posttoday

ศรีสะเกษ โมเดล พัฒนาสู่ความยั่งยืนศรีสะเกษ

13 พฤศจิกายน 2561

เคยเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ แต่วันนี้รายได้ต่อหัวประชากรขยับขึ้นมา

โดย...วราภรณ์

เคยเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ แต่วันนี้รายได้ต่อหัวประชากรขยับขึ้นมา เนื่องจากมีการค้าการลงทุนพาเหรดเข้ามามากมายทั้งกลุ่มโมเดิร์นเทรด และอานิสงส์จากจังหวัดรอบข้างที่เติบโต ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐเตรียมพัฒนาให้ จ.ศรีสะเกษ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ครบทุกด้าน เพราะมีเสน่ห์ทั้งทางประวัติศาสตร์ เช่น ปราสาทต่างๆ ร่องรอยอารยศิลปะขอม วัฒนธรรมประเพณีที่นี่เป็นศูนย์รวมของ 4 ชนเผ่าที่ตั้งรกรากมาช้านาน มีการพัฒนาด้านการเกษตร เช่น สวนหอม สวนกระเทียม สวนทุเรียนอันเลื่องชื่อ นาข้าวที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จ.ศรีสะเกษ จะเป็นแหล่งผลิตผลไม้รสชาติดีแห่งดินแดนอีสานใต้

ด้วยคุณภาพดินที่ดีมีความอุดมสมบูรณ์ อากาศที่เหมาะสม ทำให้รสชาติทุเรียนของ จ.ศรีสะเกษ มีความมัน ไม่หวานมาก เปลือกบางสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกและภาคใต้ประมาณ 30% โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อไม่อั้นถึงหน้าสวน และนำไปส่งออกต่อไป

ศรีสะเกษ โมเดล พัฒนาสู่ความยั่งยืนศรีสะเกษ

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสีนิลชั้นเยี่ยม ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อให้ประชากรชาวเมืองศรีลำดวนทุกคนหลุดพ้นจากความยากจน ที่ในอดีตเคยได้รับการจัดอันดับเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันเมืองศรีสะเกษมีการสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นแรงขับเคลื่อนให้สามารถปลดล็อกจากเมืองยากจนที่สุดของประเทศได้แล้ว

“อาเซียน คอนเนกต์”

กระชับสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

หลังจาก จ.ศรีสะเกษ รับนโยบายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสานต่อนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและหนังสือภาพ 100 ภาพ 1,000 เรื่องเมืองศรีสะเกษ เพื่อเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวอันซีน จนได้รับผลตอบรับดีเกินคาด สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษเตรียมขยายผลการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น

ล่าสุด สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ จัดงาน Asean Connect เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ รณิดา เหลืองฐิติสกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ภายในงานได้เชิญบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ตัวแทนบริษัททัวร์ท่องเที่ยว ฯลฯ จากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา 90 คน เพื่อประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใน “อันซีน-ไทยเท่” ทั้งหลาย นับเป็นการเปิดเมืองครั้งแรกในรอบหลายปี

ศรีสะเกษ โมเดล พัฒนาสู่ความยั่งยืนศรีสะเกษ

“งาน Asean Connect จัดขึ้นมาเพื่อสานสัมพันธ์เขตชายแดนลุ่มแม่น้ำมูล เพราะเขตจังหวัดเราติดกับกัมพูชา และนับวันจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ เป็นย่านการค้าที่คึกคัก โดยพิกัดถือว่ามีศักยภาพมาก มีโอกาสในการเติบโตหลายๆ ด้าน นอกจากผู้คนในพื้นที่ที่ข้ามฝั่งสัญจรแล้ว การเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยว มีคนนอกเข้ามาใช้จ่าย ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน คุณภาพชีวิตดีขึ้น จังหวัดก็พัฒนาไปได้รุดหน้ารวดเร็ว โอกาสนี้จึงมีการจัดงานคล้ายๆ ให้เป็นต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวจังหวัด ทริปเบิกฤกษ์ เชิญบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ตัวแทนบริษัททัวร์ท่องเที่ยว ฯลฯ จากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาร่วมงาน สื่อมวลชนทั่วประเทศเข้าร่วมงาน พร้อมจัดโปรแกรมแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในอันซีน-ไทยเท่ทั้งหลาย ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ นับเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ รวมถึงในภาพใหญ่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เป็นการเปิดศักราชใหม่ที่แสดงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นกรีนซิตี้และเมืองน่าท่องเที่ยวอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งฟีดแบ็กจากนักท่องเที่ยวกัมพูชา 90 คนที่มาครั้งนี้ เขาอยากเข้ามาทัศนศึกษาดูงานในประเทศไทยอยู่แล้ว สืบเนื่องจากเขาเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วทาง จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันถือว่าพัฒนาไปมาก เฉพาะพืชผลในจังหวัดนอกจากหอม กระเทียม ฯลฯ ยังมีอีกมากมายที่ปลูกได้ผลดี

