posttoday

มิสยูนิเวิร์สปีนี้ ใครจะมง?

08 ธันวาคม 2561

หากพูดถึงการประกวดมิสยูนิเวิร์สในทุกยุคทุกสมัย

โดย ธนะโรจน์ สิทธาธีระวัฒน์ ภาพ : อภิชิต จินากุล

หากพูดถึงการประกวดมิสยูนิเวิร์สในทุกยุคทุกสมัย คงหนีไม่พ้นการตั้งคำถามว่า ใครจะได้เป็นผู้ครอบครองมงกุฎในปีนั้นๆ ซึ่งในทุกๆ ปีก็จะมีการเก็งตัวเต็งกันไปต่างๆ นานา

ถามว่าการเก็งตัวเต็งที่ทรงอิทธิพลที่สุด คงหนีไม่พ้นการเก็งตัวเต็งจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ที่ว่ากันตามหลักจิตวิทยาแล้ว คนเรามักจะคล้อยตามบุคคลผู้มีความน่าเชื่อถือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ซึ่งหนังสือพิมพ์คือภาพสะท้อนของสิ่งเหล่านั้น จนทำให้เราเกิดการคล้อยตามได้แทบจะทันที เมื่อหนังสือพิมพ์ได้เผยแพร่ข่าวตัวเต็งในการประกวดในแต่ละปีออกมา

แต่คนที่จะคล้อยตามจนอาจส่งผลให้คนที่เป็นตัวเต็งคว้ามงกุฎไปครองได้ในที่สุด อาจจะไม่ใช่เราคนดูทั่วไป แต่คือคณะกรรมการที่ก่อนเขาจะไปตัดสินใคร เขาต้องทำการบ้านมาแล้วประมาณหนึ่ง ซึ่งการเก็งตัวเต็งของสื่อมวลชน ก็ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของพวกเขานั่นเอง

นักการตลาดเชิงกลยุทธ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“มนุษย์จะดูสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของตนเอง ดังนั้นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติ จะมีผลต่อพฤติกรรมของคนอื่นๆ ด้วย ลองนึกถึงเวลาเราขับรถไปต่างจังหวัด แล้วมักจะมีของดีประจำจังหวัดขายอยู่ข้างทาง โดยทุกร้านมักจะขายเหมือนๆ กัน แล้วร้านไหนที่เราจะแวะซื้อ หนึ่งในนั้นคือร้านที่มีคนเยอะๆ หรือทำไมเวลาเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง แล้วมีป้ายว่าสินค้าขายดี เราจึงรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ”

หากลองคิดตามคำกล่าวของนักการตลาดเชิงกลยุทธ์ท่านนี้ เราจะเห็นว่าอิทธิพลของคนส่วนใหญ่ที่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ เริ่มมาจากการที่นักข่าวจากหลายๆ สำนักได้เก็งตัวเต็งลงผ่านสื่อ และการได้มาซึ่งตัวเต็ง ก็มาจากนักข่าวด้วยกันเองคล้อยตามนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญมากกว่า จนส่งผลให้สื่อหลายๆ สำนักมีโผตัวเต็งไปในทิศทางเดียวกัน

ทีนี้พอคนอ่าน คนดู คนฟัง ได้เสพข่าวจากสื่อหลายๆ สำนักในเวลาไล่เลี่ยกัน มันก็เหมือนการได้รับการตอกย้ำว่าคนนี้คือตัวเต็ง คนนั้นคือตัวเต็ง โผของคนที่เป็นตัวเต็ง ก็จะกลายเป็นกระทู้สนทนาของสังคม จนกลายเป็น Talk Of The Town ไปในที่สุด

เมื่อตัวเต็งที่ถูกทำให้เป็น Talk Of The Town กลายเป็นกระแสข่าวในวงกว้าง เธอผู้นั้นย่อมได้รับการจับตามองจากกรรมการมากกว่าคนอื่นๆ เป็นพิเศษ เหมือนเธอผู้นั้นได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจกรรมการไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการได้นั่งอยู่ในใจหรืออยู่ในห้วงความคิดของกรรมการนั้น ย่อมมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะทำให้กรรมการจรดปากกาเลือกเธอผู้นั้นมาครอบครองมงกุฎ

เห็นมั้ยว่าการทำให้เกิดเสียงส่วนใหญ่จากคนส่วนใหญ่ มันมีพลังทำให้คนตัดสินใจเลือกซื้อ หรือเลือกใครมาเป็นอะไรก็ได้มากมายมหาศาลเลยทีเดียว

ยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลมาแรง ยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงพลังของเสียงส่วนใหญ่จากคนส่วนใหญ่นี้มากถึงมากที่สุด รวมไปถึงการสร้างตัวเต็งขึ้นมาให้เป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งการสร้างตัวเต็งขึ้นมานั้น มันไม่ได้สร้างมาจากสื่อมวลชนอีกต่อไปแล้ว

เดี๋ยวนี้พี่เลี้ยงนางงามก็สามารถสร้างนางงามในสังกัดของตัวเองให้กลายเป็นตัวเต็งได้ โดยสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีองค์ความรู้ และสะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ รวมทั้งใช้สื่อโซเชียลทุกช่องทางเป็นเวทีประโคมคอนเทนต์เหล่านั้น

ยกตัวอย่าง พี่เลี้ยงของนางงาม A อาจจะสร้างแอ็กเคานต์เฟซบุ๊กมาสัก 100 แอ็กเคานต์ โดยให้ตนอวตารเป็น 100 ร่าง แล้วสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับตัวนางงามในหลากหลายรูปแบบ ที่จะทำให้น่าคล้อยตามว่า นางงามคนนี้คือคนที่เหมาะสมที่สุดแบบไร้ที่ติ อะไรที่ถูกย้ำซ้ำมากเข้าๆ ก็สามารถทำให้คนอื่นๆ คล้อยตามได้โดยง่าย

เมื่อคนอื่นๆ คล้อยตามว่านางงามคนนี้คือตัวเต็ง นักข่าวจากสื่อหลายๆ สำนัก ก็เอาโผตัวเต็งในสื่อโซเชียลนี้ไปกระพือข่าวลงในสื่อของตนเข้าไปอีก และหลังจากนั้นคนทั่วไปก็จะคล้อยตามนักข่าว จนกลายเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ที่ไปกระทบใจท่านคณะกรรมการ จนทำให้ต้องจับตามองตัวเต็งนั้นๆ และอาจเลือกให้เธอคนนั้นคว้ามง (กุฎ) ไปในที่สุด

สิ่งที่อยากบอกก็คือ ทุกโผของตัวเต็ง หรือทุกๆ การเก็งตัวเต็งขึ้นมา มันไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นมาแบบใสๆ ไม่มีนอกมีในอะไรทั้งนั้น แต่มันถูกสร้างขึ้นมาแบบมีเงื่อนไขหรือมีอะไรแอบแฝง

การสร้างตัวเต็งขึ้นมาก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเพื่อผลประโยชน์ของพี่เลี้ยงของนางงาม ของสปอนเซอร์ ของเจ้าของเวที หรือของผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการประกวดนั้นๆ มันคือสิ่งที่จะช่วยย้ำเตือนให้แฟนนางงามทั้งหลายได้มองให้แตกฉานว่า การจะเชื่อหรือ
คล้อยตามการทำนายว่าใครจะได้ครองมงกุฎมันไม่อาจคล้อยตามได้แบบใสๆ อีกต่อไปแล้ว

แต่มันต้องเริ่มต้นจากการที่เราหัดดูที่บริบทเวทีว่า เขาต้องการนางงามในลักษณะไหน เช่น มิสยูนิเวิร์สต้องการนางงามที่ Confidently Beautiful เราก็ต้องมาวิเคราะห์ต่อว่า อะไรคือส่วนประกอบในคำนิยามคำนี้ แล้วถึงมาไล่เรียงว่านางงามคนไหนมีส่วนประกอบตามที่วิเคราะห์มามากถึงมากที่สุด และเอานางงามเหล่านั้นมาไล่เรียงเปรียบเทียบกันว่าใครถูกต้องตามความต้องการของเวทีการประกวดนั้นๆ มากกว่ากัน คนนั้นก็จะได้กลายเป็นตัวเต็งที่น่าคล้อยตาม

และถ้าทุกสื่อสามารถใช้หลักการนี้ไปเก็งตัวเต็ง ซึ่งเป็นการเก็งที่สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปของการเก็งตัวเต็งนั้นๆ มาได้อย่างแจ่มแจ้ง เชื่อเถอะว่าการเก็งตัวเต็งของสื่อนั้นๆ จะน่าเชื่อถือและน่าคล้อยตามมากถึงมากที่สุด และมันจะพิสูจน์ให้เราได้เห็นว่าการเก็งตัวเต็งที่ใสสะอาดมากที่สุด แบบไม่มีนอกมีใน มันยังมีอยู่จริง!