posttoday

Q & A with Kru Pong : สัมภาษณ์ครูโป้ง-สรวิช เทภาสิต

15 ธันวาคม 2561

โดย: ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

โดย: ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com


โยคะสุตราสตูดิโอกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 เจี๊ยบจึงอยากทำสกู๊ปพิเศษพูดคุยกับคุณครูโยคะกันทุกเดือนและในเดือนนี้คุณครูโป้งจะมาตอบคำถามแบ่งปันเรื่องราวให้กับพวกเรากัน

ช่วยเล่าให้เราฟังว่ารู้จักโยคะได้อย่างไรและ “โยคะ” เปลี่ยนแปลงชีวิตครูอย่างไรบ้าง

ครูโป้ง : ถ้าจะบอกว่าได้เรียนรู้และเป็นครูโยคะได้เพราะ “เพื่อนเท” ย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นตัวโป้งเองนะไม่ได้รู้จักโยคะเลย สมัยนั้นทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในธุรกิจประเภทอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ ซึ่งถ้าใครเคยรู้จักงานประเภทนี้ จะเข้าใจได้เลยว่าเวลานอนนั้นแทบจะไม่มีวันหยุดพักนี่เรียกว่ายังหายาก

จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทที่เขาทำงานด้วยกันไม่สบายแอดมิทเข้าโรงพยาบาล คุณหมอได้ให้คำแนะนำเพื่อนโป้งว่าควรออกกำลังกายหรือหากิจกรรมอะไรก็ได้ทำบ้าง เพื่อที่สุขภาพจะได้ดีขึ้น ซึ่งก็ทำให้เพื่อนคนนี้เริ่มตระหนักได้ว่าควรหากิจกรรมอะไรทำ สุดท้ายก็พบว่ามีสตูดิโอโยคะแห่งหนึ่งเปิดอยู่แถวบ้าน และก็บังเอิญอยู่ในหมู่บ้านโป้งเอง และเขาก็วานให้พาไปสมัคร เอาจริงๆ นะตอนแรกก็คิดว่าแค่พาเพื่อนไปสมัครแค่นั้น เพราะแค่ทุกวันในช่วงนั้นเวลานอนยังแทบหาไม่ได้ แต่ใครหลายคนก็คงจะมีเพื่อนสนิทแบบที่ “ แก...ชั้นเล่นคนเดียวไม่ได้บ้านแกใกล้ แกสมัครเรียนเป็นเพื่อนฉันหน่อยสิ สักเดือนก็ยังดีและก็ตามมาด้วยคำต่อรองอีกต่างๆ นานา สุดท้ายก็เลยต้องสมัคร ประกอบกับวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดยาว 3 วัน ตัวโป้งเองก็ได้แต่คิดว่าเอาน่าถ้ามันแย่มากก็ยังมีวันพักเหลือ แต่สิ่งที่เราเองไม่รู้เลยก็คือวันรุ่งขึ้นถูก “เพื่อนเท” จนถึงทุกวันนี้เขาเองก็ยังไม่เคยฝึกโยคะเลย

Q & A with Kru Pong : สัมภาษณ์ครูโป้ง-สรวิช เทภาสิต

ส่วนตัวเราก็เริ่มฝึกเพราะความเสียดายตังค์ จำได้ขึ้นใจเลยเลยว่าครั้งแรกที่เดินเข้าไปในห้องฝึกมันเกร็งมาก เพราะมองไปรอบๆ เราเป็นผู้ชายคนเดียวในคลาส ส่วนคุณพี่ผู้หญิงคนข้างๆ ก็ค่อนข้างสูงวัย เราเองก็ได้แต่คิดว่าก็คงจะไม่หนักมากหรอกมั้ง แต่พอเริ่มคลาสเท่านั้นแหละ คุณพระ! ท่าพี่คนข้างๆ คือเป๊ะมาก จนคิดในใจว่าตายแน่วันนี้ ช่วงตอนฝึกคิดอย่างเดียวเลยว่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ด้วยความที่อดนอนมาตลอด และตั้งแต่ทำงานมาก็ไม่เคยออกกำลังกายอะไรเลย ความรู้สึกที่ได้คือเหนื่อยแทบขาดใจ ตึง และทรมานมาก