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าโอท็อปที่เป็นรูปธรรม การตอบรับครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างดี รวดเร็ว สัมฤทธิ์ อีกทั้งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวกัมพูชาชอบจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเราชาวพุทธ อาทิ วัดพระธาตุ กราบนมัสการหลวงปู่สรวง ฯลฯ เป็นต้น”

แหล่งอารยธรรม 1,500 ปี

นอกจากตลาดวัฒนธรรม วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ บ้านหว้าน (มีทุกเช้าวันอาทิตย์) หมู่นักท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม ร่วมฟังเทศน์ฟังธรรม ตักบาตรข้าวเหนียว ชม ชิม ซื้อ ในตลาดวัฒนธรรมโบราณ ตลาดประชารัฐ จะเห็นชาวบ้านแต่งกายแบบท้องถิ่นงดงาม รณิดา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีความพิเศษอยู่ตรงทิศใต้อาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา จ.ศรีสะเกษ จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ล่าสุดมีแหล่งท่องเที่ยวการเกษตร ซึ่งผลไม้ของ จ.ศรีสะเกษ มาจากดินแดงภูเขาไฟ เต็มไปด้วยแร่ธาตุกำมะถัน จึงทำให้ผลไม้มีรสชาติดี น่าลิ้มลอง รวมถึงผู้คนน่ารัก

“หนึ่งในสิ่งที่พวกเราชาวศรีนครลำดวนภูมิใจ คือ บ้านของเรามีหลักฐานตั้งถิ่นอาศัยมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ก่อนจะมีการใช้ตัวอักษรหรือภาษาเขียนจารึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เสียอีก ยังปรากฏร่องรอยชุมชนยุคเหล็ก ชุมชนโบราณในเขต อ.ราษีไศล ก็ปรากฏหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้รับการฝังพร้อมวัตถุอุทิศที่ทำด้วยเหล็ก ภาชนะดินเผา สมัยต่อมาสัก 1,400-1,200 ปี มีพัฒนาการจารึกตัวอักษร ภาษาเขียน การวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการขุดคูน้ำและคันดินล้อมรอบเมืองเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ยังมีหลักฐานอยู่ในเขต อ.ราษีไศล และเมืองโบราณโคกขัณฑ์ในตัว อ.ขุขันธ์ จนถึงปัจจุบัน มีปราสาทเยอที่น่าสนใจ”

ศรีสะเกษ โมเดล พัฒนาสู่ความยั่งยืนศรีสะเกษ

สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นหลังเปิดเมือง และพัฒนาเมืองหลังตัวจังหวัดทำในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น เชิญระดับผู้บริหารจังหวัดเข้ามาถึง 3 แห่ง รวมถึงคณะ ทำให้ชาวกัมพูชา สนใจ รู้จัก จ.ศรีสะเกษ มากขึ้น รณิดา กล่าวว่า จากเดิมที่เข้ามาอยู่แล้ว อาจจะมาใช้บริการโรงพยาบาล หรือช็อปปิ้ง บิ๊กซี โลตัสฯ อาจจะเผื่อเวลามาสำหรับการท่องเที่ยวด้วยเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว คือ ทุกอย่างต้องค่อยๆ สร้าง ถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติมีความคุ้นเคยกับเมืองแล้ว และตัวเมืองสามารถตอบโจทย์ที่พวกเขาต้องการได้

นอกจากท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมแล้ว เกษตรกรรมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ จ.ศรีสะเกษ ถือว่าก้าวกระโดดมากในด้านการผลิต แต่ละชุมชนก็จะมีความโดดเด่นคนละแบบ มีซิกซ์เนเจอร์ของแต่ละที่ ตรงนี้เขาประทับใจมาก

ไปศรีสะเกษห้ามพลาดไปเยือน

หากใครมีโอกาสไปเยือน จ.ศรีสะเกษ แล้ว อย่าพลาดไปเยือน ได้แก่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ก่อสร้างกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พระครูสมุห์บุญเชิด รตนเมธี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสระกำแพงใหญ่ เล่าประวัติโบราณสถานอันเก่าแก่นับ 1,500 ปี ว่า มีความเป็นมา 2 ช่วง คือ ยุคประวัติศาสตร์ขอม ที่นี่เป็นที่ตั้งของปราสาทสระกำแพงใหญ่ สร้างในยุคพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 กษัตริย์ขอมราว พ.ศ. 1585 เริ่มสร้างแห่งนี้เพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ฮินดู พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ทรงนับถือไสวนิกาย เป็นนิกายหนึ่งของพราหมณ์ที่สร้างเทวาลัยเพื่อบูชาพระศิวเทพ แม้สิ้นพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 เทวาลัยแห่งนี้ก็สร้างต่อมาเรื่อยๆ จนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เทวาลัยที่เคยเป็นที่บวงสรวงศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็เปลี่ยนเป็นวัด รูปเคารพก็ต้องเปลี่ยนจากศิวลึงค์ พระตรีมูรติ เป็นการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกแกะด้วยศิลาทรายขึ้นมาทดแทน และเป็นพระประธานประจำ

