posttoday

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร ‘แบ่งให้น้องอิ่ม... กอดให้น้องอุ่น’

08 ธันวาคม 2561

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร หรือ “ยูอิ” ผู้ก่อตั้งบริษัท มิสซะระดะ ฟู้ดส์ โปรดักส์

โดย แมงโก้หวาน  

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร หรือ “ยูอิ” ผู้ก่อตั้งบริษัท มิสซะระดะ ฟู้ดส์ โปรดักส์ เจ้าของธุรกิจสลัดแบรนด์ “มิสซะระดะ” (Ms.Sarada) และร้านสลัด “มิสซะระดะ สลัดคาเฟ่” (Ms.Sarada Salad Cafe) อยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก นอกจากรูปลักษณ์หน้าตาสวย ผิวพรรณดี จิตใจยังงดงามอีกด้วย

ยูอิได้จัดโครงการ “แบ่งให้น้องอิ่ม...กอดให้น้องอุ่น” เพื่อต้องการแบ่งปันน้ำใจให้กับน้องๆ นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมลำบาก ไม่มีไฟฟ้า และไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐและสังคม ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้เป็นเด็กชาวเขา ครอบครัวยากจน

“โครงการจัดมาแล้ว 2 ครั้งค่ะ ครั้งแรกยูอิทำกับครอบครัวด้วยเงินไม่กี่พันบาท ไปที่โรงเรียนใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ครั้งที่ 2 ก็ไปทำที่โรงเรียนใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เช่นกัน ซึ่งครั้งที่ 2 นี้เป็นความตั้งใจอยากชวนผู้ใหญ่ใจดีให้มาร่วมบุญกัน ก็ประกาศลงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏมีเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ใจดีบริจาคร่วมบุญมาเยอะทั้งเงินและสิ่งของ และมีหลายคนก็ร่วมเดินทางไปด้วย

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร ‘แบ่งให้น้องอิ่ม... กอดให้น้องอุ่น’

ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 3 เรานำน้ำใจไปมอบให้กับเด็กๆ ที่ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ที่อยู่บนดอยและห่างไกลเมืองจริงๆ ว่ากันว่าการเดินทางจากข้างล่างเพื่อขึ้นไปที่ ศศช.บ้านห้วยปูหลวงนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง และคณะของเรากว่าไปจะไปถึงก็เวลา 16.00 น. เนื่องจากรถเสียกลางทาง

ที่นี่มีนักเรียนประมาณ 80 คน มีทั้งเด็กประถมกับมัธยมคละกัน แต่มีครูอยู่สองท่านทำหน้าที่แม่พิมพ์ด้วยจิตใจที่สูงส่ง มีจิตวิญญาณของความเป็นครูเต็มเปี่ยม นับเป็นบุคคลที่หาได้ยาก จากการที่ได้พูดคุยกับท่าน ยิ่งศรัทธาในจิตใจที่เสียสละของครู ท่านว่าชั่วโมงนี้สอน ป.1 ชั่วโมงถัดไปสอน ป.2 ป.3 ป.4 ป.5 ป.6 ม.1 ม.2 ม.3

ไหนจะต้องทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กอีก ยิ่งกว่านั้นบางครั้งก็ต้องควักทุนจากเงินเดือนตัวเองมาซื้อของโน่นนี่นั่น บอกได้เลยว่าอยู่ที่นี่ชีวิตไม่ได้สะดวกสบาย แต่คุณครูมีความสุขมากค่ะ”

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร ‘แบ่งให้น้องอิ่ม... กอดให้น้องอุ่น’

ยูอิ เล่าว่า สิ่งที่นำไปมอบให้นักเรียนและโรงเรียน ได้แก่ อุปกรณ์การเรียน เช่น สมุด ดินสอ ปากกา สี ยารักษาโรค อาหารแห้งสำหรับประกอบอาหารกลางวัน อาหารสำเร็จรูป นมกล่อง ขนมที่เก็บไว้กินได้นาน เมล็ดพันธุ์ในการปลูก เสื่อน้ำมัน ตู้ใส่หนังสือ โน้ตบุ๊ก เสื่อน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งได้ทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงเด็กๆ ครูและผู้ที่มาร่วมงาน

