างแก่มัน”

สำหรับการพัฒนาผลงานแอนิเมชั่น ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์บันลือ กุณรักษ์ อาจารย์ประจำวิชามีเดียอาตส์ มจธ. ที่ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคในการถ่ายทำแบบสต็อปโมชั่น (Stop Motion) ด้วยการใช้ภาพนิ่งหลายๆ ภาพที่มีความต่อเนื่องมาต่อกัน ทำให้ภาพมีความเคลื่อนไหว

การถ่ายทำสต็อปโมชั่น ในการถ่ายทำต้องทำโมเดลตัวไก่ที่มีข้อต่อที่ขยับได้จริงขยับท่าทีละนิดและถ่ายทีละเฟรม เช่น ฉากที่ตัวละครไก่บิน ต้องถ่ายต่อเนื่องให้เสร็จในวันเดียวให้ได้แสงที่ไม่ต่างกัน เพื่อความสมจริง

“เราสองคนเป็นพวกที่ชอบทำในสิ่งที่ยาก ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครทำแอนิเมชั่นแบบสต็อปโมชั่นแล้ว เนื่องจากมันยากและต้องใช้เวลา คุยกับเพื่อนว่า เราทำกันเถอะ เพราะหลังเรียนจบออกไปแล้ว เราอาจไม่มีเวลาทำมันอีกเลย”

คำขอบคุณจากใจสำหรับครอบครัว อาจารย์วิศิษฎ์ ศุภางคะรัตน์ และอาจารย์บันลือ กุณรักษ์ รวมทั้ง “พี่คำป้อน” คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้เชี่ยวชาญจาก Anilephant Studio จนทำให้ออกแบบและผลิตผลงานออกมาได้ตามที่ตั้งใจ สะท้อนความคิดที่ต้องการสื่อสารออกมาได้

สามารถชมผลงานแอนิเมชั่น Virtual ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Mhw_SXBQNOI&feature=youtu.be

ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย

ณธันยรัตน์ กลิ่นเรือง ศุภกรณ์ เพิ่มพูนทวีชัย