posttoday

‘ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง’ นิยามคนยุคนี้

03 ธันวาคม 2561

สังคมสมัยใหม่ขับเคลื่อนด้วยกระแสการบริโภคที่ล้นเกิน

เรื่อง ภาดนุ ภาพ บารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ

สังคมสมัยใหม่ขับเคลื่อนด้วยกระแสการบริโภคที่ล้นเกิน หลายคนซื้อของแล้วไม่ได้ใช้หรือใช้เพียงไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง ทั้งๆ ที่สิ่งของชิ้นนั้นยังมีอายุการใช้งานได้อีก

เมื่อเป็นเช่นนี้กรีนพีซจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น โดยจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป Make SMTHNG Week ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ซื้อให้น้อยลง แล้วหันมาซ่อมแซม หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่มากขึ้น พร้อมทั้งชักชวนกลุ่มคนที่ชาวโซเชียลมีเดียให้ความสนใจและติดตาม มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Shopless Society ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองใหม่ๆ ที่นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว เรายังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

‘ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง’ นิยามคนยุคนี้

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก : ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ซึ่งมีแฟนคลับติดตามมากมาย ให้ความเห็นในเรื่องการลดใช้ทรัพยากรที่ล้นเกินไว้อย่างน่าฟัง

“ด้วยความที่ครอบครัวผมทำธุรกิจรับซื้อของเก่าอยู่แล้ว งานหลักของเราก็คือการแยกสิ่งของหลายๆ อย่างที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพื่อนำไปผลิตเป็นวัสดุที่นำมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สักเท่าไร ดูได้จากการทิ้งขยะในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยใส่ใจแยกประเภทขยะตอนทิ้งกันมากนัก ทำให้ขยะที่ควรจะได้รับการรีไซเคิลได้ ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายที่ควรจะเป็น ดังนั้น ผมจึงมีไอเดียในการทำแฟนเพจขึ้นมา โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นเรื่องที่ตลกๆ และกวนๆ หน่อย เพราะคนทั่วไปจะไม่ชอบเรื่องที่ซีเรียสมากนัก

ก่อนอื่นผมขออธิบายคำสองคำที่ลงไว้ในเพจ นั่นคือคำว่า ‘รีไซเคิล’ กับ ‘อัพไซเคิล’ ซึ่งสองคำนี้ต่างกัน การรีไซเคิลคือการนำวัสดุนั้นๆ ไปผ่านกระบวนการหมุนเวียนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ขวดน้ำดื่ม ที่เราสามารถนำไปทำเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อทำเสื้อผ้าได้ ส่วนการอัพไซเคิลคือการนำวัสดุที่หมดคุณค่าแล้วไปผ่านกระบวนการทำให้เป็นวัสดุชนิดใหม่ที่ใช้ประโยชน์แตกต่างออกไปและใช้ได้จริง ซึ่งทั้งสองคำนี้คือดีทั้งคู่ เพราะสามารถยืดการใช้ประโยชน์วัสดุบางอย่างให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง แต่ทั้งสองกระบวนการนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ถ้าจะให้ดีเราควรลดการใช้ให้น้อยลง อันไหนสามารถซ่อมแซมหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ควรทำ”

เปรมบอกว่า แม้ปัญหาขยะจะเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวก็จริง แต่ถ้าเราเปลี่ยนความคิดซะใหม่ว่า เราจะไม่เรียกของที่เราไม่ใช้แล้วว่าขยะ วัสดุชิ้นไหนถ้าเราสามารถนำกลับมาปรับใช้ให้เป็นสิ่งของอื่นๆ ได้อีกครั้ง เราก็ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

“ในมุมมองของผม เวลาซื้อของสักอย่างมาใช้ ผมจะคำนึงถึงการใช้งานเป็นสำคัญ ว่าต้องทนทาน สามารถใช้ได้นาน ส่วนราคาแม้จะแพง แต่ถ้าเราซื้อมาใช้แล้วคุ้มผมก็ซื้อ แต่ผมจะไม่ค่อยซื้อของที่ทำจากพลาสติกคุณภาพต่ำ เนื่องจากเมื่อพังแล้ว มันจะไม่สามารถนำกลับไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ ซึ่งถ้าทุกคนคำนึงถึงเรื่องนี้โดยเริ่มจากตัวเองก่อน ผมว่าน่าจะมีส่วนช่วยลดการบริโภคล้นเกิน หรือช่วยประหยัดทรัพยากรของโลกได้แน่นอน”

