posttoday

ปัญหา ‘อาคารเป็นพิษ’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ใครคิดว่าไม่สำคัญ!

15 ธันวาคม 2561

เรื่อง : รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ภาพ : Pixabay

เรื่อง : รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ภาพ : Pixabay


คุณผู้อ่านรู้จักปัญหา “อาคารเป็นพิษ” บ้างไหมครับ?

ปัญหานี้ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Sick Building Syndrome (SBS) เป็นภาวะที่ผู้อยู่อาศัยภายในอาคารเกิดอาการผิดปกติทางสุขภาพ เช่น ผิดปกติของทางเดินหายใจ แสบตา จมูก ลำคอ ผื่นตามผิวหนังและอาการที่อาจ
เกิดขึ้นได้คล้ายหวัด อย่างการปวดศีรษะ อ่อนล้า คลื่นไส้ ไอ จาม คัดจมูก ระคายเคืองตา เป็นต้น ซึ่งมักสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่อยู่ในอาคาร

อาการเหล่านี้เกิดจากการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ มลพิษภายในอากาศที่เกิดมาจากภายในอาคารเอง อย่างพวกสารเคมี สารระเหย กาวที่มาจากเฟอร์นิเจอร์ น้ำยาทำความสะอาด พวกเครื่องถ่ายเอกสาร หรือมลพิษที่เข้ามาสะสมจากภายนอกอาคาร อย่างไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่นละออง และมลพิษจากจุลินทรีย์ในอากาศ เช่น เชื้อรา ไรฝุ่น เป็นต้น

ว่ากันว่าปัญหาอาคารเป็นพิษนี้ได้รับการกล่าวถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกว่า 90% ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา มักใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ภายในอาคาร

ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน Shopping Malls และอาคารที่พักอาศัย จึงทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารเป็นสิ่งสำคัญซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยโดยตรง

จากการสำรวจของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (United State Environmental Protection-EPA) พบว่าระดับมลพิษทางอากาศภายในอาคารมีสูงกว่าภายนอกถึง 100 เท่า และคนหนึ่งคนหายใจเอาอากาศเข้าร่างกายถึง 3,000 แกลลอนในแต่ละวัน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยจากปัญหาอาคารเป็นพิษ?

การจะปลอดจากปัญหานี้ได้ เราต้องเริ่มต้นจากการลดมลพิษทางอากาศภายในอาคารเสียก่อน ซึ่งแนวทางในการลดปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องลดต้นเหตุของสารพิษ ตั้งแต่การเลือกวัสดุอาคารต่างๆ เข้ามาใช้ในการก่อสร้าง ต้องไม่ปล่อยสารไอระเหยออกมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศในอาคารมักเกิดในช่วงหลังจากที่มีการใช้งานอาคารนั้นๆ แล้ว ยิ่งคนมาก ปัญหายิ่งรุนแรง

ดังนั้น การบริหารจัดการและการให้ความรู้กับผู้อยู่อาศัยภายในอาคารจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดการบำรุงรักษาอาคารที่เหมาะสม เช่น การบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ โดยทำความสะอาดไส้กรองอากาศอยู่เป็นประจำทำความสะอาดพรมซึ่งเป็นที่ดักฝุ่น การเก็บสารระเหยอย่างมิดชิดไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท

รวมไปถึงการเลือกใช้น้ำยาและสารเคมีต่างๆ ที่จะนำเข้ามาใช้ในอาคาร เป็นต้น และควรเปิดหน้าต่างอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการสะสมมลพิษและเพื่อหมุนเวียนถ่ายเทอากาศเสีย และนำอากาศใหม่เข้ามาในพื้นที่ เพราะคุณภาพอากาศภายในอาคารมักแย่กว่านอกอาคารมาก

เราทุกคนควรคำนึงถึง โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคาร งานระบบอาคาร รวมไปถึงการวางแนวทางการบำรุงรักษาในอนาคต เนื่องจากปัญหาคุณภาพอากาศส่วนใหญ่จะเกิดเมื่อมีการใช้งานอาคารไปแล้ว หากไม่คำนึงถึงตั้งแต่ต้น อาจเป็นการยากต่อการเข้าไปแก้ไขปรับปรุง

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (ปี 2555) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลสำคัญว่า คนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมีอัตราป่วย 473.34 ต่อประชาชน 1,000 คน อีกทั้งยังทำให้เสี่ยงต่อปัญหาอาคารเป็นพิษ ที่มีการสูดดมฝุ่นละออง สารระเหย และผงหมึกเข้าไป

และเมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ก็ได้เผยข้อมูลสำคัญในการประชุมมหกรรมสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ (NCDs Forum 2018) ว่า โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง คือหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีถึง 75% หรือประมาณ 3.2 แสนคน/ปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน

เป็นอย่างนี้แล้ว เราทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาอาคารเป็นพิษ และร่วมด้วยช่วยกันทำให้เกิดปัญหานี้ที่ต้นทางให้น้อยที่สุด และหากเกิดขึ้นก็ควรรีบแก้ไขโดยทันที

ในศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่เปิดให้ทุกคนเข้าศึกษาได้ ก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นเดียวกัน ที่นี่เป็นศูนย์วิจัยที่ให้ความสำคัญและทำงานวิจัยด้าน Indoor Air Quality อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์มีการออกแบบและติดตั้งระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) เพื่อควบคุมระบบต่างๆ โดยเฉพาะ Indoor Air Monitoring and Control System มีการตรวจจับและแสดงผลคุณภาพอากาศภายในศูนย์

ในแต่ละพื้นที่ศูนย์ได้มีการติดเซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศภายในอย่างละเอียด และแสดงผลในแต่ละพื้นที่ เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ใช้งาน นำข้อมูลมาศึกษาและเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะ

รวมทั้งเรื่อง Indoor Air Quality ที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร และประสิทธิภาพการทำงานที่ดีภายในอาคารแก่สาธารณชน

ดีกว่าไหม หากบ้านในฝัน หรือออฟฟิศแห่งอนาคต จะเป็นที่ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องของการถ่ายเทอากาศที่ดี และมีคุณภาพของอากาศภายในอาคาร ทำให้ในแต่ละวันที่เราใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ได้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด ไร้สารพิษปนเปื้อน และไม่ทำให้เราต้องกลายเป็นมนุษย์ที่มีแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาอาคารเป็นพิษ!