posttoday

แฟชั่นจากขยะพลาสติก เพื่อทะเลไทย

01 ธันวาคม 2561

ขวด ถุงพลาสติก ถูกทิ้งไร้ค่า เก็บมาจากชายหาดและในทะเลบริเวณเกาะเสม็ดและภูเก็ต

โดย ปอย  

ขวด ถุงพลาสติก ถูกทิ้งไร้ค่า เก็บมาจากชายหาดและในทะเลบริเวณเกาะเสม็ดและภูเก็ต ถูกเก็บขึ้นมาปริมาณมากถึง 20 ตัน จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและอาสาสมัครนักดำน้ำ ที่อาสาร่วมโครงการ “Upcycling the Oceans, Thailand” ช่วยกันเก็บจนได้ขยะพลาสติกในช่วงเวลา 20 เดือน

จากนั้นนำมาคืนชีวิตเป็นวัตถุดิบผสานกับการ Upcycling ใส่ความคิดสร้างสรรค์และความตั้งใจจนสามารถแปลงร่างขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เปิดตัวในชื่อ “Thailand Collection” มีทั้งเสื้อยืดและกระเป๋าเป้ทำจากขยะขวดพลาสติก PET และกระเป๋าถือผลิตจากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน

โครงการ “Upcycling the Oceans, Thailand” ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560 โดย พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ร่วมรณรงค์การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

ตามแนวคิด “Circular Living...ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก” เดินหน้าสร้างมิติใหม่ในวงการอุตสาหกรรมไทย สร้างต้นแบบการอัพไซเคิลจากขยะขวดพลาสติก เพื่อให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการใช้สินค้ารีไซเคิลคุณภาพดีในราคาที่ซื้อหาได้ พร้อมวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว ในงาน Circular Living Festival นำรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

แฟชั่นจากขยะพลาสติก เพื่อทะเลไทย

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สินค้ารีไซเคิลคุณภาพดีไม่ต่างจากสินค้าแฟชั่นอื่นๆ ในราคาที่ซื้อหาได้ และเหมาะสำหรับเป็นของขวัญปีใหม่ที่มีคุณค่า การเปิดตัว Thailand Collection มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทย หันมาใช้ชีวิตแบบ Circular Living...ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าสูงสุด เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนทะเลไทยให้สวยงาม และยั่งยืนสู่คนรุ่นหลังต่อไปได้

เสื้อผ้าและกระเป๋าเป้ใช้กระบวนการอัพไซเคิลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง แปลงร่างขยะขวดพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 การเก็บและคัดแยกขยะพลาสติก ขั้นตอนที่ 2 นำขวดมาตัดเป็นชิ้นแล้วนำไปปั่นเป็นเส้นใย ขั้นตอนที่ 3 ปั่นเป็นเส้นด้าย ขั้นตอนที่ 4 นำเส้นด้ายมาทอเป็นผืนผ้า และขั้นตอนที่ 5 ออกแบบตัดเย็บจนเป็นเสื้อหรือกระเป๋าเป้ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและยาวนานจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

Thailand Collection ประกอบด้วย เสื้อยืดที่ทำจากขวดพลาสติกใส 14 ขวดขนาดสำหรับเด็ก ไซส์ S-XXL ราคา 249 บาท และผู้ใหญ่ ไซส์ S-XXXL ราคา 299 บาท มีทั้งหมด 3 ดีไซน์

ดีไซน์ที่ 1 Upcycling the Oceans, Thailand บ่งบอกถึงพลังใจของผู้คนที่ร่วมกันเก็บขยะ เพราะอยากให้ทะเลสะอาดและสวยงาม ดีไซน์โดย ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่ดีไซเนอร์จากสเปน

แฟชั่นจากขยะพลาสติก เพื่อทะเลไทย

ดีไซน์ที่ 2 From Trash to Trashion แรงบันดาลใจจากการนำคำว่า “Trash” และ “Fashion” หรือขยะกับแฟชั่นมาผสานกันอย่างลงตัว

ดีไซน์ที่ 3 Trash to Treasure Designed by James Jirayu ดีไซน์ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลงานการออกแบบของพระเอกแห่งวงการรีไซเคิล จิรายุ ตั้งศรีสุข ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ From Trash to Treasure ผ่านการวาดลวดลายนาฬิกาทราย สะท้อนถึงการนำขยะพลาสติกมาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่เพิ่มมูลค่าอย่างลงตัว

พร้อมทั้งกระเป๋าเป้ 5 สีสันสดใส ซึ่งแต่ละใบทำจากขยะขวดพลาสติกใส จำนวน 14 ขวด พร้อมวางจำหน่ายเร็วๆ นี้ ที่ร้าน Ecotopia ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ร้านภัทรพัฒน์ สาขาสนามเสือป่า และทางเฟซบุ๊ก Upcycling the Oceans Thailand

นอกจากนี้ มีลิมิเต็ด เอดิชั่น กระเป๋าถือ ผลงานการออกแบบโดย จารุพัชร อาชวะสมิต ใช้เส้นใยที่ได้จากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน ผสานด้วยฝีมือการถักทอของคนในชุมชน จ.ระยอง โดยกระเป๋า 1 ใบทำมาจากถุงพลาสติกจำนวน 43 ใบ มีวางจำหน่ายเพียง 50 ใบ ในราคา 1,699 บาท ที่ร้านภัทรพัฒน์ สาขาสนามเสือป่า

แฟชั่นจากขยะพลาสติก เพื่อทะเลไทย

พระเอกนักสร้างสรรค์ เจมส์ จิรายุ ออกแบบเสื้อยืดดีไซน์ Trash to Treasure Designed by James Jirayu โดยกล่าวถึงไอเดียมาจากปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ใช้ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา จึงอยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม ในการสร้างสำนึกในการเก็บและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดการนำรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเป็นของชิ้นใหม่ที่มีคุณค่า

เจมส์ กล่าวถึงเสื้อยืด ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ Trash to Treasure เป็นเชิงสัญลักษณ์ผ่านด้านบนของนาฬิกาทราย สื่อโลกปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยขยะขวดพลาสติกและมลภาวะ

“ถ้าไม่ใส่ใจไม่เข้าไปศึกษาจริงจังก็จะไม่รู้ว่ามีปัญหา จนไปถึงส่วนข้างล่างของนาฬิกาทรายคือการหาทางออกของปัญหานี้ ถ้าเอาไปรีไซเคิล นำขยะขวดพลาสติกไปแปลงร่างเป็นสิ่งของที่มีคุณค่า โลกของเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น”