‘ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง’ นิยามคนยุคนี้

ด้าน ลีฬภัทร กสานติกุล บก.บห.นิตยสาร My Home ก็ได้ให้แง่คิดในเรื่องการสร้างคุณค่าของสิ่งของเก่าๆ หรือการ D.I.Y.ให้ของเก่ามีความเก๋ไก๋และสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุก และเชื่อว่าทุกคนสามารถที่จะทำได้

“อย่างที่ทราบกันดีว่า นิตยสารและรายการทีวีที่ชื่อ My Home ของเราจะเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่เวลาพูดถึงการแต่งบ้าน ก็มักจะนึกถึงการจับจ่ายเงินเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งอื่นๆ มาทั้งหมด แต่คอนเซ็ปต์หลักของเราจะเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่มีการ D.I.Y. สิ่งของเก่าๆ ภายในบ้านให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้ง

ที่ผ่านมาเราเคยมีประสบการณ์ในการดีไอวายบ้านหลังหนึ่งที่ผ่านวิกฤตน้ำท่วมมาแล้ว ตอนนั้นเราต้องมานั่งสำรวจดูว่ามีของชิ้นไหนที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้บ้าง หรือถ้าของสิ่งนั้นไม่สามารถใช้ได้ เรามีไอเดียอะไรที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นสิ่งใหม่แล้วนำกลับมาใช้งานได้บ้าง นี่ถือเป็นแนวทางของเราเลยที่จะต้อง Reuse, Reduce, Repair และ Upcycle เราจึงสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาว่า เราต้องสามารถแปลงร่างของทุกอย่างที่มี ให้กลายเป็นของชิ้นใหม่ที่กิ๊บเก๋และใช้งานได้จริง ฉะนั้นเราก็ต้องมีทีมงานที่ช่วยต่อยอดไอเดียให้เราทำสิ่งใหม่ๆ ออกมาได้ ซึ่งก็ได้ น้องอร (อรพรรณ วัจนะเสถียรกุล) เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ไอเดียดีๆ ให้กับทีมของเรา”

‘ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง’ นิยามคนยุคนี้

อรพรรณ วัจนะเสถียรกุล สาวเก่งผู้มีไอเดียบรรเจิดในการดีไอวาย เล่าว่า ด้วยความที่เธอเป็นคนชอบจินตนาการว่า วัสดุที่มีอยู่นั้น ถ้าไม่มีสภาพเหมือนอย่างที่มันเป็นอยู่ มันจะเป็นอะไรได้บ้าง เมื่อคิดได้แบบนั้นก็เกิดความรู้สึกท้าทายขึ้น เธอจึงเริ่มค้นคว้าหาไอเดียที่แปลกใหม่ว่า ของชิ้นหนึ่งนั้นจะสามารถนำไปเปลี่ยนรูปร่างให้กลายเป็นอะไรได้บ้าง

“ช่วงแรกๆ ที่เกิดไอเดีย อรก็ลองผิดลองถูกอยู่นาน โดยไม่เคยปิดกั้นความคิดของตัวเองเลยว่า ของชิ้นเดียวเราจะสามารถทำเป็นของใหม่ๆ ที่มีหน้าที่ในการใช้งานใหม่ๆ ได้หรือไม่ เพราะเมื่อลองคิดและทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดความสนุก แถมยังต่อยอดไอเดียไปได้เรื่อยๆ เช่น นำลังพลาสติกใส่ผลไม้ที่มีวัสดุค่อนข้างหนาและทนทานมาทำเป็นโต๊ะปิกนิกที่สามารถนั่งได้ โดยติดฝาที่เป็นไม้อัดเข้าไปให้พอดี แล้วนำมาพ่นสี ติดสายโซ่เล็กๆ เอาไว้ดึงให้ฝาเปิดได้เวลาต้องการจะเก็บสิ่งของอื่นๆ ลงไป ซึ่งถือว่าเป็นโต๊ะปิกนิกอเนกประสงค์ที่ราคาถูกและทนทานมาก จึงถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทให้กับลังใส่ผลไม้ไปด้วยในตัว

ของชิ้นต่อมาจะเป็นกระเป๋าสะพายของผู้หญิง ขนาดกำลังพอดีที่ทำจากพรมเช็ดเท้า (ของใหม่) ซึ่งเราเปลี่ยนหน้าที่ของมันให้เป็นกระเป๋าใส่ของจุกจิก โดยตัดเย็บและเพิ่มสายสะพายเข้าไป จึงถือเป็นการเพิ่มมูลค่าและฟังก์ชั่นในการใช้งานใหม่ๆ ได้ ตามมาด้วยเขียงไม้สี่เหลี่ยม เราก็เปลี่ยนหน้าที่ของมันให้กลายมาเป็นที่เก็บด้ายหรือไหมพรม โดยนำไม้หนีบผ้าเล็กๆ มาเป็นที่พันด้าย แล้วตอกหมุดสำหรับติดไม้หนีบเรียงไปให้ทั่วแผ่นเขียงไม้ แค่นี้ก็กลายเป็นของใช้งานและของตกแต่งบ้านไปพร้อมกันในชิ้นเดียวแล้ว