พอถึงช่วงสุดท้ายของคลาสตอนพักศพ ทุกอย่างที่รู้สึกในตอนที่ฝึกมันก็เปลี่ยนไปหมด สิ่งที่รู้สึกชอบที่สุดในขณะที่กำลังพักศพคือปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัวที่เราละความคิดออกจากมันไม่ได้ ที่อยู่ในหัวมันถูกหยุดไว้ชั่วขณะหนึ่งบนเสื่อโยคะผืนนั้น มันเป็นเวลาเดียวในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ในหัวเราพบกับความสงบ มีเวลาเงียบๆ อยู่กับตัวเองจริงๆ ระยะสั้นเป็นความรู้สึกที่ดีมากนั่นอาจเป็นเหตุผลข้อเดียวที่ยอมฝึกโยคะต่อ

ผ่านไปสัก 2-3 เดือน คลาสโยคะที่สมัครไว้ก็กำลังจะหมด ตัวเราเองรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเรียนโยคะว่าหลายๆ อย่างของร่างกายมันดีขึ้นมาก จากคนที่ไม่เคยดูแลอะไรตัวเองเลย ก็เลยสมัครเรียนต่อไปเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงนั้นงานอีเวนต์เริ่มลดลงด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาด้านการเมือง ก็เลยได้กลับบ้านเร็วขึ้นและมีเวลาฝึกมากขึ้น

Q & A with Kru Pong : สัมภาษณ์ครูโป้ง-สรวิช เทภาสิต

เวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปีก็มีความรู้สึกอยากจะพัฒนาการฝึกของตัวเองขึ้น จึงได้ขอคำแนะนำจากครู ท่านก็บอกว่าที่นี่
ส่วนใหญ่มีแต่นักเรียนสูงอายุ ถ้าอยากพัฒนามากกว่านี้อาจจะต้องหาที่เรียนที่อื่น โดยส่วนตัวก็ไม่ค่อยชอบทางเลือกนี้เท่าไร เพราะทุกเช้าตื่นขึ้นมาถ้าไม่รีบไปทำงานมากขับรถจากบ้านมาแค่ 5 นาทีก็ถึงที่เรียนแล้ว พอจบคลาสอาบน้ำไปทำงานต่อก็โอเคแล้ว

เราถามครูว่ามีแนวทางอื่นไหม ครูก็เลยบอกว่าถ้าพอมีเวลาว่างลองไปเรียนครูไหมที่ไหนก็ได้ ในใจเราเองก็คิดว่าคงไม่ไหวมั้ง ที่เข้าไปถามเพราะอยากหาวิธีแก้ปัญหาสุขภาพตัวเองเฉยๆ ท่ายากๆ ที่คนอื่นเขาทำกันก็ยังทำไม่ได้เลยแต่ครูกลับยกตัวอย่างว่า คนที่เขาเรียนทำอาหารมันก็ไม่จำเป็นว่าเขาต้องเป็นเชฟนี่นา ถ้าวันจะได้เป็นครูโยคะมันก็จะจัดสรรให้เองถึงจุดนี่ตัวโป้งเองต้องกราบขอบคุณครูกล้วย โยคะนมัสเต ที่เมืองเอก ที่ได้แนะนำและเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์คนนี้สุดท้ายพอเรียนครูจบ ครูกล้วยก็ได้ให้โอกาสไปฝึกสอนที่สตูของครู จริงๆ ก็ยังมีเรื่องเล่าอีกเยอะถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังเพิ่มครับ