“ของทุกอย่างที่เรานำไปประมาณ 4-5 คันรถปิกอัพล้วนแล้วเป็นของที่จำเป็นสำหรับโรงเรียนและเด็กๆ บางอย่างโรงเรียนขาดแคลนและอยากได้ เช่น อุปกรณ์การเรียน เสื่อน้ำมัน ตู้ใส่หนังสือ และโน้ตบุ๊ก โดยโน้ตบุ๊กนั้นทางคุณครูบอกว่าอยากให้นักเรียนได้ฝึกพิมพ์และเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ เพราะต่อไปบางคนพอเรียนจบ ม.3 ไปเรียนรู้ต่อที่อื่นจะได้ใช้เป็น

ของอื่นๆ เช่น ของเล่น ขนม ก๋วยเตี๋ยว ก็อยากให้น้องได้เล่นและมีความสุขกับการกิน จัดให้ตามเสียงเรียกร้อง อิ่มอร่อยทุกคน ส่วนอาหารแห้ง ยารักษาโรค ก็มองว่าเป็นความจำเป็น อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปเอาไว้ให้ทำอาหารกลางวัน ยารักษาโรคไว้ใช้ตอนที่นักเรียนป่วยไม่สบาย”

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร ‘แบ่งให้น้องอิ่ม... กอดให้น้องอุ่น’

ยูอิ เล่าว่าสิ่งของต่างๆ ขนมและอาหารที่นำมามอบให้โรงเรียนในครั้งนี้ มีผู้ใหญ่ใจดีมากมายบริจาคมา บางคนบริจาคเป็นเงิน เราก็เอาไปซื้อของที่จำเป็นและที่โรงเรียนต้องการตามที่กล่าวมาข้างต้น บางคนนอกจากบริจาคของแล้วยังนำรถมาช่วยขนของร่วมคณะไปที่โรงเรียนด้วย

“ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคนที่ได้ร่วมบุญครั้งนี้ด้วยนะคะ งานนี้แม้ว่าจะเหนื่อยในการจัดเตรียมความพร้อมทุกอย่างและการเดินทาง แต่พอไปเห็นหน้าน้องๆ ที่มารอรับตั้งแต่ก่อนเที่ยง ตามกำหนดการคณะเราต้องไปถึงบ่ายโมง แต่ไปถึงจริง 4 โมงเนื่องจากรถเสียน้องก็ยังรอเราอยู่

พอไปถึงเสียงดีใจของน้องๆ ทำให้ทุกคนที่ไปกันประมาณ 20 คน มีพลังใจและมีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มสดใสของเด็กๆ ทุกคนได้รับของเล่น ได้กินก๋วยเตี๋ยว ได้รับแจกขนม ขณะที่คณะเราเองก็มีความสุขกับการต้อนรับของน้องๆ และคุณครูอย่างอบอุ่นด้วยเสียงเพลงซึ้งๆ ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงโรงเรียนของพวกเขาให้พวกเราได้รู้”

ชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร ‘แบ่งให้น้องอิ่ม... กอดให้น้องอุ่น’

เธอเล่าที่มาของการทำโครงการว่าเริ่มจากตอนที่ทำธุรกิจสลัดเมื่อปี 2559 ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าถ้าวันหนึ่งธุรกิจไปได้ดี ก็อยากจะแบ่งปันสิ่งที่มีเท่าที่จะทำได้และให้แก่คนอื่นและจะทำต่อไป

“ช่วงทำธุรกิจแรกๆ ก็เจออุปสรรคเหมือนกันค่ะ แต่ก็มีคนช่วยเหลือและผ่านมาได้ ดังนั้นยูอิเข้าใจความรู้สึกของการเป็นผู้รับเป็นอย่างดี ยูอิจึงอยากเป็นผู้ให้บ้าง เวลานี้ธุรกิจดีขึ้นลูกค้าตอบรับดีสนใจแฟรนไชส์มากขึ้น ล่าสุดเราก็เปิดโรงงานเล็กๆ ที่เครื่องมือทันสมัยขึ้น พื้นที่กว้างขวางขึ้นสำหรับการผลิตและเก็บสินค้า เช่น น้ำสลัด น้ำสต๊อก ผักสลัด เป็นต้น”

สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ นี้ของยูอิได้ที่เฟซบุ๊ก “ชื่อ ยูอิ ชญานันท์” ส่วนถ้าอยากทำธุรกิจกับเธอสามารถเข้าไปดูได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Ms.sarada foods หรือที่เว็บไซต์ www.mssaradafoods.com