posttoday

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

14 พฤศจิกายน 2561

นอกจาก กฤษฎา มหาดำรงค์กุล จะนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทองพาณิชย์ ผู้นำเข้าและจำหน่ายนาฬิกาหลากหลายยี่ห้อ

เรื่อง วราภรณ์ ผูกพันธ์  ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

นอกจาก กฤษฎา มหาดำรงค์กุล จะนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทองพาณิชย์ ผู้นำเข้าและจำหน่ายนาฬิกาหลากหลายยี่ห้อ อาทิ Citizen, Luminox, Frederique Constant, Ball และ Bulova ฯลฯ แล้วเขายังเป็นกรรมการอีกหลายแห่ง เช่น กรรมการบริหารโรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ รัชดา และกรรมการบริหารเลอคองคอร์ด ทาวเวอร์ รวมทั้งดูแลทรัพย์สินในธุรกิจของตระกูลอีกหลายแห่ง

ล่าสุดเขากำลังเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงาน Citizen ฉลองครบรอบ 100 ปี ด้วยการจัดนิทรรศการนาฬิกาหาชมยาก พร้อมเปิดตัวรุ่น Limited Editionสำหรับครบรอบ 100 ปี ในประเทศไทย ณ ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม เพื่อร่วมฉลองในฐานะที่นาฬิกาแบรนด์แรกๆ ที่ศรีทองพาณิชย์นำเข้ามาจำหน่ายและอยู่คู่ศรีทองพาณิชย์เกือบ 60 ปี โดยใช้ชื่องานว่า “CITIZEN 100th Anniversary : Celebrating a Century of CITIZEN” จัดระหว่างวันนี้ถึงวันที่ 20 พ.ย.นี้

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

ค่าที่คุณพ่อ ดิลก มหาดำรงค์กุล เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทศรีทองพาณิชย์ตั้งแต่กฤษฎายังไม่เกิด เขาจึงผูกพันกับนาฬิกามาก โดยวิ่งเล่นอยู่ที่ร้านศรีทองพาณิชย์สาขาแรกตั้งอยู่บนถนนเยาวราช ทำให้กฤษฎาคุ้นเคยกับนาฬิกามาตั้งแต่เด็กๆ และความชื่นชอบนาฬิกาซึมซับมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นของสะสมนาฬิกาที่หายากมานานกว่า 40 ปี

ขณะที่คุณพ่อของกฤษฎาก็ชื่นชอบนาฬิกาและสะสมนาฬิกาด้วยเหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนาฬิกากันบ่อยๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานฉลองซิติเซน ครบรอบ 100 ปี จะมีทั้งนาฬิกาที่เป็นของเก็บสะสมของทั้งดิลกและกฤษฎาไปโชว์ในงานด้วย ซึ่งล้วนเป็นรุ่นที่หายาก อาทิ ฉลามขาว ออกวางตลาดเมื่อปี 1974 เป็นนาฬิกาข้อมือที่ถูกออกแบบมาโดยใช้วัสดุหินเรืองแสง เพื่อเป็นหน้าปัดของนาฬิกา ตัวเรือนผลิตจากวัสดุเซรามิกสีขาว ด้วยรูปลักษณ์ของนาฬิกาที่ดูทันสมัย จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น ฉลามขาวอันโด่งดังของเมืองไทย

ในยุคสมัยนั้นการใช้วัสดุเซรามิก ถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการนาฬิกาข้อมือเป็นอย่างมาก หรือนาฬิกา Citizen รุ่นมดแดง ออกวางตลาดเมื่อปี 1970 เป็นนาฬิกา Chronograph ระบบ Automatic ซึ่งถือเป็นนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นจับเวลารุ่นแรกๆ ของโลก ได้รับความนิยมจากแฟนซิติเซนด้วยรูปลักษณ์ที่ดูโดดเด่น จึงเป็นที่สนใจของทั้งผู้ใช้งานนาฬิกาและนักสะสมเป็นอย่างมากถือเป็นหนึ่งในตำนานของแบรนด์ Citizen อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการนำนาฬิกาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นาฬิกา Citizen ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นยกมาโชว์ในงานมากกว่า 20 เรือนที่ประเมินค่ามิได้ เช่น นาฬิกา Citizen Pocket Watch นาฬิกา Citizen
เรือนแรกของโลก (ปี 1924) ต้นตำรับของความแม่นยำเที่ยงตรง นาฬิกา Citizen Crystron Mega (ปี 1975) นาฬิกาเรือนแรกของโลกที่ให้ความแม่นยำ เป็นต้น