จากข้อมูลที่คนยุคนี้มักมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบการซ่อมแซมเสื้อผ้าหรือของใช้บางอย่างที่สามารถซ่อมได้ แล้วนำมาใช้ซ้ำ จึงทำให้ของที่พวกเขาไม่ต้องการกลายเป็นขยะจากการบริโภคล้นเกินโดยไม่จำเป็นมากมาย ฉะนั้นอรจึงเห็นด้วยกับคำพูดของคุณเปรมที่ว่า ‘อย่ามองว่ามันเป็นแค่ขยะเท่านั้น แต่ให้เราเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานของมันซะใหม่แทน’ ซึ่งถ้าคุณสามารถทำได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง”

อรทิ้งท้ายว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับไอเดียในการคิดและสร้างสรรค์ของแต่ละคนเป็นสำคัญ ไม่มีไอเดียไหนผิดหรือถูก ขอแค่ทุกคนลงมือทำเท่านั้น ก็ถือว่าได้เริ่มช่วยลดสิ่งของเหลือใช้จากการบริโภคเกินได้แล้วล่ะ

สำหรับ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการ Make SMTHNG Week 2018 จากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การรณรงค์ลดการใช้ทรัพยากร ลดการทิ้งขยะ และอื่นๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งที่อาจจะมีส่วนช่วยได้บ้าง

“สิ่งสำคัญจริงๆ ในการลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือยลง กลุ่มแรกเลยดิฉันคิดว่าคือ ผู้บริโภค หากผู้บริโภคช่วยกันคนละไม้คนละมือตั้งแต่ต้นทาง เช่น ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกประเภทขวดน้ำ หรือหลอดดูดน้ำให้น้อยลง ด้วยการพกหลอดกระดาษหรือหลอดไม้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือยได้

‘ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง’ นิยามคนยุคนี้

กลุ่มที่สองคือ ผู้ผลิตสินค้า ซึ่งในยุคนี้จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แพ็กเกจจิ้งของสินค้าตัวเองมีนวัตกรรมที่ดีมากขึ้น โดยการที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นจะต้องช่วยกันสะท้อนความคิดนี้ไปยังผู้ผลิตให้ได้มากที่สุด ด้วยการรณรงค์งดใช้ หรือส่งข้อมูลถึงบริษัทผู้ผลิต ซึ่งดิฉันเชื่อว่าพลังของผู้บริโภคนั้นสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายรายก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ขวดเครื่องดื่มหรือซองบรรจุขนมของแบรนด์เขาจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์พร้อม 100% ในปี 2020 ที่จะถึงนี้

แต่กระนั้นเราก็ยังมองว่า ปัจจุบันขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้นั้น ที่จริงมันเข้าไปอยู่ในระบบรีไซเคิลได้แค่ 9% เท่านั้น ยังมีขยะจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจริงๆ อีกมหาศาล ซึ่งทั้งหมดนี้ต้นทางมันอยู่ที่ผู้ผลิต ว่าจะทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ตัวเองย่อยสลายได้โดยไม่ก่อมลภาวะหรือส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ผู้ผลิตก็ต้องหาทางพัฒนานวัตกรรมของตัวเองให้ทันโลกต่อไป

ส่วนที่สามคือ ภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่เป็นผู้ออกกฎหมาย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ควบคุม ผลักดัน จูงใจหรือกระตุ้นให้ผู้ผลิตกล้าที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น โดยอาจจะลดหย่อนในเรื่องการเสียภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตที่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการหันหน้าเข้ามาคุยกันและช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

พิชามญชุ์ ทิ้งท้ายว่า คนทั่วไปก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยอาจจะพกขวดน้ำชนิดที่สามารถเติมน้ำหรือนำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรืออาจจะลองประดิษฐ์สิ่งของบางอย่างใช้เอง หรือนำของบางอย่างกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของทุกคน ว่าต้องค้นหาไอเดียดีๆ แล้วลงมือทำให้นำมาใช้ได้จริง ถ้าทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน จากหลักพัน เป็นหลักแสน และหลักล้านคน เชื่อว่าก็น่าจะช่วยลดการบริโภคที่ล้นเกินให้น้อยลงหรือหมดไปได้