posttoday

ปลูกโกโก้และทำรีสอร์ทในวิถีพอเพียง มนูญ ทนะวัง

16 ธันวาคม 2561

นูน-มนูญ ทนะวัง วัย 37 ปี เจ้าของรีสอร์ทโกโก้ วัลเล่ย์ อ.ปัว จ.น่าน

โดย วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : มนูญ ทนะวัง  

นูน-มนูญ ทนะวัง วัย 37 ปี เจ้าของรีสอร์ทโกโก้ วัลเล่ย์ อ.ปัว จ.น่าน คือที่เช็กอินสุดเก๋ของคนรักธรรมชาติและไร่โกโก้ ใครจะรู้บ้างว่า กว่าจะมีชีวิตที่เรียบง่าย กลับไปพัฒนาบ้านเกิด มนูญเคยโลดแล่นกับการใช้ชีวิต ใช้ของแบรนด์เนม เงินสามารถบันดาลสิ่งที่เขาอยากได้ทุกอย่าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่เขาเกิดคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือ ความสุขที่แท้จริงของการใช้ชีวิต เพราะในวัย 35 ปี ชีวิตเขาพร้อมพรั่งไปด้วยบ้าน รถหรูและครอบครัวที่อบอุ่น และเมื่อเขาหาคำตอบได้ ก็สำนึกรักบ้านเกิดกลับไปพัฒนารีสอร์ทของรุ่นพ่อแม่จนกลายเป็นรีสอร์ทสุดเก๋ที่ไม่เพียงหล่อหลอมจิตวิญญาณของตนเอง แต่ยังช่วยเหลือเผื่อแผ่ไปถึงผู้สูงอายุในหมู่บ้านด้วย

รีสอร์ทไร่โกโก้ในฝัน

ปลูกโกโก้และทำรีสอร์ทในวิถีพอเพียง มนูญ ทนะวัง

นอกจากทำไร่โกโก้ 10 ไร่ในที่ของพ่อแม่แล้ว​ เขายังพัฒนาที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ทำเป็นรีสอร์ท 12​ ห้อง ​และทำคาเฟ่เล็กๆ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดาร์ก ช็อกโกแลตจากไร่โกโก้ของตัวเอง

“ผมเป็นคนน่านตั้งแต่เกิด พอเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ไปทำงานบริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมัน บริษัทใหญ่ของอเมริกาต้องไปทำงานที่แหลมฉบัง ชลบุรี ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก เงินเดือนจึงไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมได้เงินเดือนหลักแสนตั้งแต่อายุเพียง 26 ปี เพราะผมทำงานอย่างตั้งใจ โดยดูแลฝ่ายต่างประเทศ ผมทำงานกับบริษัทอเมริกามาตลอด ด้วยผมเป็นเด็กชนบทไปทำงานในเมือง เมื่อได้เงินสูงประสบความสำเร็จไว ผมเริ่มซื้อบ้านมูลค่า 4 ล้าน ซื้อรถเบนซ์ป้ายแดง หรือซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมอยากได้ หรือทุกสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงิน นิยมใช้ของแบรนด์เนม โทรศัพท์ไอโฟนออกใหม่วันแรกผมต้องไปเข้าแถวเพื่อให้ได้ครอบครอง”

เมื่ออายุ 33 ปี มนูญใช้ชีวิตเต็มที่ซื้อทุกอย่าง เที่ยว กิน ดื่มเพราะอยู่พัทยาเมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน จนเขามาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่ทำความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากมีเงินเยอะ สุดท้ายพอเมื่อเขาเดินทางมาถึงจุดที่ซื้อทุกอย่างได้แล้ว เขาเริ่มเกิดคำถามกับชีวิต เพราะชีวิตมาถึงเริ่มหมดความอยากแล้ว จนเขาเห็นเงินเหรียญ 1 บาทแล้วทำให้เขาร้องไห้ได้ เพราะเขาเกิดคำถามว่า ชีวิตของเขาทั้งชีวิต​ ต้องการและหาแค่นี้เองเหรอ

จุดเปลี่ยนชีวิต

ปลูกโกโก้และทำรีสอร์ทในวิถีพอเพียง มนูญ ทนะวัง

คำถามที่เกิดตามมาคือ ชีวิตเราเกิดมาทำไม แล้วเขาหาตอบคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ทำให้กินข้าวไม่ได้นาน 3 วัน จนภรรยาให้สติว่า อะไรที่ทำให้ทุกข์ก็ไม่ต้องคิด เพราะความเครียดที่เกิดจากคำถามที่เขายังหาคำตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเมื่อมีทุกอย่างแล้วแต่ชีวิตกลับไม่พบความสุข