คุณครูเคยมีประสบการณ์ที่ท้าทายเกี่ยวกับการสอน “โยคะ” บ้างไหมคะ ช่วยแชร์ให้เราฟังค่ะ

ครูโป้ง : โดยส่วนตัวโป้งคิดว่าผู้ฝึกโยคะทุกคนมีเงื่อนไขทางร่างกายและปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นในขณะที่สอนเราก็ต้องคอยสังเกตหรือสอบถามนักเรียนแต่ละคนว่าที่มาฝึกมีปัญหาร่างกายอย่างไรบ้าง เวลาฝึกรู้ยังไงพวกข้อสังเกตเหล่านี้แหละครับมันคือความท้าทายเสมอ เราเองพยายามที่จะแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเขา นักเรียนบางคนที่ไม่เคยเรียนมาก่อน บางครั้งแม้แต่ท่าพื้นฐานธรรมดาเขาก็ยังทำไม่ได้เลย เราเองก็ไม่อยากให้เขาท้อ สุดท้ายเราก็ต้องคอยแนะนำเขาว่าถ้าทำอันนี้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรหรอกลองทำแบบนี้แทนสิ มันจะใช้กล้ามเนื้อแบบเดียวกัน จนทุกวันนี้เรียกได้ว่าร่างกายของนักเรียนทุกคนเปรียบเสมือนครูของเรา

Q & A with Kru Pong : สัมภาษณ์ครูโป้ง-สรวิช เทภาสิต

ครูมีอะไรจะฝากถึงผู้ฝึกโยคะทุกคนบ้างไหมคะ

ครูโป้ง : ทุกวันนี้ผู้ที่ฝึกโยคะทุกคนมีทางเลือกค่อนข้างที่จะหลากหลาย ทั้งสายการฝึก ทั้งข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่ให้เราได้เรียนรู้อย่างมากมาย สิ่งสำคัญก็คือตัวเราเองควรจะกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาว่ามันส่งผลกับตัวเราอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเลือกฝึกโยคะแบบไหนก็ตาม อยากให้ลองศึกษาเรื่องอื่นๆ ของโยคะดูบ้าง ว่าจริงๆ แล้วโยคะก็เป็นศาสตร์ที่มีมายาวนาน แต่เท่าที่เห็นผู้ฝึกส่วนใหญ่ทุกวันนี้มักให้ความสำคัญกับการฝึกอาสนะมาก ในทางกลับกันก็ละเลยหลายสิ่งที่ดีไป ไม่ว่าจะเป็น
ปราณายามะ ยามะ นิยามะ ที่เป็นหลักการที่ผู้ที่ศึกษาสามารถปรับมาใช้กับวิถีชีวิตประจำวันได้ ซึ่งมันก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ฝึกเอง

จิตใจกับร่างกายมันต้องไปพร้อมกันเสมอ ปัจจัยทางด้านร่างกายของตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การตระหนักถึงไม่จะเป็นกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ความดันโลหิต เทียบกับอาสนะที่เราฝึกว่าควรทำแค่ไหน เหมาะกับตัวเราไหม ปัจจุบันนี้มีผู้ฝึกจำนวนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เท่าไร ซึ่งผลที่ตามมาคือมีผู้ฝึกบางส่วนได้รับอาการบาดเจ็บจากการฝึก สุดท้ายต้องลองกลับมาถามตัวเองดูว่าจุดมุ่งหมายของการฝึกของเราคืออะไร กำลังตามหาอะไรอยู่ ขอให้ฝึกกันอย่างมีความสุขครับ บุญรักษา นมัสเต

พบกับคลาสของครูโป้ง (สรวิช เทภาสิต)
ที่โยคะสุตราสตูดิโอ ได้ทุกคืนวันจันทร์ เวลา 20.15 กับคลาส Core Vinyasa และวันอังคารเวลา 17.45 กับคลาส Balance และเวลา 19.00 กับคลาส Core Vinyasa เช่นกันเต็มอิ่มในเวลา 90 นาทีค่ะ