พอสิ้นรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมองค์ต่อมากลับไปนับถือพราหมณ์อีกครั้ง แล้วทรงให้นำพระพุทธรูปนาคปรกที่อยู่ทุกเทวาลัยทั่วราชอาณาจักรลงฝังดินหรือทุบทำลาย พระพุทธรูปนาคปรกองค์ประธานของปราสาทสระกำแพงใหญ่ จึงถูกนำลงจากองค์ปราสาทและนำฝังดินไว้กลางปราสาท หลังจากนั้นขอมเสื่อมอำนาจลงในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเทวาลัยปราสาทกำแพงใหญ่ก่อสร้างโดยการนำหินทรายจากปราสาทเขาพระวิหารลำเลียงมาสร้างระยะนับ 100 กิโลเมตร และแกะสลักขึ้นรูปที่แห่งนี้

ราว พ.ศ. 1750 พระพุทธรูปนาคปรกยังถูกฝังดิน และรกร้างถูกดินทับท่วมเทวาลัยเห็นแค่ตัวยอดปราสาท จนถึง พ.ศ. 2368 มีพระธุดงค์มาจากฝั่งลาว 1 รูป พร้อมญาติโยมอีก 3 คน แล้วมาเจอยอดปราสาทหลังนี้ พระรูปนั้นจึงปักกลดและสร้างกระท่อมอยู่ทางทิศเหนือของปราสาท และมีชาวบ้านเผ่าส่วยอพยพเพิ่มมาเรื่อยๆ และตั้งเป็นเมืองอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2386 ในขณะที่พระพุทธรูปนาคปรกยังฝังอยู่ใต้ดิน จนกระทั่งถึงเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 คือ หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท เจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ รูปที่ 7 เป็นเจ้าอาวาสราว พ.ศ. 2490 ฝันเห็นพระพุทธรูปนาคปรกศิลาทรายเขียวอายุ 1,500 ปี ทั้งองค์ที่ฝังอยู่ใต้ดิน จึงขุดขึ้นมาบูชาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนสามารถไปสักการะได้ที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินมาที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2533 ทอดพระเนตรอักขระขอมเขียนไว้ว่า ปราสาทสระกำแพงใหญ่มีพิธีเฉลิมฉลองในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เรียกวันวิศุวสงกรานต์ คือวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน และเมื่อทอดพระเนตรเทวาลัยอันมีประวัติเก่าแก่โบราณ ทรงรับสั่งว่า หากใครมาปราสาทสระกำแพงใหญ่แล้วไม่เห็น “ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” ของปราสาทปรางค์ประธานที่ใหญ่ที่สุด อยู่เหนือประตูของปราสาทกำแพงใหญ่ แสดงว่ามาไม่ถึง

ศรีสะเกษ โมเดล พัฒนาสู่ความยั่งยืนศรีสะเกษ

“เป็นภาพพระอินทร์มีช้างเป็นพาหนะและพระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่รักษาอยู่ทิศตะวันออก หากเห็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณให้รู้ว่าฝั่งนั้นเป็นฝั่งตะวันออก เป็นภาพที่มีความชัดและลึกมาก แต่ใบหน้าหายไปอายุราว 1,000 ปี แกะสลักได้สวยงาม”

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ “ผามออีแดง” ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นหน้าผาสูงชันกั้นเขตแดนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ตลอดแนวผามออีแดงมีระยะประมาณ 300 เมตร ยามเช้าสามารถมองเห็นทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นในพื้นที่ 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และลาว ถือเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของแผ่นดินประเทศกัมพูชาที่อยู่ต่ำลงไปอย่างเป็นมุมกว้าง

ในช่วงเช้า ณ ผามออีแดงนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสไอหมอกจากหุบเขาฝั่งประเทศกัมพูชา และสัมผัสความเป็นธรรมชาติของบนหน้าผาหินสีแดง เขตรอยต่อชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา นับว่าเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามและตระการตาแห่งหนึ่งของภาคอีสาน

นอกจากนี้ ผามออีแดงด้านล่างมีศิลปะนูนต่ำเป็นภาพคน 3 คน ในเครื่องแต่งกายแบบชาวกัมพูชา สร้างขึ้นก่อนปราสาทเขาพระวิหาร ราวกลางศตวรรษที่ 11 อายุประมาณ 1,500 ปี มีโบราณวัตถุ (พระพุทธรูปนาคปรก) บริเวณจุดสูงสุดของผามออีแดงสามารถมองเห็นทัศนียภาพของปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างชัดเจน