“ผมกินไม่ได้นอนไม่หลับหลายวัน เพราะหาคำตอบให้กับชีวิตตัวเองไม่ได้ ภรรยาเข้ามาจับไหล่ผมแล้วบอกว่า อะไรที่ทุกข์ก็ไม่ต้องคิด หลังจากนั้นผมตื่นเลย และใช้ชีวิตปกติได้ เริ่มมาพิจารณาต่อ ณ วันนั้นผมรู้ว่าทำไมผมตื่นได้ ถึงวันนี้ เพราะบางคำถามไม่สามารถหาคำตอบได้ในขณะนั้น ต้องผ่านช่วงเวลา ประสบกาณ์เราจึงจะรู้ได้ ว่าคำตอบเป็นอย่างไร สุดท้ายผมเหมือนเกิดใหม่ ผมดำเนินชีวิตแบบใหม่ ออกจากสังคมเดิมๆ ผมเริ่มขายทั้งบ้านและรถ เพื่อกลับไปบ้านเกิดของผมย้ายครอบครัว และนำเงินไปพัฒนาบ้านเกิดเพื่อการไม่ยึดติด เพราะผมให้คำตอบกับชีวิตผมได้ว่า ผมอยากกลับไปอยู่บ้าน ย้ายโรงเรียนลูกแล้วผมก็ไม่มีหนี้สักบาท และได้เงินก้อนติดกระเป๋ากลับบ้าน ผมเริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่ก่อนออกจากงานผมได้วางแผนชีวิต ได้ไปปรึกษากับ อ.ยอด-ฉัตรชัย​ระเบียบธรรม อาจารย์ให้คำแนะนำถึงวิธีการทำธุรกิจ ทำอะไรเราต้องมีแผนด้วยการพิจารณาว่าเรามีอะไรก่อน และเรารักที่จะทำอะไรเพราะมันคือความสุขล้วน ๆ ไม่ใช่เพื่อเงิน อันนี้คือจุดเริ่มต้น ทำแค่ 2 โจทย์เท่านั้น พอคิดได้ภายใน 3 เดือน ผมเห็นช่องทาง ผมจึงเลือกกลับไปอยู่บ้านแล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่”

กลับไปพลิกฟื้นรีสอร์ทเล็ก ๆ เก่า ๆ ดั้งเดิมของพ่อ ได้ทำในสิ่งที่รัก นั่นคือ เขาชอบช็อกโกแลต เขาจับ 2 สิ่งที่เขามีและรักมาแมตชิ่งกัน

พึ่งหลักธรรมะ

ปลูกโกโก้และทำรีสอร์ทในวิถีพอเพียง มนูญ ทนะวัง

การพัฒนารีสอร์ทของพ่อเขาพยายามใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด รีโนเวทให้ออกมาสไตล์อินดัสเทรียล ผสมผสานวิถีไทยบ้านหน้าจั่ว​การใช้ชีวิตช้า ๆ แบบคน ชนบท

“ผมพัฒนาโซนรีสอร์ทก่อน 1-2 หลัง และลงต้นโกโก้ในสวนราว 400 ต้น กินพื้นที่ 2 ไร่ก่อน ทำคาเฟ่ควบคู่ไปด้วย เวลาพัฒนาผมมีโจทย์คือ ใครได้ประโยชน์บ้างนอกจากตัวเรา ต้นโกโก้แต่ละต้นผมปลูกเองทุกต้น แม้เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ แม้เริ่มช้าลง ผมเลือกค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เติบโต คิดสร้างสูตรขนมนาน 8 เดือนเพื่อใช้ในคาเฟ่โดยขนมผมเลือกใช้ช็อกโกแลตแท้ทั้งหมดโดยได้ภรรยาของผมช่วย และภรรยายังแปรรูปช็อกโกแลตเป็นเครื่องสำอางเพราะเป็นสิ่งที่เขาชอบ ทำแล้วมีความสุข แต่ละคนต้องมีวิถีทางเป็นของตัวเอง เพราะผมโฟกัสที่คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ผมบินไปอเมริกาเรียนการทำช็อกโกแลต มีเครือข่ายซึ่งกลายเป็นเพื่อนกัน และผมยังปฏิบัติธรรมด้วย ”

การปฏิบัติธรรมสอนให้เขาเห็นถึงความเป็นจริง เช่น ชีวิตเราเกิดมา แล้วก็ตายลง แต่ในระหว่างนี้สุดท้ายเราเดินไปไหน แต่ ณ ขณะที่เรามีชีวิตอยู่เราทำประโยชน์อะไรให้ชุมชนบ้าง

“ผมไปเรียนแปรรูปช็อกโกแลตที่อเมริกา เขาใช้เครื่องจักร 100% แต่ที่บ้านผมจ้างคนเฒ่าคนแก่ จึงต้องคิดกระบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยเน้นคนแก่ที่ไม่มีรายได้มาทำ เช่น คัดแยกเปลือกกับเนื้อแทนการใช้เครื่องจักร เพื่อให้ชาวบ้านมีกิจกรรมทำ และมีรายได้เลี้ยงชีพโดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน” เพราะคนชนบทมักทุกข์เพราะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง แก่ปุ๊บไปแต่วัด และอยู่นิ่งๆ ไม่รู้ทำอะไร อยู่ได้ด้วยเงิน 600 บาท/เดือน และมีเงินใช้อย่างอัตคัดมาก