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

ศรีทองพาณิชย์ยังเอาใจแฟน Citizen ชาวไทยได้เก็บสะสม โดยการเปิดตัวคอลเลกชั่นพิเศษครบรอบ 100 ปี Limited Edition 1 ศตวรรษ จำนวน 3 รุ่น Citizen Promaster Diver 200m นาฬิกาสำหรับนักกีฬามืออาชีพทั่วโลก นาฬิกา Citizen Promaster Dark Raider หรือ Bull Head รุ่นยอดฮิตในอดีตที่คนไทยนิยมเรียกติดปากว่า “มดแดง” เนื่องจากการออกแบบเป็นพิเศษ โดยการนำเม็ดมะยมและปุ่มจับเวลาขึ้นมาอยู่ด้านบนสุดของนาฬิกา เป็นต้น

“เราเป็นตัวแทนจำหน่ายซิติเซนในประเทศไทยมา 54 ปีแล้ว ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ถือเป็นยุครุ่งเรืองของนาฬิกาย่านเยาวราช มีร้านจำหน่ายนาฬิกาเยอะมากในเยาวราช ผมเป็นลูกคนที่ 7 ของครอบครัว ซึ่งยุคที่คุณพ่อเปิดร้านจำหน่ายนาฬิกาพวกเราเด็กหมด ผมก็ได้ไปวิ่งเล่น ด้วยความเป็นเด็กก็อยากได้เรือนนั้นเรือนนี้ พอโตอยู่ชั้นประถม 4 ซึ่งยุคนั้นนาฬิกาคือของมีราคา คนมีฐานะเท่านั้นจึงจะใส่นาฬิกา นาฬิกาจึงเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ พอประถม 4 เริ่มรู้ความผมอยากได้นาฬิกาจับเวลา คุณแม่ก็แอบซื้อให้ เรือนแรกคือซิติเซน หน้าปัดสีเขียว ตอนหลังพอผมเรียนไฮสกูลผมยกนาฬิกาเรือนนี้ให้คุณน้า ปัจจุบันคุณน้ายังใช้อยู่ เพราะคงทนมากๆ ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะมีราคา ที่ให้คุณน้าเพราะผมอยากได้รุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นนาฬิกาควอตซ์ซึ่งแตกต่างจากนาฬิกายุคแรกๆ คือยุคไขลาน”

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

แรงบันดาลใจที่ทำให้กฤษฎาเริ่มสะสมนาฬิกาอย่างจริงจัง คือการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับทั้งคุณพ่อและคุณลุงจนเห็นคุณค่าของนาฬิกาที่มีกลไกอันทันสมัยจนเขารู้สึกทึ่ง

“พอถึงปลายยุค 60 ถึงยุค 70 ซิติเซนได้เปลี่ยนรูปแบบผลิตนาฬิกาจับเวลารุ่นมดแดง ซึ่งเป็นรุ่นที่คุณพ่อของผมตั้งชื่อให้รุ่นว่ามดแดงและใช้ชื่อนี้กันในเมืองไทย เพราะลักษณะเป็นหน้าไอ้มดแดงมีปุ่มกดด้านบนสองข้าง ซึ่งคุณพ่อเป็นผู้ให้คำแนะนำกับบริษัทโฆษณว่า เรียกรุ่นนี้ว่า ไอ้มดแดงสิ คุณพ่อตั้งชื่อก่อนที่จะมีการ์ตูนไอ้มดแดงของญี่ปุ่นเสียอีก ซึ่งรุ่นนี้ที่เมืองนอกเรียกว่ารุ่น หัววัวกระทิง ในยุคนั้นคนนิยมนาฬิกามดแดงกันมาก เพราะเป็นชื่อที่คนไทยจำได้ง่าย ต่อมาคุณพ่อทำโฆษณาออกมาอีกหลายรุ่น เช่น สิงห์ดำ เพราะยุคนั้น ประเทศไทยส่งทหารไปรบในเวียดนาม เกิดคำว่า กองพลสิงห์ดำขึ้น รูปลักษณ์ตัวเรือคือเป็นสีดำทั้งหน้าปัดและสายก็ดำ”