“พอเราให้อาชีพคนเฒ่าคนแก่เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเขามีรายได้และรู้ว่าตัวเองก็ทำงานได้ ปัจจุบันผมสามารถช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีงาน 10 กว่าคนในหมู่บ้านดอนสถาน บ้านเกิดผมเอง ตอนนี้ให้ชาวบ้านปลูกโกโก้เป็นพืชแซมและเรารับซื้อ อีกหน่อยเราจะให้เขาตั้งกลุ่มทำอาชีพของเขาเอง เพราะผมไม่ใช่นักธุรกิจ ผมไม่อยากได้ลูกไร่ แต่ผมอยากช่วยคนมากกว่า คนแก่ก็มีความสุข​ มีรายการทีวีไปถ่ายชีวิตเขา ชาวบ้านก็ดีใจที่แก่แล้วยังได้ออกทีวี ผมรู้สึกประสบความสำเร็จ เขาได้จดจำชีวิตเขา มันมีคุณค่าทางใจกับบางคน บางรายการออก 5 ทุ่มเขาก็รอดูกัน เกิดเป็นความสุขเล็กๆ และพ่อกับแม่ผมก็เกิดความสุขในการมองสิ่งที่ผมทำให้ชาวบ้าน จนปัจจุบันพ่อกับแม่สามารถพูดแทนผมได้ว่าเราทำอะไร”

ใช้วิถีพอเพียง

ปลูกโกโก้และทำรีสอร์ทในวิถีพอเพียง มนูญ ทนะวัง

การใช้ชีวิตปัจจุบัน​ส่วนหนึ่งมาจากเขาได้เรียนรู้ทฤษฎีพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช​ บรมนาถบพิตร และยึดถือคำสอนตั้งแต่เริ่มธุรกิจอย่างไม่รู้ตัว

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการพอแล้วดีคือ มีหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ หนึ่ง ผมเริ่มต้นจากสิ่งที่ผมมี ไม่ใช่เริ่มจากมโน ไม่กู้หนี้ยืมสิน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เก็บเงิน ค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ เติบโต ผมไม่ได้หวังได้เงินทองมากมาย ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมมีอย่างไม่เกินกำลัง ได้ทำในสิ่งที่รัก มากกว่าทำตามตลาด บางคนเปิดร้านกาแฟ แต่ผมชอบช็อกโกแลต เลือกอยู่กับสิ่งที่รักมากกว่าสิ่งที่ได้เงิน แต่ตอนนี้รีสอร์ทของผมมาเกินคาด จากที่คิดว่าพอเลี้ยงชีพ แต่ตอนนี้ผมสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เกิดความรู้สึกอิ่มใจ เพื่อนๆ เวลาเห็นช็อกโกแลตก็ส่งโปรดักต์มาให้ผมลองดู ถ้าออกแบบโปรดักต์ใหม่ๆ แค่หวังเงิน ผมไม่ทำ ผมจะพัฒนาโปรดักต์อย่างน้อยชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วย”

มนูญ บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาชีวิตของเขามีความสุขมาก ตื่นเช้ามาต้องปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิราวครึ่งชั่วโมง และไปส่งลูกสาวคนโตวัย 10 ขวบ และลูกชายคนเล็กวัย 8 ขวบที่โรงเรียน จากนั้นเข้าไปหาไปดูสวนของชาวบ้านที่ปลูกโกโก้ หรือเข้าไปดูรีสอร์ทดูการเตรียมวัตถุดิบที่จะมาใช้ในคาเฟ่

“ชีวิตผมไม่มีอะไรตายตัว มีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัว พัฒนาการปลูกโกโก้แบบอินทรีย์เพราะเราต้องอยู่กับเขาตลอดเวลา พ่อแม่ผมก็ช่วยดูการปลูกแบบวิถีอินทรีย์ซึ่งดีกับทั้งคนกินและตัวคนปลูก การใช้ชีวิตช้าๆ ในแบบของผมคือ การใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่าของการเกิดมา และจะใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์กับโลก กับตัวเองบ้าง พ่อแม่ในช่วงแรกก็ต่อต้านในสิ่งที่ผมทำ เพราะเขาไม่ชินกับแนวคิดของผม หรือวิธีการของผมเพราะมันแตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยเห็น แต่ตอนนี้พ่อแม่ผมมีความสุขมากที่สุดในชีวิต ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเองจริงๆ ว่าเขามีชีวิตไปเพื่ออะไร หากเขาได้ช่วยเหลือคนอื่น ในสิ่งที่ผมกำหนดขึ้น และเขายิ้มและพูดต่อ สิ่งที่ผมทำ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ผมรู้สึกชื่นใจ เวลาพ่อแม่พูดถึงงานของผม พ่อสามารถพูดแทนด้วยพลังที่เขาส่งมา มันเป็นความภูมิใจของเขา เขาภูมิใจที่จะพูดในสิ่งที่เขาทำ นั่นคือความสุขครับ”