อย่างนาฬิกาที่กฤษฎาสวมใส่อยู่ที่ข้อมือ เป็นเรือนที่เขาเฟ้นหาและได้เป็นเจ้าของเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นนาฬิกาที่เกิดในยุค 60 ในยุคที่นิยมการแข่งรถกันมาก สิ่งที่เขาประทับใจในการนาฬิกาเรือนนี้คือ ตัวเรือนออกแบบในยุคซิกตี้ อีกทั้งมีตัวเรือนเป็นสีเทาด้านผ่านการอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้น บนหน้าปัดเป็นลายไม้ของรถแข่งอัลฟาโรมิโอ ซึ่งเป็นรถสปอร์ตในยุคซิกซ์ตี้ รูปลักษณ์บ่งบอกความสปอร์ต

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

“การสะสมนาฬิกาทั่วๆ ไปของผมมีหลายประเภท ผมประทับใจนาฬิกาที่มีรูปร่าง เครื่องกลจักรภายในของเขามีความพิเศษโดดเด่น ประณีต เพราะเราอยู่วงการนี้ ผมจะชอบนาฬิกาในการประดิษฐ์ รูปแบบสวยงาม ต้องมีรูปแบบแปลกๆ ผมจึงเก็บ ผมเป็นนักสะสมนาฬิกาจริงจังหลังเรียนจบปริญญาตรีตอนอายุ 22 หลังกลับมาจากอเมริกาจำได้ว่าคุณพ่อนำนาฬิกาที่อยู่ในเรือสำเภาโบราณซึ่งเป็นของรักของท่านไปโชว์ในงานนาฬิกาที่จัดขึ้นที่โรงแรมมณเฑียร ผมไปร่วมงานก็ได้เห็นนาฬิกาของรักของหวงของคนดังๆ ที่ชอบนาฬิกา เห็นแล้วผมรู้สึกทึ่ง ได้เห็นทั้งนาฬิกาของคุณพ่อซึ่งคุณพ่อเป็นช่างซ่อมนาฬิกามาก่อน นาฬิกาที่คุณพ่อนำไปโชว์เป็นนาฬิกาที่อยู่ในเรือมีความเที่ยงตรงมาก อายุนับ 100 ปี ผมเลยได้แรงบันดาลใจจากแค่ได้ชมงาน ผมเริ่มสนใจ เริ่มถามช่าง ศึกษาหาความรู้มาเรื่อยๆ ผมจะมีช่างซ่อมนาฬิกาคู่ใจ เวลาไปชมนาฬิกาที่นักสะสมจะนำมาปล่อยในร้านกาแฟวันนี้ๆ ผมจะพาช่างซ่อมนาฬิกาคู่ใจของผมไปช่วยดูด้วย หรือไม่เสาะแสวงหาตามโรงรับจำนำบ้าง”

การได้คุยกับช่างซ่อมนาฬิกา คุณพ่อและคุณลุงที่ชื่นชอบนาฬิกาเหมือนๆกัน ได้บอกเล่าผ่านประสบการณ์ของพวกเขา ทำให้กฤษฎาได้เห็นถึง เมื่อเวลาผ่านไปของเหล่านี้ที่ไม่มีคนสนใจในอดีตจะกลายเป็นของมีค่ากับผู้ที่เห็นค่าของนาฬิกาเหล่านั้

“ตอนผมเริ่มทำงานใหม่ๆ บางคนจะนำเงินไปลงทุนในที่ดิน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากสำหรับผม เพราะเงินเดือนก้อนแรก 1 หมื่นบาทเท่านั้น ผมก็เลยสะสมนาฬิกา เช่น แบรนด์ซิติเซน ซึ่งการเสาะแสวงหารุ่นคลาสสิกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนาฬิกาเป็นของแพง มีราคา คนที่ใช้ก็ผูกอยู่ที่ข้อมือจึงไม่ขาย หรือยอมขายก็โทรมมาก ซึ่งผมชอบสะสมนาฬิกาที่มีความสมบูรณ์ เครื่องดี เครื่องสวยเท่านั้น เพราะหลักข้อหนึ่งที่กฤษฎาเน้นย้ำในการเก็บสะสมนาฬิกาคือ นาฬิกาไม่สวยไม่เก็บ”

อย่างนาฬิกาอีก 1 เรือนที่กฤษฎารักมากๆ คือ นาฬิการะบบกลไก อายุนับ 100 ปี มีตัวเลขโชว์วัน เดือน สัปดาห์ วันที่ แบรนด์นำเข้าจากประเทศอังกฤษเป็นนาฬิกาเรือนที่คลาสสิกมากๆ ซึ่งกว่าจะได้นาฬิกาเรือนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องเล่าขานจำได้แม่นยำคือ มีช่างซ่อมนาฬิกาอยู่ต่างจังหวัดที่เขาสนิทโทรมาเล่าว่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง มีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่งจะนำมาซ่อม ก็ถามว่ากฤษฎาสนใจไหม แต่เจ้าของอยู่ จ.ลพบุรี พอกฤษฎาได้ฟังก็ตื่นเต้นรีบรวบรวมเงินและขับไปหาข้าราชการท่านนี้ที่ จ.ลพบุรี อย่างรวดเร็ว แล้วก็ได้
ครอบครองมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วซื้อมาในราคา 5,000 บาท ปัจจุบันประเมินค่ามิได้ นาฬิกาเรือนโปรดนี้มีความงามตรงตัวเรือนเป็นเงิน กฤษฎาคาดเดาจากประสบการณ์ว่า นาฬิกาเรือนนี้น่าจะเป็นมรดกตกทอดมารุ่นสู่รุ่นจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือไม่ก็นายทหารสายโซ่ที่คล้องยังเป็นโซ่เส้นเดิม เรือนนี้จึงมีเรื่องเล่า เพราะต้องใช้ความพยายามและความตื่นเต้นกว่าจะได้มา และเขาเก็บรักษาเป็นอย่างดี

ความงามของนาฬิกาคืองานศิลปะ กฤษฎา มหาดำรงค์กุล

“ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นาฬิการุ่นคลาสสิกในอดีตมักผลิตน้อย เพราะทุกอย่างล้วนทำมือ และมีเครื่องจักรที่ผลิตมีจำกัด จึงผลิตได้น้อยชิ้น บางรุ่นผลิตแค่ 500 เรือน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน เช่น นาฬิการุ่นหายากที่ผมมีคือ ยูนิเวอร์แซล รุ่น Tri-Compax ซึ่งคุณพ่อกับคุณลุงแนะนำว่ารุ่นนี้หายาก ผมก็ไปเสาะแสวงหามาจนได้ราคาเรือนนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้วซื้อขายอยู่ที่ 3.5 หมื่นบาท ปัจจุบันราคาขยับมาที่ 2 ล้านแล้ว หรืออย่างซิติเซน มดแดง โคโนกราฟผมก็ชอบ”

หากถามถึงความสุขจากการเก็บนาฬิกา กฤษฎา กล่าวว่า นาฬิกาแต่ละเรือนล้วนเป็นความทรงจำที่ดีของเขา ส่วนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี สำหรับเขาถือเป็นความสนุกที่นาฬิกาเหล่านี้ได้อยู่กับเขาในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต ได้หยิบได้ชื่มชมได้สวมใส่ บางเรือนจำเป็นต้องจำหน่ายออกไปบ้างเพราะปัจจุบันยังซื้อเก็บอยู่ บางเรือนจำหน่ายออกไปแล้วก็ยังอยากจะซื้อกลับมาครอบครอง ที่สำคัญคือมีเรื่องราวบอกเล่าให้ลูกชายฟัง

“ความสุขในการสะสมผมมองว่า รูปแบบนาฬิกาที่เราสะสมไว้ เหมือนเราคัดเลือกงานศิลปะ ไม่ว่าศิลปะรูปร่างหน้าตาหรือกลไกของเขาเป็นหลัก เพราะเราฟังแต่ละยุคแต่ละสมัย คนออกแบบไม่ง่ายที่จะออกแบบนาฬิกาแต่ละรุ่นออกมา ผมมองเป็นงานศิลปะและมันก็เป็นอาชีพของเราครับ”